ประกันรายได้ข้าว พระเอกฟื้นเศรษฐกิจ “จุรินทร์”ลั่นเดินหน้าปี4ต่อ

21 ก.พ. 2565 | 07:57 น.

ประกันรายได้ข้าว พระเอกฟื้นเศรษฐกิจ “จุรินทร์”ลั่นเดินหน้าปี4ต่อจับมือเกษตรกรดูแลผลผลิต  ด้าน”ค้าภายใน”ยันประกันรายได้ พยุงราคาสินค้าเกษตร โปร่งใส

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่า นโยบายสำคัญประกันรายได้เกษตรกร เกิดขึ้นจากประชาธิปัตย์และเป็นนโยบายสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเงื่อนไขหนึ่งก่อนการตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล วันนี้นโยบายประกันรายได้เกษตรกรจึงเกิดขึ้นเป็นนโยบายของรัฐบาลเดินหน้ามาเข้าปีที่ 3 และกำลังจะขึ้นปีที่ 4 ประกันรายได้เกษตรกรพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

นอกจากจะเป็นการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ 5 ตัว คือ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมันและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แล้วยังถือว่าเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ประกันรายได้เป็นตัวช่วยในยามที่ราคาพืชเกษตรตกต่ำ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ประกันที่เกวียนละ 10,000 บาท  หากราคาต่ำกว่า 10,000 บาทจะมีรายได้จากราคาตลาด และส่วนต่างจากรายได้ที่ประกันโอนเข้าบัญชีธนาคาร ธ.ก.ส.ที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนและเปิดบัญชีไว้โดยตรง ปาล์มน้ำมันก็เช่นเดียวกัน เป็นตัวช่วยยามที่พืชเกษตรราคาตก ซึ่งทุกวันนี้พืชเกษตรราคาดีเกือบทุกตัว

 

โดยยางพาราที่เคยวิจารณ์ว่า 3 โล 100 วันนี้ยางแผ่นดิบราคาเกิน 60 บาท/กก. แล้ว ไม่ต้องจ่ายส่วนต่าง น้ำยางข้นประกันรายได้ กก.ละ 57 บาท โดยล่าสุดราคา 67 บาท/กก.แล้ว ยางก้อนถ้วยหรือขี้ยาง สมัยก่อนกิโลกรัมละ 12-15 บาท ล่าสุดกิโลกรัมละ 27 บาทแล้ว ข้าวโพดประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 8.50 บาท ล่าสุดราคา 10.00- 10.50 บาท/กก. ปาล์มน้ำมันก่อนหน้าที่จะเข้ามา อยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 2 บาท วันนี้ปาล์มสูงสุดถึง 12 บาท/กก.

ยางพารา

และวันนี้ 9-10 บาท/กก.โดยประมาณ ประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 4 บาท สูงกว่ารายได้ที่ประกันถึง 4 เท่า พืชเกษตรราคาดีเกือบทุกตัวและผลไม้ราคาดี เรียนในสภาว่า ทุเรียนเฉลี่ยกิโลกรัมละ 120 บาท/กก. ในปี 2564 ซึ่งมังคุด เกรดส่งออกบางช่วงถึงกิโลกรัมละ 220 บาท และดีเกือบทุกตัว ยกเว้นบางช่วงที่ทะลักออกมาและล้งไปรับไม่ทัน เกิดโควิด เช่น มังคุดที่ช่วงติดโควิด และล็อกดาวน์ราคาจึงลดลงตอนหลังไปแก้ปัญหาทันท่วงทีก็ช่วยให้ดีขึ้นเฉลี่ยถือว่าราคาดี

ปาล์มดิบ

ซึ่งช่วง 3 ปี ที่ประกันรายได้ส่งเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 450,000-500,000 ล้านบาท ที่สำคัญไม่ส่งผลเฉพาะการฟื้นเศรษฐกิจฐานรากช่วยให้เกษตรกรอยู่ได้ แต่ยังช่วยการแก้ปัญหาทางการเมือง ตั้งแต่มีนโยบายประกันรายได้ม็อบเกษตรกรเราเกือบลืมไปมีน้อยมาก เพราะมีตัวช่วยยามที่พืชเกษตรตกต่ำมีส่วนต่างพยุงชีวิต พยุงรายได้ให้เกษตรกรอยู่ได้  และประกันรายได้ไม่มีทุจริต และทุจริตไม่ได้ มีกระบวนการตรวจสอบมีกระบวนการรับรองจากเจ้าหน้าที่ และธ.ก.ส.เป็นผู้ตรวจบัญชีและโอนเงินตรงเข้าบัญชีเกษตรกร การทุจริตเกิดยากมาก

ประกันรายได้ข้าวปี3

สำหรับอนาคตของเกษตรกร และภาพรวมเศรษฐกิจไทย ตนคิดว่าเกษตรยังเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจของประเทศ ต้องส่งเสริมสนับสนุนต่อไป ไม่ควรไปด้อยค่าการเกษตร เกษตรต้องไม่ทิ้ง หลายประเทศที่ไม่มีเกษตร เมื่อถึงเวลาโควิดเกิดวิกฤติโลก ข้าวก็ไม่มีจะกิน คนไทยอย่างน้อยมีข้าวกิน มีพืชเกษตรบริโภค คือฐานความเป็นเรา ที่ต้องรักษาไว้ แต่อนาคตทางการเกษตรที่ต้องทำคือ พัฒนาปรับปรุง เดินหน้าไปสู่เกษตรมูลค่าสูง สูงด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปของเราพัฒนาไปไกล เช่น ข้าวเป็นเครื่องสำอางและมีราคาสูง เป้าหมายที่ควรเดินหน้าขับเคลื่อนคือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy)ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ Bio Economy จะต้องถูกขับเคลื่อนและเป็นอนาคตเศรษฐกิจตัวหนึ่งไทยต่อไปอย่างเข้มข้นและให้สัมฤทธิ์ผลได้จริง

ชาวนา กำลังเก็บเกี่ยวข้าว

ด้านนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า โครงการประกันรายได้เป็นการจ่ายส่วนต่าง และโอนเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง โดยเอาเงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายออกไปก่อน แล้วค่อยตั้งเบิกงบกับทางรัฐบาล  เป็นโครงการที่เกิดจากการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน เกษตรกรช่วยกันวางแผนระบบ กำหนดราคา จึงยืนยันโครงการประกันรายได้มีความโปร่งใสแน่นอนขอให้ทุกฝ่ายสบายใจได้ซึ่งจากการดำเนินโครงการมาพบว่าแนวโน้มสินค้าเกษตรที่ร่วมโครงการมีราคาที่ดีขึ้น

ายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน

และภาครัฐก็ไม่ได้มีมาตรการเดียวออกมาเพื่อช่วยพยุงราคาสินค้าเกษตรแต่ได้กำหนดมาตรการต่างๆออกมาคู่ขนาน เช่น โครงการสนับสนุนให้เกษตรกรชะลอการขายผลผลิต เช่น ข้าว ก็ให้เก็บในยุ้งฉางก่อน โดย ธ.ก.ส.จะตีมูลค่าข้าวเป็นเงิน และจ่ายเงินให้เกษตรกรเอาไปใช้ก่อน เมื่อถึงเวลาราคาดีขึ้นก็ไปไถ่ออกมา เช่นเดียวกับสหกรณ์และโรงสีภาครัฐก็มีแรงจูงใจด้วยการช่วยเหลือเรื่องดอกเบี้ย เพื่อให้สกรณ์และโรงสีมีกำลังรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ในช่วงที่ผลผลิตออกมาปริมาณมาก

มันสำปะหลัง

ส่วนมันสำปะหลัง มีมาตรการรวบรวมผลผลิตไม่ว่าจะเป็น ผู้ส่งออก โรงแป้ง ในการที่จะไปรับซื้อ แปรรูป และส่งออก  และยังมีการพัฒนาคุณภาพมันสำปะหลัง เพิ่มมูลค่าผลผลิตแทนการขายเป็นมันสดที่มีราคาเพียงกก.ละ 2.50 – 2.70 บาท เป็นการขายเป็นมันเส้นที่มีราคาสูงถึง 7-8 บาท ที่ผ่านมาปีที่แล้วภาครัฐให้เครื่องสับมันกับชุมชนกลุ่มเกษตรกรไปกว่า 600 เครื่อง ปีนี้ โดยคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) อนุมัติไปอีก 600 กว่าเครื่องซึ่งมาตรการนี้ก็ถือเป็นอีกกลไกหนึ่งไม่ให้ผลผลิตออกมากดทับราคาในตลาด รวมทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่อาจมีราคาตกต่ำบ้างในช่วงที่ผลผลิตออกมากระจุกตัว ก็ได้ใช้วิธีเดียวกันในการชะลอการจำหน่าย เมื่อสถานการณ์ราคาดีขึ้นก็ค่อยนำผลผลิตออกมาขาย

ข้าวโพด

ส่วนปาล์มน้ำมันก็มีการบริหารจัดการสต็อกเร่งการส่งออกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดแบบกระจุกตัวทำให้ราคาในประเทศขยับขึ้นบวกกับมาตรการด้านกฎหมายที่เข้มงวดในการเคลื่อนย้ายทั้งนำเข้าและส่งออก

ข้าว

“ พืชแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน ทำให้การดูแลเรื่องราคา หรือรายได้ของเกษตรกรต้องใช้วิธีที่แตกต่างกันตามความเหมาะสม แต่ยืนยันว่ากระทรวงพาณิชย์ดูแลครอบคลุมทุกชนิด ทั้งผักและผลไม้ โดยในส่วนของผักยอมรับว่าจะมีราคาที่ผันผวนอย่างมากตามฤดูกาล ซึ่งจะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ขณะที่ผลไม้แต่ละชนิดก็จะใช้วิธีผลักดันการส่งออกนอกพื้นที่ และการส่งออกไปต่างประเทศ รวมทั้งการทำเกษตรแบบพันธะสัญญาหรือคอนแทคฟาร์มมิ่ง

ประกันรายได้ข้าว พระเอกฟื้นเศรษฐกิจ “จุรินทร์”ลั่นเดินหน้าปี4ต่อ

โดยยึดเอาหลัก”อมก๋อย โมเดล” มาใช้เนื่องจากประสบความสำเร็จจากการร่วมมือกับโรงงานผู้ผลิตทำสัญญารับซื้อผลผลิตมะเขือเทศจากเกษตรกรในพื้นที่ทำให้ผลผลิตไม่ล้นตลาด ไม่มีปัญหาด้านราคา อีกทั้งนำนวัตกรรมการแปรรูปมาใช้กับสินค้าเกษตรเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า  เช่น มันสำปะหลังทำเป็นภาชนะ ข้าวทำเป็นเครื่องสำอาง ส่งผลดีกับเกษตรกร สร้างรายได้ให้กับประเทศ”