วิกฤตยูเครน ไม่กระทบลงทุนอีอีซี ดันไฮสปีด-อู่ตะเภาตามแผน

09 มี.ค. 2565 | 07:42 น.

บอร์ดอีอีซี พิจารณาผลกระทบจากวิกฤตยูเครน รับยังไม่กระทบการลงทุนในพื้นที่ “บิ๊กตู่” สั่งทุกโครงการที่ตกลงไปแล้วเดินหน้าต่ออย่ากลับไปกลับมา โดยไฮสปีดเทรน สนามบินอู่ตะเภา ตอนนี้กำลังเข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้างแล้ว

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กพอ. ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า วิกฤตยูเครน และรัสเซีย ที่เกิดขึ้นยังไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนภายในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยโครงการลงทุนต่าง ๆ ที่ได้ทำเอาไว้เดิมก็ยังคงเดินต่อ

 

“การลงทุนในประเทศไทยยังไม่มีคนถอยเรื่องนี้มากเท่าไหร่ และเท่าที่ดูเรื่องของการลงทุนเทคโนโลยีทั้ง 5G หรือ EV ทุกคนยังเดินตามแผนอยู่ ยังไม่ค่อยมีผลกระทบ แต่ถ้ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกแรง ๆ เช่น ถ้าราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นมาจนกระทบกับเศรษฐกิจโลกตอนนั้นก็คงกระทบกับอีอีซีได้ แต่ต้องรอประเมินสถานการณ์สัก 1 เดือนก็น่าจะเห็นผล”

 

นายคณิศ กล่าวว่า สำนักงานฯ จะมีการติดตามสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด โดยจะมีการประเมินตัวเลขต่าง ๆ อีกครั้ง ซึ่งเบื้องต้นยังคงเป้าหมายการลงทุนภายในพื้นที่อีอีซีไว้เหมือนเดิมคือ มีการลงทุนเฉลี่ยประมาณปีละ 4 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งดิจิทัล และ EV เป็นหลัก

 

ส่วนในด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่ผ่านมายอมรับว่า โชคดีที่ได้มีการลงนามในสัญญากับเอกชนภายใต้โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ไปแล้ว 4 โครงการ ซึ่งนายกรัฐมนตรี สั่งการในที่ประชุมว่า ทุกโครงการมีความสำคัญ และเมื่อทำการตกลงไปแล้วก็ให้ดูแลให้ดี เพื่อให้โครงการเดินต่อไปข้างหน้าได้ โดยไม่เดินกลับไปกลับมา 

“นายกฯ ได้ให้แนวทางเอาไว้ว่า เมื่อประเทศไทยตกลงทำโครงการอะไรไปแล้ว มักจะมีปัญหาตรงที่ตกลงแล้วทำไม่ได้ จึงขอให้โครงการที่ตกลงกันไปเสร็จแล้ว ต้องเดินหน้าให้ได้ โดยถูกต้องตามกฎหมาย โปร่งใส และเป็นธรรมต่อคู่สัญญา รวมทั้งเป็นประโยชน์กับประเทศ”

 

ทั้งนี้ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการอีอีซี โดยที่ผ่านมานายกฯ ได้เดินทางไปเปิดโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 แล้ว ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มขั้นตอนการก่อสร้างแล้ว ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ตอนนี้กำลังเข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้างเช่นกัน

 

โดยในส่วนของรถไฟความเร็วสูงนั้น ปัจจุบันเหลือเรื่องการส่งมอบพื้นที่อีกเพียงแค่ 1% เท่านั้น และน่าจะเริ่มเข้าพื้นที่ได้โดยเร็ว ส่วนสนามบินอู่ตะเภา ขณะนี้รายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ได้ผ่านการเห็นชอบแล้ว และจะเริ่มขั้นตอนการส่งมอบพื้นที่ต่อไป

นายคณิศ กล่าวว่า สำหรับรถไฟความเร็วสูงนั้น ที่ก่อนหน้านี้พบว่ามีปัญหาเรื่องของการส่งมอบพื้นที่ และการเจรจาขยายเวลาการชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จำนวน 1 หมื่นล้านบาทนั้น

 

ที่ผ่านมายังไม่สามารถพูดเรื่องนี้ได้ เพราะเรื่องทั้งหมดยังอยู่ที่คณะกรรมการกำกับสัญญา กำลังพิจารณารายละเอียดอยู่ และเมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนแล้ว จะเสนอมายังสำนักงานอีอีซีต่อไป 

 

ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ ซึ่งเป็นการกำหนดสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมพิเศษ โดยเริ่มนำร่องที่เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เป็นพื้นที่ต้นแบบ (Sandbox) ให้สิทธิประโยชน์อีอีซี แก่นักลงทุน ก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี

 

นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ สกพอ. ร่วมกับ กองทัพเรือ และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์กรมหาชน) หรือ สสปน. จัดงานแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย (Thailand International Air Show) ในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2568

 

สอดคล้องกับระยะเวลาเปิดบริการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา คาดว่าจะมีผู้ร่วมงานรวมประมาณ 5,425 คน และการจัดงานอย่างเต็มรูปแบบในปี 2570 จะมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 36,300 คน มีผู้เข้าแสดงงานประมาณ 1,240 ราย 

 

ทั้งนี้ การดำเนินงานภายใต้โครงการฯ จะมีการจัดงานที่เกี่ยวข้องทั้งงานใหม่และงานที่จัดต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปี 2566 - 2570 จำนวน 28 งานในพื้นที่ อีอีซี ซึ่งเมื่อรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจของงาน Thailand International Air Show ทั้งหมด จะสามารถสร้างรายได้รวมให้แก่ประเทศ มากถึงประมาณ 8,200 ล้านบาท