“เจ้าท่า” สั่งกู้เรือ ป.อันดามัน 2 จ.ชุมพร สกัดน้ำมันไหลกลางทะเล

22 ก.พ. 2565 | 07:46 น.

“เจ้าท่า” เร่งกู้เรือ ป.อันดามัน 2 จ.ชุมพร ต่อเนื่อง หวังลดผลกระทบประชาชน-สิ่งแวดล้อมทางทะเล เร่งออกประกาศสั่งห้ามใช้เรือ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

นายภูริพัฒน์   ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีด้านปลอดภัย กรมเจ้าท่า (จท.) เปิดถึงกรณีจากเหตุการณ์เรือ ป.อันดามัน 2 ทะเบียนเรือ 449201184 ขนาด 325 ตันกรอส ประเภทการใช้บรรทุกน้ำมันเพื่อการประมง (น้ำมันดีเซลเป็นน้ำมันเบา สามารถระเหยและสลายตัวได้เร็ว) เจ้าของเรือชื่อ บริษัท ไทยแหลมทองค้าน้ำมันประมง จำกัด อับปางลงกลางอ่าวไทยเบื้องต้นกรมเจ้าท่า มีหน้าที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัยรวมถึงด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล ได้เร่งดำเนินการตามข้อสั่งการของกระทรวงคมนาคม โดยได้เร่งรัด และออกคำสั่งให้เจ้าของเรือเข้าสำรวจตัวเรือ พร้อมกู้สินค้าและตัวเรือโดยด่วน ทั้งนี้ การกู้เรือทางบริษัทฯ ได้ทำการจ้างผู้เชี่ยวชาญเข้าดำเนินการภายใต้ความปลอดภัยและลดผล กระทบทางด้านแวดล้อมในทะเลให้น้อยที่สุด โดยกรมเจ้าท่า ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อปฏิบัติการกู้เรือและขจัดมลพิษน้ำมัน เพื่อประเมินสถานการณ์ วางแผนการกู้เรือ และป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม กำหนดยุทธวิธีป้องกันและ ขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน

 

 

ขณะเดียวกันกรมเจ้าท่า โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาชุมพร ได้ออกประกาศแจ้งเตือนให้ผู้ควบคุมเรือ เจ้าของเรือ หรือผู้ประกอบกิจการเดินเรือ ระมัดระวังในการเดินเรือ บริเวณอ่าวไทย จังหวัดชุมพร ละติจูด 10 องศา 36.06 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 99 องศา 38.35 ลิปดา ตะวันออก และออกคำสั่งห้ามใช้เรือ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และออกคำสั่งให้เจ้าของเรือลำดังกล่าว เร่งดำเนินการกู้เรือ พร้อมจัดหาทุ่นกักเก็บน้ำมัน (Boom) และน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน (Dispersant) เพื่อใช้ในการปฏิบัติภารกิจดังกล่าว ตามมาตรการและแผนการดำเนินการป้องกันเหตุ ซึ่งอาจมีผลกระทบ ต่อสิ่งมีชีวิต สิ่งแวดล้อม หรือเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ 
 

นอกจากนี้กรมฯได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองทัพเรือ จังหวัดชุมพร กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ติดตามเฝ้าระวังคราบน้ำมัน โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือ ส่งยานสำรวจใต้น้ำ พบว่าสภาพตัวเรือไม่ได้รับผลกระทบต่อแรงดันใต้น้ำในส่วนของคราบน้ำมันประเมินจากภาพถ่ายของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA การบินสำรวจโดยอากาศยานของกองทัพเรือ และการตรวจการณ์ทางทะเลด้วยเรือหลวงสงขลาและเรือหลวงบางระจัน ของกองทัพเรือ สำรวจบริเวณจุดพื้นที่เรืออับปางพบเพียงคราบน้ำมันเป็นฟิล์มบาง ๆ สามารถระเหยและสลายตัวได้เอง

 

 

“เจ้าท่า” สั่งกู้เรือ ป.อันดามัน 2 จ.ชุมพร  สกัดน้ำมันไหลกลางทะเล

สำหรับแผนการกู้เรือ บริษัท พี.เค.มารีนฯ ได้นำเรือบาสเครน พีเคมารีน 101 และเรือลากจูง พีเคมารีน11 ติดตั้งอุปกรณ์และเตรียมความพร้อมตามแผนการกู้เรือ โดยให้นักประดาน้ำสำรวจ ตรวจสอบตัวเรือ อุปกรณ์ และประเมินสถานการณ์ ซึ่งจากการสำรวจ พบว่าเรืออยู่ในลักษณะนอนตะแคงข้างกราบขวา กราบซ้ายตั้งขึ้น ซึ่งต้องนำเรือเครนเข้ายึดติดกับตัวเรือที่จม เพื่อป้องกันการเคลื่อนตัว จากนั้นทำการเช็ค ฝาปิดวาล์ว อุดรอยรั่วของถังทุกจุด และทำการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อทำการดูดน้ำมัน รวมถึงช่องระบายอากาศและจะเริ่มทำการดูดน้ำมันทีละถัง โดยเตรียมอุปกรณ์ เพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉิน ได้แก่ ทุ่นกักเก็บน้ำมัน (Boom) น้ำยาขจัดคราบ (Dispersant)
 

“เจ้าท่า” สั่งกู้เรือ ป.อันดามัน 2 จ.ชุมพร  สกัดน้ำมันไหลกลางทะเล

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน ได้ทำการสูบน้ำมันขึ้นจากเรือ ป.อันดามัน 2 เรียบร้อยแล้วรวมทั้งสิ้นจำนวน 4 ถังใหญ่ โดยแบ่งเป็นถังย่อยดังนี้ กราบซ้ายจำนวน 4 ถัง กราบขวาจำนวน 4 ถัง และได้ทำการสูบน้ำมันใส่เรือวีนัส 24 ทั้งหมดจำนวน 3 ถัง ได้ปริมาณน้ำมันรวมทั้งหมดโดยประมาณ 155,215 ลิตร บริษัทฯ สามารถควบคุมการกู้น้ำมันได้ตามแผนฯ ซึ่งไม่พบคราบน้ำมันในจุดที่เรือจม โดยได้วางแผนเพื่อดำเนินการกู้ตัวเรือในลำดับต่อไป จากการที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาชุมพร ได้ออกคำสั่งในการกู้เรือภายใน 15 วันตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2565 แต่ด้วยพื้นที่จุดที่เรือจมมีความลึกน้ำประมาณ 48 เมตร ประกอบกับขณะนี้สภาพอากาศไม่ปลอดภัยต่อการปฏิบัติภารกิจ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในการดำเนินการตามแผนฯ บริษัทจึงได้ขอขยายระยะเวลาในการกู้เรือ โดยจะดำเนินการตามแผนการกู้เรือ หลังจากสภาพอากาศและคลื่นลมมีความปลอดภัย และเหมาะสมต่อการปฏิบัติงานโดยเร็วที่สุด พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้เรือตรวจการณ์เจ้าท่า 1302 และเรือตรวจการณ์ตำรวจน้ำพร้อมเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในกรณีฉุกเฉินตามแผนการกู้เรือ ทั้งนี้ ในพื้นที่ไม่พบคราบน้ำมันพื้นที่จุดที่เรือจม และไม่ได้รับรายงานว่าพบคราบน้ำมันบริเวณชายหาด หรือชายฝั่งใกล้พื้นที่จุดที่เรือจมแต่อย่างใด