เริ่มแล้วนับหนึ่งประมูลคลื่นวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม 71 คลื่นความถี่

21 ก.พ. 2565 | 00:52 น.

เริ่มแล้วนับหนึ่งประมูลคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงในระบบเอฟเอ็มจำนวน 71 คลื่นความถี่ กสทช. คาดได้เงินประมูลอย่างน้อย 400 ล้านบาทขึ้นไป

วันนี้  21 กุมภาพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กำหนดจัดประมูลคลื่นความถี่ในระบบเอฟเอ็ม สำหรับการให้บริการกระจายเสียงประเภทกิจการทางธุรกิจ ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ประมูลคลื่นทั้งสิ้น 71 คลื่นความถี่

 

การประมูลคลื่นความถี่ออกเป็น 4 รอบดังนี้

  • รอบที่ 1 ประมูล 18 คลื่นความถี่
  • รอบที่ 2 ประมูล 22 คลื่นความถี่
  • รอบที่ 3 ประมูล 18  คลื่นความถี่
  • รอบที่ 4 ประมูล 13 คลื่นความถี่

 

สำหรับราคาเริ่มต้นการประมูลคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงในครั้งนี้ ได้มีการคำนวณโดยคำนึงถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละพื้นที่ ซึ่งพื้นที่ให้บริการในเขตกรุงเทพมหานครฯและปริมณฑล มีราคาเริ่มต้นการประมูลสูงสุดอยู่ที่ 54,8300,000 บาท ส่วนพื้นที่ให้บริการในเขตภูมิภาคราคาเริ่มต้นการประมูลต่ำสุดคือ 105,000 บาท โดยการเสนอราคาแต่ละคลื่นจะแปรผันไปตามมูลค่าคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง โดยการเสนอราคาต่อครั้งสูงสุดคือ 500,000 บาท และต่ำสุดคือ 4,000 บาท เบื้องต้นคาดว่าการประมูลครั้งนี้จะสร้างรายได้จากการประมูล ประมาณไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท ทั้งนี้ เงินรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่หลังหักค่าใช้จ่ายในการประมูล จะนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป

 

นายนที ศุกลรัตน์ คณะกรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า การประมูลครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่กิจการวิทยุจะเข้าสู่ระบบใบอนุญาตถึงปี 2567 จำนวนคลื่นความถี่ที่ประมูลมีจำนวน 74 คลื่นความถี่ แต่มีผู้ประกอบการสนใจเข้าประมูล 71 คลื่นความถี่เท่านั้น  คาดว่าจะได้เงินเข้าประมูลอย่างน้อยสุด 400 ล้านบาทขึ้นไป  ส่วนคลื่นที่เหลืออีกจำนวน 3 คลื่นความถี่ที่ไม่มีเอกชนยื่นข้อเสนอจะนำเข้าที่ประชุมบอร์ด กสทช.เพื่อกำหนดนโยบายจะประมูลต่อหรือไม่

 

นที ศุกลรัตน์

 

“ที่ กสทช.ต้องประมูลในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากว่าคลื่นวิทยุที่จะสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 3 เมษายน 2565 ถ้าไม่ดำเนินการในตอนนี้ก็ต้องปิดระบบ หลังจากได้ผู้ประมูลแล้วในวันที่ 4 เมษายน 2565 กสทช.ดำเนินการคุ้มครอง เข้าสู่ระบบใบอนุญาตเป็นระยะเวลา 7 ปี" นายนที กล่าว

 

สำหรับการประมูลจะแบ่งเป็น 4 รอบ รอบละ 60 นาที

  • รอบแรกเริ่มประมูลเวลา 09.30-10.30 น. จำนวน 18 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 8 คลื่นความถี่ ภาคกลาง 6 คลื่นความถี่ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 คลื่นความถี่
  • รอบที่ 2 เริ่มประมูลเวลา 11.30-12.30 น. จำนวน 22 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นภาคเหนือ 10 คลื่นความถี่และภาคใต้ 12 คลื่นความถี่
  • รอบที่ 3 เริ่มประมูลเวลา 13.30-14.30 น. จำนวน 18 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 คลื่นความถี่และภาคเหนือ 6 คลื่นความถี่
  • และรอบที่ 4 เริ่มประมูลเวลา 15.30-16.30 น. จำนวน 13 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 คลื่นความถี่และภาคใต้ 8 คลื่นความถี่ หลังจากการประมูลเสร็จสิ้น จะมีการประชุม กสทช. เพื่อรับรองผลการประมูลและสำนักงาน กสทช. จะประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูล

 

เอกชนที่เข้าร่วมประมูล

  • บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ยื่นประมูลคลื่นความถี่จำนวน 6 คลื่นความถี่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่วนภาคเหนือ จำนวน 14 คลื่นความถี่ ,ภาคกลาง จำนวน 6 คลื่นความถี่ , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  จำนวน 15  คลื่นความถี่ และ ภาคใต้ จำนวน 14 คลื่นความถี่ รวมทั้งสิ้น 55 คลื่นความถี่
  • บริษัท ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค 24 ชั่วโมง จำกัด ในเครือบมจ.อสมท ยื่นประมูลทั้งสิ้น 44 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร จำนวน 1 คลื่น คือ คลื่น 98.50 เมกะเฮริตซ์, ภาคกลาง จำนวน 6 คลื่นความถี่,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 15 คลื่นความถี่ และ ภาคใต้ จำนวน 10 คลื่นความถี่
  • บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ แกรมมี่ ยื่นประมูลเพียงคลื่นเดียว คือ คลื่นความถี่ 106.5 เมกะเฮิรตซ์  นอกจากนี้ยังมีบริษัท เดือนเต็มธุรกิจ จำกัด  ยื่นประมูลจำนวน 3 คลื่นที่ภาคเหนือ
  • บริษัท ดินดิน จำกัด ยื่นประมูลจำนวน 5 คลื่นความถี่ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, บริษัท คาร์บอนเท็กซ์ อินเตอร์เทรด จำกัด ,บริษัท รุ้งรชต บรอดแคสติ้ง จำกัด, บริษัท เค.ซี.เอส.แอ๊ดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด หนองเรือเรดิโอ เป็นต้น.