‘อีอีซี’อุ้มไฮสปีด-เมืองการบินอู่ตะเภา

23 ก.พ. 2565 | 07:00 น.

‘อีอีซี’อุ้มไฮสปีด-เมืองการบินอู่ตะเภา สกพอ.รับคู่สัญญาไฮสปีด-อู่ตะเภาเจอผลกระทบโควิด-19 เปิดทางปรับแก้บริหารสัญญาลดภาระ หวังเศรษฐกิจฟื้นเหมือนเดิมปี 2567 พร้อมตั้งบริษัทลูกเพื่อเป็นกลไกประสาน ร่วมพัฒนาเมืองการบินอู่ตะเภาในพื้นที่นอกเหนือสัมปทานเอกชน

 

‘อีอีซี’อุ้มไฮสปีด-เมืองการบินอู่ตะเภานายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) เปิดเผยการแก้ปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ว่า ขณะนี้คณะกรรมการกำกับดูแลสัญญาฯ และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างเจรจากับเอกชนคู่สัญญา 3 เรื่อง

 

คือ 1.งานโยธาส่วนทับซ้อนกับไฮสปีดไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง จะเร่งแก้ไขสัญญาโดยไม่เป็นภาระการเงินภาครัฐ 2.การส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เหลืออีกเพียง 20 ไร่ หรือ 0.57% เพราะเจ้าของเดิมยังหาที่อยู่ใหม่ไม่ได้ จะส่งมอบได้ทั้งหมดในเดือนพ.ค.2565

               

3. ผู้โดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ที่ลดฮวบจากผลกระทบโควิด-19 เหลือวันละ 2-3 หมื่นคน จากผลศึกษาที่ 8 หมื่นคนต่อวัน อาจต้องแก้ไขสัญญาปรับระยะเวลาค่าสิทธิแอร์พอร์ตลิงก์อย่างเหมาะสมให้เอกชน โดยจะเร่งรัดเจรจาบนพื้นฐานความเป็นหุ้นส่วนให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว เป็นธรรมกับเอกชนและภาครัฐไม่เสียประโยชน์

นายคณิศกล่าวว่า กรณีผู้โดยสารไม่เป็นไปตามเป้า หากเป็นสถานการณ์ปกติ ไม่อยู่ในเงื่อนไขที่ภาครัฐจะเข้าไปชดเชยรายได้ให้เอกชน แต่ปัจจุบันเป็นผลจากโควิด-19 ซึ่งเอกชนต้องไปบริหารจัดการเอง

 

โดยรัฐจะไม่ช่วยเยียวยาส่วนนี้ แต่เอกชนยังมีโอกาสจากวงเงินที่วางค่าสิทธิแอร์พอร์ต ลิงก์ กว่า 1 หมื่นล้านบาท ที่สามารถผ่อนชำระไประยะหนึ่งจนกว่าโควิด-19 คลี่คลาย จากนั้นเอกชนต้องชำระส่วนที่เหลือให้ครบตามสัญญา โดยปัจจุบันเอกชนเข้าดำนินการแล้วตั้งแต่ปลายปี 2564 และใช้งบรลงทุนไปราว 3,000 ล้านบาท ซึ่ง2 ฝ่ายจะเร่งเจรจาโดยเร็ว

“การเจรจาขยายระยะเวลาจ่ายค่าสิทธิ หากไม่แล้วเสร็จใน 3 เดือน สกพอ. จะขยายระยะเวลาการเจรจากับเอกชนออกไปราว 1 เดือน คาดว่าจะได้ข้อสรุปจาก กบอ. ในการประชุมครั้งหน้าต่อไป”

                ‘อีอีซี’อุ้มไฮสปีด-เมืองการบินอู่ตะเภา

โควิด-19 ทำให้ GDP ปี 2563 อยู่ที่ -6 % สภาพัฒน์คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เท่ากับตอนก่อนเกิดโควิด-19 ภายในกลางปี 2566 โควิด-19 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเข้าไทยลดลง กระทบต่อโครงการต่าง ๆ รวมทั้งรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ แต่ยังโชคดีที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง ทำให้ยังกระทบไม่มาก แต่จะมีผลต่อศักยภาพโครงการต่าง ๆ ในอนาคต คาดนักท่องเที่ยวจะฟื้นตัวปลายปี 2565 และกลับเข้าไทย 30 ล้านคนได้ในปี 2567

 

 “จากการประมาณการเศรษฐกิจและนักท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นั้น ทำให้นักลงทุนในโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน มีความกังวลในช่วงการก่อสร้างโครงการฯ ว่าจะกลับมาฟื้นตัวเป็นปกติได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งทางสกพอ.ได้รับข้อกังวลดังกล่าวมาดำเนินการ ว่ามีเรื่องใดที่ภาครัฐสามารถช่วยเหลือได้บ้าง”

               

ส่วนโครงการเมืองการบินอู่ตะเภา นายคณิศกล่าวว่า ได้จัดสิทธิประโยชน์ 10 ปีแรกให้กับโครงการเมืองการบินภาคตะวันออก เพื่อให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone-SEZ) ดึงดูดผู้ทำงานและนักลงทุน เทียบเท่าสิงคโปร์ ดูไบ และฮ่องกง ซึ่งจะมีการสนับสนุนการเป็นเมืองท่องเที่ยวและธุรกิจ 24 ชั่วโมง

               

ด้านรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย เมื่อครม.เห็นชอบแล้ว จึงจะถือว่าเอกชนได้รับสิทธิสัมปทาน ควบคู่กับทางกองทัพเรือออกแบบประกาศประมูลโครงการก่อสร้างฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจร่างทีโออาร์ คาดจะได้ตัวผู้รับจ้างหลังออกประกาศทีโออาร์ราว 4-6 เดือน

               

นอกจากนี้จะมีการจัดตั้งบริษัท อีอีซี พัฒนาสินทรัพย์สนามบิน จำกัด โดยอีอีซีถือหุ้น 100 %เพื่อประสานความร่วมมือกับเอกชน ในการลงทุนพื้นที่กิจกรรมพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน (ATZ) ส่วนที่อยู่นอกเหนือพื้นที่เอกชนได้รับสิทธิพัฒนาตามสัญญาร่วมลงทุน ส่วนสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนเดิม สกพอ.ยังเป็นคู่สัญญาร่วมกับเอกชนตามเดิม

           ‘อีอีซี’อุ้มไฮสปีด-เมืองการบินอู่ตะเภา      

สำหรับพื้นที่กิจกรรมพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน (ATZ) พื้นที่ 474 ไร่ ประกอบด้วย 1.โรงแรม ที่พักอาศัย ที่ประชุม ที่ทำงาน บริการ 24 ชั่วโมง 2.ห้างสรรพสินค้าและ Duty Free 24 ชั่วโมง 3.สันทนาการเบา เช่น ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม โดยเป็นร้านอาหารระดับมิชลิน สตาร์ ไม่ต่ำกว่า 10 ร้าน 4.ศูนย์แสดงศิลปกรรม พิพิธภัณฑ์ การแสดงงานศิลปะ และการซื้อขายงานศิลปะ 5.อาคารที่อยู่อาศัยคอนโด สำหรับนักธุรกิจ นักลงทุน พนักงานที่เข้ามาลงทุนหรือทำงานในพื้นที่