รถไฟจีน-ลาวโอกาสธุรกิจอีสาน นิคมกรีนอุดรฯเร่งตั้งโรงงานดึงลงทุน

12 ม.ค. 2565 | 07:42 น.

เอกชนอีสานเล็งหาโอกาสธุรกิจจากรถไฟจีน-ลาวคึกคัก นิคมกรีนอุดรฯ พร้อมเปิดนักลงทุนลงเสาเข็มตั้งโรงงานกลางปี 2565 ลุ้นรัฐไฟเขียวตั้ง ICD เชื่อมทางรถไฟ ขอสิทธิประโยชน์เท่าเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนหนองคาย ม.อุบลฯระดมสมองนักธุรกิจอีสานตอนล่าง 

โครงการรถไฟจีน-ลาวเปิดเดินรถแล้ว แม้ยังไม่เต็มรูปแบบจากสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่ยังห้ามคนข้ามแดน จึงเปิดเดินรถเฉพาะในเขตประเทศ และพ่อค้าจีนทดลองขนส่งสินค้าผัก-ผลไม้ข้ามแดนแล้ว แต่กระแสความตื่นตัวรับอนาคตการเดินทางขนส่งข้ามแดนเชื่อมโยงภูมิภาคกำลังพุ่งสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน ของไทย

 

นายพิสิษฎ์  พิพัฒน์วิไลกุล  กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ผู้ลงทุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมสีเขียวแห่งแรกของภาคอีสาน เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีพร้อมแล้วทุกด้าน ที่จะเป็นศูนย์กลางการลงทุนอุตสาหกรรมแห่งใหม่ในภาคอีสาน

นายพิสิษฎ์  พิพัฒน์วิไลกุล  กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด

รถไฟจีน-ลาวโอกาสธุรกิจอีสาน นิคมกรีนอุดรฯเร่งตั้งโรงงานดึงลงทุน

พร้อมที่จะเป็นฮับโลจิสติกส์ของภูมิภาคเพื่อรับสินค้าจากจีน และส่งสินค้าจากจังหวัดอุดรธานีและใกล้เคียง ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน ภาคอีสานหรือจากภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย โดยเฉพาะสินค้าประเภทผลไม้นานาชนิด เช่น ทุเรียน มังคุดจากภาคใต้ ลำไย และอื่น ๆ ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวจีน และสินค้าจากกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง(CLMV) ส่งเข้าจีน กับขบวนรถไฟจีน-ลาวที่เปิดให้การบริการแล้ว     

 

ปัจจุบันการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ในโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี มีความก้าวหน้าไปกว่า 90 % คาดว่ากลางปี 2565 นี้ จะเสร็จเรียบร้อย พร้อมเปิดให้นักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจีน ที่ให้ความสำคัญและตกลงทำสัญญเช่าพื้นที่ เข้าพื้นที่เพื่อก่อสร้างโรงงานได้

รถไฟจีน-ลาวโอกาสธุรกิจอีสาน นิคมกรีนอุดรฯเร่งตั้งโรงงานดึงลงทุน

รถไฟจีน-ลาวโอกาสธุรกิจอีสาน นิคมกรีนอุดรฯเร่งตั้งโรงงานดึงลงทุน

นอกจากนักลงทุนจีนแล้ว ในต้นปีนี้ก็จะมีนักลงทุนญี่ปุ่น นำโดยหอการค้าประเทศญี่ปุ่นจะพานักลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมต่าง ๆ เดินทางมาสำรวจพื้นที่ หลังจากที่ได้ชะลอการเดินมาในช่วงของการแพร่ระบาดโรคโควิค-19 ซึ่งคาดหมายว่าจะมีข่าวดีจากนักลงทุนญี่ปุ่นกลุ่มดังกล่าว 
    

โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นการลงทุนของเอกชน โดยอยู่ในการกำกับดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)  โครงการมีพื้นที่ทั้เงหมดประมาณ 2,400 ไร่เศษ ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลโนนสูง อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี ริมทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ขอนแก่น-หนองคาย

รถไฟจีน-ลาวโอกาสธุรกิจอีสาน นิคมกรีนอุดรฯเร่งตั้งโรงงานดึงลงทุน

สามารถรองรับการลงทุนของโรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ กว่า 100 โรงงาน มูลค่าการลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท จะมีการจ้างงานภายในโครงการฯประมาณ 20,000 อัตรา และจ้างงานต่อเนื่องภายนอกโครงการฯ อีกประมาณกว่า 40,000 คน  
             

อย่างไรก็ตาม นายพิสิษฎ์ฯกล่าวว่า นิคมกรีนอุดรฯ พร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการลงทุนแห่งใหม่ของอีสาน พร้อมจะเป็นฮับโลจิสติกส์ของภูมิภาค แต่จะสำเร็จได้ต้องให้รัฐบาลช่วยสนับสนุน ใน 4 เรื่อง คือ ปรับปรุงพัฒนาบริเวณทางแยกถนนมิตรภาพ เข้าโครงการฯ สะดวกสำหรับยวดยานทุกประเภท การต่อรางรถไฟจากสถานีหนองตะไก้ถึงพื้นที่นิคมฯระยะทาง 1.8 กิโลเมตร เพื่อรองรับสินค้า โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) และขยายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจากหนองคายถึงอุดรธานี เพื่อให้นักลงทุนในนิคมฯได้รับสิทธิประโยชน์

 

“โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี  เป็นนิคมฯสีเขียวเพื่อหมู่เฮาชาวอีสาน  เป็นนิคมเพื่อชุมชน เพื่อให้พี่น้องในท้องถิ่นอยู่กับพื้นที่ ไม่ต้องเดินทางไปทำงานในต่างถิ่น เพื่อสร้างชีวิตความเป็นอยู่ให้มีความมั่นคง อบอุ่นแก่ครอบครัว  เพื่อความมั่นคงเศรษฐกิจโดยรวม สร้าง GDP ของภาคอีสานให้เพิ่มสูงขึ้น” นายพิสิษฎ์ย้ำ

การเสวนาโอกาสธุรกิจจากรถไฟจีน-ลาวที่อุบลราชธานี

ที่จังหวัดอุบลราชธานี  โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์ สภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง 2 สภาหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง 2 และสมาคมธนาคารจังหวัดอุบลราชธานี จัดการบรรยายพิเศษ และเสวนาหัวข้อ “ส่องโอกาสทางธุรกิจ จากขบวนรถไฟ ลาว-จีน” ให้แก่นักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม และเอกชนทั่วไป

ผศ.ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ผศ.ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ และแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ  จึงจัดเวทีระดมแนวคิด และเสวนา “ส่องโอกาสทางธุรกิจ จากขบวนรถไฟ ลาว-จีน" โดยมีการบรรยายหัวข้อ ภาพรวมสภาพเศรษฐกิจของ สปป.ลาว หลังจากรถไฟ ลาว-จีน และแนวทางการสนับสนุนธุรกิจใน สปป.ลาว โดย นายเจษฎา กตเวทิน เอกอัครราช ฑูตไทย ณ นครหลวงเวียงจันทร์ สปป.ลาว 

 

การบรรยายหัวข้อ “ทิศทางการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทย เชื่อมโยงอาเซียน และจีน โอกาสที่คนอีสานตอนล่างจะต้องเตรียมตัว” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช  ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  และการบรรยายหัวข้อ “เจาะโอกาสทางธุรกิจของภาคอีสานตอนล่าง จากขบวนรถไฟความเร็วสูง ลาว-จีน” โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

การเสวนาโอกาสธุรกิจจากรถไฟจีน-ลาวที่อุบลราชธานี

 รวมทั้งการเสวนา “ชี้ช่องทางการร่วมมือทางธุรกิจของผู้ประกอบการจากอีสาน เชื่อมโยงไปลาว และส่งต่อไปตลาดจีน” โดย ท่านปะจิด ไซยะวง ประธานสมาคมผู้จัดส่งสินค้าระหว่างประเทศของ สปป. ลาว และ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ  ดำเนินการเสวนาโดย อาจารย์ชวพจน์ ศุภสาร คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,748 วันที่ 13-15 มกราคม พ.ศ.2565