“ตรีนุช”เปิดเวทีแจงภารกิจ 558 สถานีแก้หนี้ครู 1.4 ล้านล้านบาท 

09 มี.ค. 2565 | 12:27 น.

“ตรีนุช” เรียกประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา แจงภารกิจ 558 สถานีแก้หนี้ ที่ครูมีหนี้สินรวมกว่า 1.4 ล้านล้านบาท กำชับอนุมัติเงินกู้อย่างเคร่งครัด หลังหักหนี้ครูต้องมีใช้จ่าย 30% ของเงินเดือน

วันนี้ (9 มี.ค.65) ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษาระดับจังหวัด ผ่านระบบ VIDEO ZOOM MEETING ซึ่งมีผู้บริหาร ศธ. ผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมสหกรณ์ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู รองผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วม 

 

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวเปิดการประชุมฯ ตอนหนึ่งว่า ภายใต้นโยบายการบริหารประเทศของ พล.อ.เอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความมุ่งมั่น ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดี  โดยประกาศให้ปี 2565 เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” ซึ่งครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นประชาชนกลุ่มหนึ่งที่มีจำนวนกว่า 9 แสนคน มีหนี้สินรวมกว่า 1.4 ล้านล้านบาท 

โดย ศธ.ได้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาในระดับกระทรวงขึ้น เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมีนายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศธ.เป็นประธาน และวันนี้ก็สามารถเสนอการแก้ไขปัญหาให้ประจักษ์เป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน

 

รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า แนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ นั้น ต้องการลดภาระหนี้โดยรวมของครูให้น้อยลง ให้ครูมีรายได้ต่อเดือนเหลือไม่น้อยกว่า 30% ของเงินเดือน โดยได้กำหนดแนวทางขับเคลื่อนในเฟสแรก เป็น 4 มาตรการ ดังนี้

มาตรการที่ 1. ลดดอกเบี้ย โดยเปิดโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ครูรายใหญ่เข้าร่วม ขณะนี้มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 70 แห่ง จากทั้งหมด 108 แห่ง เข้าร่วมปรับอัตราดอกเบี้ยแล้ว โดยจะปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงตั้งแต่ 0.05-1.0% และพบว่ามีสหกรณ์ 11 แห่ง สามารถปรับลดดอกเบี้ยให้ลงเหลือต่ำกว่า 5% 


โดยมีครูที่ได้รับประโยชน์ทันทีกว่า 460,000 คน และจะเร่งขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศในเฟสถัดไป ซึ่งครูมีหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1,000,000 บาท หากอัตราดอกเบี้ยลดลง 1% จะทำให้ครูมีเงินไว้ใช้จ่ายต่อปีเพิ่มขึ้นถึง 10,000 บาท 

                                        ตรีนุช เทียนทอง

ขณะเดียวกันนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน จะเป็นคนกลางในการประสานขอความร่วมมือกับธนาคารออมสิน เพื่อชะลอการดำเนินคดีทางกฎหมายกับกลุ่มครู ซึ่งคาดว่ามีครูได้รับประโยชน์กว่า 25,000 คน 


มาตรการที่ 2. พิจารณาและควบคุมการอนุมัติเงินกู้อย่างเคร่งครัด โดยยอดหนี้รวมทั้งหมดของผู้กู้ต้องไม่ให้มากเกินกว่า 70% ของรายได้ เพื่อให้ครูสามารถมีเงินใช้จ่ายได้ 30% ของเงินเดือน ซึ่งเนื่องจากครูมีหนี้หลายด้าน ระบบการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ยังไม่เป็นระบบที่เชื่อมโยง 


ศธ.จึงร่วมมือกับบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ในการสร้างระบบและเชื่อมโยงหนี้รายบุคคล เพื่อให้ทราบข้อมูลหนี้ครูรายคนสำหรับการบริหารจัดการและไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อน โดยทางเครดิตบูโรสนับสนุนให้ ศธ. ใช้ระบบได้ฟรี ไม่คิดใช้จ่าย หากตรวจพบว่าครูที่ต้องการกู้เงินเพิ่มเติม มีหนี้รวมมากกว่า 70% จะไม่ได้รับการอนุมัติให้กู้เพิ่ม


มาตรการที่ 3. จัดตั้งสถานีแก้หนี้ครูฯ ระดับเขตพื้นที่การศึกษาและหน่วยงานทางการศึกษา และระดับจังหวัด 77 จังหวัด รวม 558 สถานีทั่วประเทศ โดยดำเนินการในรูปคณะกรรมการ ซึ่งระดับเขตพื้นที่ฯกำหนดให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) หรือ หัวหน้าหน่วยงานทางการศึกษา เป็นประธาน 


มีอำนาจหน้าที่กำหนดแนวทางแก้หนี้ร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ส่วนราชการ และสถาบันการเงิน ,จัดทำระบบข้อมูล, ปรับปรุง กำหนดมาตรการหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ , รับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้กับครูและผู้ค้ำประกัน 


ส่วนสถานีแก้หนี้ครูระดับจังหวัด จะมีผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ รองผู้ว่าฯ เป็นประธาน กำกับดูแลในภาพรวมของจังหวัด บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นภายในจังหวัด ช่วยเหลือสถานีแก้หนี้ตามที่ได้รับการร้องขอ 

                                      ประชุมแก้หนี้ครู
และ มาตรการที่ 4. ให้ความรู้ด้านการเงินให้ครูฯ โดยประสานงานกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ครูสามารถวางแผนการเงิน และมีระเบียบวินัยในการใช้จ่ายได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น


“ นับตั้งแต่ ศธ.ได้เปิดให้ครูมาลงทะเบียนแก้ปัญหาหนี้สิน เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้มีครูมาลงทะเบียนแล้ว 27,427 ราย ซึ่ง ศธ.จะส่งต่อให้เขตพื้นที่ฯ เร่งดำเนินการช่วยเหลือ ขณะเดียวกัน ศธ.จะเดินหน้าหาแนวทางแก้ไขที่หลากหลาย รวมถึงดำเนินการเกี่ยวกฎ ระเบียบต่าง ๆ เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดและแบ่งเบาการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูต่อไป ซึ่งดิฉันยินดีรับฟังข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากทุกคน 


และในนามของรัฐบาลขอขอบคุณทุกภาคส่วน ที่ร่วมมือกันขับเคลื่อนโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เพื่อร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตเพื่อนครูด้วยกัน และช่วยลดความกังวล ซึ่งจะส่งผลให้ครูฯ สามาถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มีความสุข พัฒนาห้องเรียนให้มีคุณภาพ และสร้างคุณภาพของนักเรียนและเยาวชนของประเทศให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพมากขึ้นไปด้วย” นางสาวตรีนุช กล่าว