อัพเดท"ภาษีน้ำมันดีเซล"ใหม่ หลังครม.ล่าสุดมีมติลด 3 บาท/ลิตร

15 ก.พ. 2565 | 09:11 น.

ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง "ลดภาษีน้ำมันดีเซล" 3 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลานาน 3 เดือน เช็คข้อมูลอัพเดทน้ำมันดีเชลแต่ละประเภท เสียภาษีเท่าไหร่ที่นี่

หลังจาก ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบลดภาษีน้ำมันดีเซล โดยออกเป็นร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และน้ำมันอื่น ๆ ที่คล้ายกัน ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 20 พ.ค.2565 

 

ทั้งนี้ในการดำเนินการก็เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผ่านราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่ลดลงโดยตรง และสะท้อนไปยังราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จะลดลงตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้โครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ปรับลดประมาณ 3 บาทต่อลิตร 

สำหรับการ ลดภาษีน้ำมัน ตามมติครม.ดังกล่าว กระทรวงการคลังได้กำหนดรายละเอียด ของอัตราภาษี โดยแยกเป็นแต่ละประเภท 

อัตราภาษีน้ำมันดีเซลใหม่

  • น้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถัน เกินร้อยละ 0.005 โดยน้ำหนัก อัตราภาษีเดิม 6.440 บาท อัตราภาษีใหม่ 3.440 บาท
  • น้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถัน ไม่เกินร้อยละ 0.005 โดยน้ำหนัก อัตราภาษีเดิม 6.440 บาท อัตราภาษีใหม่ 3.440 บาท
  • น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสม ไม่เกินร้อยละ 4 อัตราภาษีเดิม 6.440 บาท อัตราภาษีใหม่ 3.440 บาท 
  • น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสม เกินร้อยละ 4 แต่ไม่เกินร้อยละ 7 อัตราภาษีเดิม 5.990 บาท อัตราภาษีใหม่ 3.200 บาท 
  • น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมเกินร้อยละ 7 แต่ไม่เกินร้อยละ 9 อัตราภาษีเดิม 5.930 บาท อัตราภาษีใหม่ 3.170 บาท 

 

ทั้งนี้ อัตราภาษีใหม่ จะมีผลตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 20 พ.ค. 2565 จากนั้นตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. 2565 จะกลับสู่อัตราภาษีเดิม

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การลดภาษีน้ำมัน ครั้งนี้ ประเมินว่า แม้จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันประมาณ 17,100 ล้านบาท จากปริมาณน้ำมันที่มีการชำระภาษี 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 ที่จัดเก็บลดลงประมาณ 5,700 ล้านบาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน

 

แต่จะเป็นการช่วยเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมการผลิต การเกษตร การท่องเที่ยวและบริการ และการขนส่ง