ลดภาษีดีเซล 3 บาท สินค้า-ค่าขนส่ง ชะลอปรับราคาแค่ชั่วคราว

20 ก.พ. 2565 | 05:28 น.

คณะรัฐมนตรี (ครม.) 15 ก.พ. 2565 มีมติเห็นชอบ การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งมีผลทำให้ราคาขายปลีกกลุ่มน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลง จากราคาขายปลีกเคยอยู่ที่ลิตรละ 29.94 บาท ลดลงเหลือลิตรละ 27 บาท (ล่าสุดลดลงเหลือ 27.94 ต่อลิตร)

 

ทั้งนี้กระทรวงการคลัง ได้ออกเป็นกฎกระทรวงและประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยการปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่น ๆ ที่คล้ายกันลิตรละ 3 บาทนี้ มีผลแล้วถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.ถึง 20 พ.ค. 2565)

 

ขณะที่กระทรวงพลังงานจะเร่งจัดประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรให้ได้ถึง 31 พฤษภาคม 2565

 

ลดภาษีดีเซล 3 บาท  สินค้า-ค่าขนส่ง ชะลอปรับราคาแค่ชั่วคราว

 

การปรับลดภาษีสรรพสามิตดังกล่าวของรัฐบาลต้องยอมรับว่า มีแรงกดดันสำคัญจากก่อนหน้านี้สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยได้ออกมาเคลื่อนไหวและยื่นคำขาดให้รัฐบาลต้องดึงราคาน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญลงให้เหลือไม่เกิน 25-27 บาทต่อลิตร (จุดคุ้มทุนภาคขนส่งระบุอยู่ที่ดีเซลไม่เกินลิตรละ 25 บาท) ไม่เช่นนั้นจะปรับขึ้นค่าขนส่งอีก 15-20%  หากไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล

 

ขณะที่ผลการสำรวจผู้บริหารธุรกิจของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุ จากผลกระทบการขาดแคลนวัตถุดิบ และต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นทั้งค่าพลังงาน ค่าขนส่ง และภาระค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน ผู้บริหารสัดส่วน 40.0% ระบุจะตรึงราคาสินค้าได้อีกเพียง 1-2 เดือน, 30.7% ตรึงได้อีก 3-4 เดือน และ 16.7% มากกว่า 6 เดือน

 

ก่อนหน้านี้สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วประเทศได้ปรับราคาขึ้นไปแล้วหลายรายการ โดยที่บางส่วนของสินค้าและบริการ ภาครัฐโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ไม่สามารถควบคุมดูแลการปรับราคาได้อย่างทั่วถึง ส่งผลค่าครองชีพของประชาชน และเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมาก ขณะที่รายได้ของประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด “โอมิครอน” ที่กำลังแพร่ระบาดไม่ได้เพิ่มขึ้น เป็นภาระหนักของรัฐบาลที่ต้องมีมาตรการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และช่วยเพิ่มกำลังซื้อ

 

อย่างไรก็ดีเสียงสะท้อนของผู้ประกอบการภาคเอกชน หลัง ครม.เห็นชอบลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาทเป็นการชั่วคราวนาน 3 เดือนส่วนใหญ่ระบุจะช่วยตรึงราคาสินค้าและบริการออกไปก่อน โดยนายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางสมาพันธ์ฯจะยังตรึงค่าขนส่งออกไปก่อน เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมประชาชนและห่วงโซ่ที่เกี่ยวข้อง แต่การตรึงค่าขนส่งนี้จะทำได้นานแค่ไหนขึ้นกับราคาดีเซลจะปรับขึ้นอีกหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของภาครัฐ

 

ส่วนภาคการผลิต นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท.ชี้ว่า การลดภาษีสรรพสามิตลิตรละ 3 บาท ที่จะมีผลให้ราคาน้ำมันดีเซลถูกลง และค่าขนส่งยังไม่ปรับขึ้น จะช่วยทำให้การปรับขึ้นราคาสินค้าต่าง ๆ ของสมาชิก ส.อ.ท. รวมถึงสินค้าโดยทั่วไปชะลอออกไปได้อีกระยะหนึ่ง

 

ขณะที่ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ส.อ.ท. และรองประธานกรรมการหอการค้าไทย ชี้ว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นและยังผันผวน (ยังอยู่ระดับมากกว่า 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และน้ำมันสำเร็จรูปทั่วไปทั้งกลุ่มดีเซล เบนซิน และแก๊สโซฮอล์ เฉลี่ย 30-43 บาทต่อลิตร ณ 16 ก.พ. 65) มีผลให้ราคาสินค้า วัตถุดิบ และค่าขนส่งที่เกี่ยวเนื่องปรับตัวสูงขึ้น กระทบผู้ประกอบการมากจากแบกต้นทุนเพิ่ม แต่การปรับราคาขายเป็นเรื่องยาก เกรงผู้ประกอบการที่แบกรับภาระต้นทุนไม่ไหวจนต้องปิดกิจการ การปรับลดภาษีสรรพสามิตดีเซลครั้งนี้เอกชนเห็นด้วย เพราะช่วยบรรเทาผลกระทบได้ระดับหนึ่ง

 

จากเสียงสะท้อนภาคเอกชนที่เกี่ยวเนื่องข้างต้น ที่ไม่สามารถรับปากได้อย่างชัดเจนว่าจะสามารถช่วยตรึงราคาสินค้าและค่าขนส่งได้นานแค่ไหน โดยระบุขึ้นกับการบริหารจัดการในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ขณะที่มีปัจจัยเสี่ยงจากปัจจัยนอกประเทศที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน แม้เวลานี้ดูเหมือนจะคลี่คลายลงหลังจากรัสเซียเริ่มถอนทหารบางส่วนออกจากชายแดนยูเครน แต่เวลานี้ยังมีความขัดแย้งระหว่างประเทศอีกหลายคู่ที่เป็นความเสี่ยงต่อราคาน้ำมันและเศรษฐกิจโลกจะเกิดความผันผวน อาทิ สหรัฐฯ-อิหร่าน, อิหร่าน-อิสราเอล, จีน-ไต้หวัน, ซาอุดีอาระเบีย-เยเมน เป็นต้น

 

ขณะเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวหลังโควิดคลี่คลาย มีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่ม ส่งผลต่อราคาน้ำมันยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ดังนั้นราคาสินค้าและค่าขนส่งของไทย ณ เวลานี้จึงถือเป็นการชะลอการปรับขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น

 

หน้า  9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3759 วันที่ 20 -23 กุมภาพันธ์ 2565