กางแผนครัวเรือน ผู้ว่าฯอุบลนำทีม"คิกออฟ"ขจัดยากจนตรงจุดยั่งยืน

05 มี.ค. 2565 | 12:39 น.

วาระแห่งชาติ ผู้ว่าอุบลฯนำทัพคิกออฟ ช่วยเหลือครัวเรือนขจัดยากจน พัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่อ.เขื่องใน และอ.เมืองอุบลราชธานี ตั้งเกณฑ์ชี้วัด สแกนครัวเรือนเป้าหมาย จัดทีมปฎิบัติการลงแก้ปัญหาถึงบ้าน  


    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อต้นเดือนมี.ค. 2565 นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.จ) จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย นางศลิษา ภิรมย์รัตน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่เพื่อบูรณาการความร่วมมือ และเยี่ยมให้กำลังใจครัวเรือนเป้าหมาย ในพื้นที่อำเภอเมืองอุบลราชธานี และอำเภอเขื่องใน

 โดยมีนายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายพิสดาร ประดา พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี นายธงชัย ครุฑแสน ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน นักวิชาการพัฒนาชุมชน และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมด้วย

กางแผนครัวเรือน ผู้ว่าฯอุบลนำทีม\"คิกออฟ\"ขจัดยากจนตรงจุดยั่งยืน

กางแผนครัวเรือน ผู้ว่าฯอุบลนำทีม\"คิกออฟ\"ขจัดยากจนตรงจุดยั่งยืน

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายการขับเคลื่อนการขจัดความยากจน และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นวาระสำคัญของชาติให้แก่ทุกจังหวัด 

 

ต่อมา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้ผู้บริหารและคณะทำงานกระทรวงมหาดไทย ในฐานะศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ได้ชี้แจงและขับเคลื่อนการดำเนินงานฯ ให้แก่คณะทำงานในทุกระดับและทุกจังหวัด

กางแผนครัวเรือน ผู้ว่าฯอุบลนำทีม\"คิกออฟ\"ขจัดยากจนตรงจุดยั่งยืน

กางแผนครัวเรือน ผู้ว่าฯอุบลนำทีม\"คิกออฟ\"ขจัดยากจนตรงจุดยั่งยืน

จังหวัดอุบลราชธานี ได้ให้ความสำคัญ และแจ้งประกาศวาระจังหวัด "การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย โดยวางเป้าหมายเพื่อลดความยากจนในมิติต่าง ๆ ครอบคลุมคนทุกเพศทุกวัย

 

โดยมีวัตถุประสงค์ประกอบด้วย 

1) เพื่อบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในระดับพื้นที่ ตรวจสอบข้อมูลบุคคล/ครัวเรือน เป้าหมายในระบบ TPMAP กลุ่มคนที่ตกหล่นจากระบบ TPMAP และกลุ่มคนเปราะบาง รวมทั้งการจัดทำแผนงาน/โครงการ การให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น และการบันทึกข้อมูลการให้ความช่วยเหลือในระบบ Logbook 

2) เพื่อให้บุคคล/ครัวเรือนเป้าหมาย ได้รับความช่วยเหลือใน 5 มิติ ประกอบด้วย มิติด้านสุขภาพ มิติด้านความเป็นอยู่ มิติด้านการศึกษา มิติด้านรายได้ และมิติด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ 

3) เพื่อติดตาม ตรวจสอบ การบันทึกข้อมูลการให้ความช่วยเหลือในระบบ TPMAP Logbook ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายที่ดำเนินการตรวจสอบ และรับรองข้อมูลจากทั้ง 25 อำเภอ ในจังหวัด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำนวน 7,614 ครัวเรือน 11,666 คน แยกเป็นรายมิติ ดังนี้ 

 

มิติด้านสุขภาพ ​​​จำนวน 2,094 ครัวเรือน 2,970 คน มิติด้านความเป็นอยู่ ​​จำนวน 1,884 ครัวเรือน 3,275 คน มิติด้านการศึกษา​​​จำนวน 1,162 ครัวเรือน 1,202 คน มิติด้านรายได้ ​จำนวน 2,537 ครัวเรือน 3,292 คน มิติด้านการเข้าถึงบริการรัฐ จำนวน 337 ครัวเรือน 571 คน และมิติด้านอื่น ๆ​ ​​จำนวน 1,629 ครัวเรือน 2,226 คน 

กางแผนครัวเรือน ผู้ว่าฯอุบลนำทีม\"คิกออฟ\"ขจัดยากจนตรงจุดยั่งยืน

ในส่วนของอำเภอเมืองอุบลราชธานี ศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อำเภอเมืองอุบลราชธานี (ศจพ.อ.) ได้ดำเนินการตรวจสอบบุคคล/ครัวเรือนเป้าหมายจากระบบ TPMAP และผลการดำเนินงานตรวจสอบ พบว่ามีครัวเรือนตกเกณฑ์ TPMAP 162 ครัวเรือน ไม่พบสภาพปัญหาแล้ว ส่วนครัวเรือนกลุ่มเปราะบางจำนวน 8,379 ครัวเรือน มีครัวเรือนที่พบสภาพปัญหา 200 ครัวเรือน ทำให้มีครัวเรือนเป้าหมายในพื้นที่อำเภอเมืองอุบลราชธานี ทั้งสิ้น 200 ครัวเรือน 

 

โดยในเวลา 11.00 น. ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมคณะฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมครัวเรือนยากจนเป้าหมาย นายบุญมี ดอกไม้ บ้านเลขที่ 27 หมู่ที่ 8 บ้านดอนชี ตำบลหนองขอน อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีสมาชิกในครัวเรือน 4 คน ตกเกณฑ์ในด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ มีรายได้หลักจากเบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 700 บาท และเบี้ยคนพิการ (ด้านการเคลื่อนไหว) เดือนละ 800 บาท ครัวเรือนไม่มีเอกสารสิทธิ์ (เป็นชื่อญาติซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก) รวมถึงไม่มีอาชีพเสริม เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ และที่อยู่อาศัยทรุดโทรม ไม่ถูกสุขลักษณะ 

 

ซึ่งการช่วยเหลือครัวเรือนเป้าหมายเพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในครั้งนี้ นายวรพันธ์ ชำนิยันต์ นายอำเภอเมืองอุบลราชธานี ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.อ.) อำเภอเมืองอุบลราชธานี นางพิมลนาถ ครองยุทธ รักษาราชการแทนพัฒนาการอำเภอเมืองอุบลราชธานี หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอและระดับตำบล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองขอน ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ทีมปฏิบัติการระดับตำบล รวมถึงทีมพี่เลี้ยงในระดับพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับและสนับสนุนการดำเนินงานฯ 

 

ในเบื้องต้นได้มีการให้ความรู้เรื่องแนวทางการดำเนินชีวิต ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชผัก และการบริหารจัดการชีวิต รวมถึงขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการซ่อมแซมบ้านและที่อยู่อาศัย จากองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)หนองขอน เป็นเงินทั้งสิ้น 40,000 บาท นอกจากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทย ยังได้มอบถุงยังชีพและสิ่งของอุปโภคบริโภคเพื่อบรรเทาปัญหา พร้อมเงินจำนวน 3,000 บาท ให้แก่ครัวเรือนเป้าหมาย รวมถึง Kick off การซ่อมแซมบ้านพัก และกิจกรรมการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ร่วมกับชุดปฏิบัติการระดับตำบล อีกด้วย

 

จากนั้นในเวลา 11.30 น. นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย นางศลิษา ภิรมย์รัตน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุบลราชธานี นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายพิสดาร ประดา พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี และคณะจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ได้เดินทางไปยังครัวเรือน นางบัวเรียน ทองชุม บ้านเลขที่ 192 หมู่ที่ 10 บ้านเสียม ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเยี่ยมเยือนให้กำลังและช่วยเหลือครัวเรือนเป้าหมายเพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 

 

โดยมี นายสันติพงษ์ สมศรี นายอำเภอเขื่องใน ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.อ.) อำเภอเขื่องใน นางวริชา เสาทอง พัฒนาการอำเภอเขื่องใน หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอและระดับตำบล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหัวดอน ข้าราชการและเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ทีมปฏิบัติการระดับตำบล รวมถึงทีมพี่เลี้ยงในระดับพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับและสนับสนุนการดำเนินงานฯ 

 

อำเภอเขื่องใน มีครัวเรือนตกเกณฑ์ TPMAP ทั้งสิ้น 648 ครัวเรือน มีครัวเรือนที่พบสภาพปัญหา 24 ครัวเรือน ส่วนครัวเรือนกลุ่มเปราะบางมี 6,424 ครัวเรือน และพบสภาพปัญหา 115 ครัวเรือน รวมครัวเรือนเป้าหมายในพื้นที่อำเภอเขื่องใน ทั้งสิ้น 139 ครัวเรือน ซึ่งในวันนี้คณะฯ ได้เยี่ยมเยียนให้กำลังใจครัวเรือน นางบัวเรียน ทองชุม บ้านเลขที่ 192 หมู่ที่ 10 บ้านเสียม ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน 

 

ซึ่งตกเกณฑ์ในด้านการเข้าถึงบริการของรัฐ เนื่องจากไม่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงด้านสภาพความเป็นอยู่ เนื่องจากไม่ถูกสุขลักษณะด้วย นอกจากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทย ยังได้มอบถุงยังชีพและสิ่งของอุปโภคบริโภคเพื่อบรรเทาปัญหา พร้อมเงินจำนวน 3,000 บาท ให้แก่ครัวเรือน รวมถึงกิจกรรมการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ร่วมกับชุดปฏิบัติการระดับตำบล อีกด้วย

 

ท้ายที่สุด นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้กล่าวกับทีมปฏิบัติการ และผู้เข้าร่วมกิจกรรมว่า การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ถือเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยนั้น ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับประชาชนชาวไทย

 

สำหรับกิจกรรม Kick off เยี่ยมครัวเรือนยากจนในวันนี้ ทางจังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระดับจังหวัด (ศจพ.จ.) ร่วมกับศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระดับอำเภอ (ศจพ.อ.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ส่งทีมพี่เลี้ยง ทีมปฏิบัติการระดับตำบล รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในหมู่บ้าน มาร่วมกันจัดทำแผนครัวเรือนให้กับครัวเรือนเป้าหมาย เพื่อที่จะได้ทราบว่าครัวเรือนนั้น ๆ มีปัญหาความต้องการอะไร และตกเกณฑ์ในมิติใดบ้าง แล้วนำเมนูความช่วยเหลือครัวเรือนที่เกิดจากการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานราชการในจังหวัดอุบลราชธานี มาช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาให้ได้ตรงกับปัญหาความต้องการของครัวเรือนเป้าหมายต่อไป

 

 "ซึ่งการดำเนินงานในลักษณะนี้ จะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน ตรงจุด จึงขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะทีมพี่เลี้ยง ที่ต้องมีความแม่นยำในเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการช่วยเหลือด้านต่างๆ เช่น การขอรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุ หรือสวัสดิการรัฐอื่นๆ อีกทั้งขอให้มีการจัดสรรจำนวนครัวเรือนที่รับผิดชอบ ต่อทีมพี่เลี้ยงให้เหมาะสม ไม่มากจนเกินไป เพื่อที่จะช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง เมื่อการดำเนินงานเป็นไปอย่างแม่นยำและชัดเจน ก็จะทำให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี"