สงครามรัสเซีย-ยูเครน เพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อไทยพุ่ง

01 มี.ค. 2565 | 07:21 น.
อัพเดตล่าสุด :04 มี.ค. 2565 | 17:01 น.

วิจัยกรุงศรีคาด สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบสภาวะเศรษฐกิจไทย ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกขยับขึ้นสูงในรอบหลายปี เพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อพุ่งสูงเกิดคาดการณ์เดิมจาก 2.0% มาอยู่ที่ 2.7%

วิจัยกรุงศรีรายงานว่า โอมิครอนฉุดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลเงินเฟ้อไทยสูงขึ้นมากกว่าคาด จากที่เคยคาดการณ์ไว้มาอยู่ที่  2.0% ขยับขึ้นเป็น 2.7% 

Thailand Economic Projection

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม ได้รับปัจจัยหนุนจากการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ และปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ รวมถึงภาคท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น ทั้งนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโอมิครอน บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง

ช่วงต้นปีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจชะลอลงบ้างจากการระบาดของไวรัสโอมิครอน แต่ยังมีปัจจัยหนุนจากมาตรการพยุงกำลังซื้อประชาชน และกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับดีขึ้น ส่วนการลงทุนภาคเอกชนได้รับผลบวกจากการส่งออกที่ยังขยายตัว แต่อาจได้รับผลกระทบจากความล่าช้า ในการดำเนินการของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการขาดแคลนแรงงานในภาคก่อสร้าง 

ส่วนการบริโภคภาครัฐมีแนวโน้มหดตัวจากปีก่อน สอดคล้องกับวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี และแผนการใช้จ่ายตามพ.ร.ก.เงินกู้ ที่คงเหลือหลังจากใช้ไปจำนวนมากในปีที่ผ่านมา  

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมจากสงครามรัสเซียและยูเครนที่ปะทุขึ้น หากสถานการณ์ไม่ลากยาวจนส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ คาดว่าผลกระทบทางตรงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะไม่มาก เนื่องจากไทยมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับรัสเซียและยูเครนคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.52% และ 0.07% ของมูลค่าการค้ารวม 

 

ขณะที่ผลกระทบทางอ้อมจากการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ขยับขึ้นสู่ระดับสูงในรอบหลายปี จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปีนี้มีแนวโน้มที่จะเร่งขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้มาอยู่ที่ 2.7% จากเดิม 2.0%

ส่วนการที่ภาครัฐ มีการผ่อนคลายมาตรการ Test & Go เพิ่มเติม เพื่อหนุนการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ยังต้องจับตาสถานการณ์ความตึงเครียดรัสเซียกับยูเครน การประชุมของศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจโควิด-19 (ศบค.) วันที่ 23 กุมภาพันธ์ มีมติปรับปรุงมาตรการเดินทางเข้าประเทศตามนโยบาย Test & Go เพื่อช่วยสนับสนุนและเอื้อต่อการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาทิ i)  เพิ่มช่องทาง Test & Go ทางบกในจังหวัดที่กำหนด (หนองคาย อุดรธานี และสงขลา) และทางน้ำ (เฉพาะเรือยอชต์) ii) ยกเลิกการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR สำหรับครั้งที่ 2 ในวันที่ 5 ที่เดินทางเข้าประเทศ ให้ปรับมาเป็นตรวจด้วยวิธี ATK  แทน และ iii) ปรับลดวงเงินประกันสุขภาพจาก 50,000 ดอลลาร์ เป็นไม่น้อยกว่า 20,000 ดอลลาร์ เป็นต้น ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม

สงครามรัสเซีย-ยูเครน เพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อไทยพุ่ง

หลังจากไทยมีนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศด้วยมาตรการ Test and Go ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 หนุนให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมกว่า 3 แสนคน ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีก่อน และล่าสุดเดือนมกราคมมีจำนวน 133,903 คน ทั้งนี้ การปรับปรุงมาตรการดังกล่าวจะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดี ลดภาระค่าใช้จ่ายแก่นักเดินทาง อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน อาจกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยว โดยรัสเซียนับเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยมากสุดติด 1 ใน 5 อันดับแรกตั้งแต่ไทยกลับมาเปิดประเทศ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เดินทางมาเอง (Foreign Individual Tourism: FIT) และเป็นนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพการใช้จ่ายสูง

 

ส่วนตลาดยูเครน ยังมีเพียงเล็กน้อยและเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยแบบเช่าเหมาลำ โดยหากสถานการณ์มีความรุนแรงแผ่ลามกว้างขึ้นในยุโรป จนกระทบต่อเส้นทางการบินจะเพิ่มความลำบากในการเดินทางของนักท่องเที่ยว การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทยอาจเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยดังกล่าวได้

 

ในส่วนของเศรษฐกิจโลก การบุกยูเครนของรัสเซียเพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อโลก หากสถานการณ์รุนแรงจะกระทบการฟื้นเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะยุโรป  รัสเซียเข้าโจมตีกรุงเคียฟและอีกหลายเมืองของยูเครน ด้านสหรัฐฯ อังกฤษ และสหภาพยุโรปได้ประกาศคว่ำบาตรโดยห้ามทำธุรกรรมด้านการค้าและการลงทุน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงและธนาคารบางแห่งของรัสเซีย ล่าสุดสหรัฐฯและพันธมิตรเตรียมตัดธนาคารบางแห่งของรัสเซียออกจากระบบชำระเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก (SWIFT) ด้าน NATO ยืนยันว่าจะไม่ส่งกำลังทหารเข้าไปในยูเครนเนื่องจากมิได้เป็นสมาชิก NATO

 

การโจมตียูเครนของรัสเซียส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวน ความขัดแย้งกับสหรัฐฯและชาติพันธมิตรทวีความรุนแรง ราคาน้ำมันดิบพุ่งเหนือระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลและราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงสุดในรอบหลายปีนับตั้งแต่ปี 2557 ความตึงเครียดดังกล่าวกระทบราคาพลังงานเนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก และยังเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติอันดับ 2 ของโลกโดยส่งออกก๊าซไปยังยุโรปผ่านทางท่อส่งในยูเครน นอกจากนี้ รัสเซียและยูเครนยังเป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญ เช่น ข้าวสาลี และข้าวโพด วิจัยกรุงศรีประเมินว่าในเบื้องต้น สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ กดดันกำลังซื้อ ต้นทุนการผลิต และสร้างความยากลำบากในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ แต่หากสถานการณ์ทวีความรุนแรงอาจส่งผลต่อภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงปัญหาการขาดแคลนไมโครชิพเนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตก๊าซนีออนและแร่พัลลาเดียมซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญ ภาวะสงครามและการคว่ำบาตรที่รุนแรงอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะยุโรป ซึ่งเชื่อมโยงอย่างมากกับรัสเซีย ทั้งในแง่พลังงาน ภาคเศรษฐกิจ และภาคการเงิน

 

เศรษฐกิจสหรัฐฯโตต่อเนื่องท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อ แต่ปัญหาความตึงเครียดในยูเครนอาจกระทบการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ในเดือนมกราคมดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) เพิ่มขึ้น 5.2% YoY สูงสุดในรอบ 40 ปี ขณะที่การใช้จ่ายส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 2.1% MoM สูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 ส่วนในเดือนกุมภาพันธ์ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัด ซื้อรวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้น (Flash PMI) ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนสู่ระดับ 56.0 ล่าสุดจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 กุมภาพันธ์แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เริ่มการแพร่ระบาดที่ 1.48 ล้านราย

 

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีสัญญาณบวกในตลาดแรงงานและการปรับตัวดีขึ้นของภาคการผลิตและภาคบริการโดย Flash PMI ล่าสุดฟื้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 18 เดือนหลังการระบาดของโอมิครอนคลี่คลาย ขณะที่แรงกดดันด้านราคายังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้อาจหนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 25 bps ในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ อย่างไรก็ตาม หากวิกฤตในยูเครนรุนแรงขึ้นจนส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว อาจกดดันการตัดสินใจปรับดอกเบี้ยของเฟดหลังเดือนมีนาคม

สัญญาณกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจจีนอาจเผชิญความไม่แน่นอนจากมาตรการควบคุมบริษัทด้านเทคโนโลยี ในเดือนมกราคมยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้น 0.9% YoY เติบโตอีกครั้งในรอบ 9 เดือน ขณะที่ราคาบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 0.1% MoM กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564

 

ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้สัญญาณปรับตัวดีขึ้นของการใช้จ่ายภาคเอกชนและภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ภายหลังจากทางการจีนทยอยออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยและการปรับลดอัตราเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนจากปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการอสังหาฯ

 

ล่าสุด บริษัท เฉินโร อาจผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้มูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ที่มีกำหนดไถ่ถอนในเดือนมีนาคมนี้ ขณะเดียวกันทางการจีนยังส่งสัญญาณว่าจะออกมาตรการควบคุมธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเมตาเวิร์สของเทนเซนต์ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ในกลุ่มเทคโนโลยีและตรวจสอบธุรกรรมซึ่งเกี่ยวโยงกับบริษัทแอนท์กรุ๊ปในเครืออาลีบาบา ปัจจัยเหล่านี้อาจช่วยดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินในระยะยาว แต่อาจกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะนี้