ฟังเต็ม “รัฐมนตรีเกษตรฯ” ชี้แจง อภิปรายทั่วไป ตามมาตรา 152

18 ก.พ. 2565 | 10:51 น.

ถอดคำพูด “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจง “ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร” ละเอียดยิบ สั่งกรมวิชาการเกษตร ทบทวน ตรวจรับรอง GAP ผลไม้ ไม่ผลักภาระให้กับเกษตรกร

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นวันที่สอง ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตร 152 เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี  หนึ่งในปัญหาที่เป็นหัวข้อในการซักฟอก เป็นเรื่องของโรคอหิวาต์​แอฟริกา​ใน​สุกร  หรือ โรค ASF  (​ African Swine Fever) รวมถึงเรื่องกรมวิชาการเกษตร ที่จะมีการถ่ายโอนภารกิจมอบให้เอกชนรับรองแปลงสวน GAP ตาม มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2554  ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นมา นำร่องแปลงที่มีพื้นที่มากกว่า 50 ไร่

 

ปีที่สอง จะถ่ายโอนตั้งแต่พื้นที่ 20 ไร่ ขึ้นไป ปีที่สาม จะถ่ายโอนตั้งแต่ พื้นที่ตั้งแต่ 10 ไร่ ขึ้นไป และในปีสุดท้ายจะถ่ายโอนภารกิจทั้งหมด โดยที่กรมวิชาการเกษตรจะตรวจรับรองให้เฉพาะสมาชิกของกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร เกษตรแปลงใหญ่ และกลุ่มวิสาหกิจ ชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทางราชการจัดตั้งขึ้นมาเท่านั้น

 

โดย มี 6 บริษัท/สถาบัน ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) แล้ว ประกอบด้วย สถาบันรับรองระบบการผลิต ผลิตภัณฑ์การเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้, บจก.ทูฟ นอร์ด (ประเทศไทย), บจก.เอ-วัน ฟิวเจอร์ ,

 

6 บริษัท แบ่งเค้ก GAP

 

บจก.ห้องปฏิบัติการกลาง-ประเทศไทย (เซ็นทรัลแล็บ), สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, และ บมจ.ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเชีย โดยค่าใช้จ่ายในการตรวจรับรองแต่ละบริษัทจะเป็นคนกำหนดราคาเอง โดยใบรับรอง GAP มีอายุ 3 ปี ราคา 1.2-2.7 หมื่นบาทต่อแปลง นั้น

 

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มาชี้แจงในรัฐสภาว่า ต้องขอขอบคุณพรรคประชาธิปัตย์ที่ให้เวลาตนมาชี้แจง ตอบประเด็นเพิ่มเติมจากที่ คุณประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ชี้แจงไปเมื่อวานแล้ว  ซึ่งจะเป็นการชี้แจงข้อเท็จจริง และเป็นความจริง ในหลายประเด็นที่สมาชิกได้อภิปรายไม่ตรงกับความเป็นจริง ถ้าปล่อยให้มีความสับสน แม้กระทั่งพี่น้องประชาชนที่ฟังทางบ้านได้รับทราบข้อมูลที่ไม่ใช่ความจริงก็จะเกิดความสับสนได้ก็จะถือโอกาสนี้ขอชี้แจงแล้วอธิบาย และในขณะเดียวกันต้องขอขอบคุณสมาชิกผู้มีเกียรติที่ได้เสนอแนะ

 

“ผมจะรับข้อเสนอแนะนำมาปฎิบัติด้วยความขอบคุณอย่างยิ่ง สิ่งไหนที่ปฎิบัติได้ แล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน และพี่น้องเกษตรกร ด้วยความยินดีเลย และผมก็ได้กำชับในส่วนข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำไปดำเนินการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย”

 

หมูลักลอบ

 

 

ก่อนอื่นผมอยากจะขอเรียนแบบนี้ว่า คนเราทุกคนหากมองย้อนไปในอดีต สิ่งที่เกิดขึ้นต่างๆ แล้วนำมาพูด นำมาวิจารณ์ เชื่อว่าเห็นปัญหาหมด ท่านเก่งทุคน เพราะเป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้ว แต่ในความเป็นจริง ทราบหรือไม่ว่า ในสถานการณ์ต่างๆ ที่จะต้องมีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า คนที่ทำงาน ข้าราชการ ผู้ที่รับผิดชอบต้องทำงานหนักแค่ไหนกว่าจะผ่านอุปสรรคในแต่ละขั้นๆ

 

“แต่ละช่วงมาได้ วันนี้ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่มีใครเพิกเฉย ไม่มีใครอยากให้เกิด คนทำงานทุ่มเทการทำงาน ไม่มีใครอยากให้มีปัญหาเกิดกับพี่น้องเกษตรกร ไม่มีใครอยากก่อให้เกิดปัญหากับผู้บริโภค ในกรณีของสุกร ผมเชื่อมั่นว่า ไม่มีใครที่คิดอย่างนั้น แล้วผมก็เชื่อมั่นว่าถ้ามีความคิดอย่างนั้นเกิดขึ้นในคนใดก็แล้วแต่ คนนั้นเลวมาก”

 

ดร.เฉลิมชัย ร่ายยาวต่ออีกว่า ตนเข้าใจสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนมีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกร และห่วงใยพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งหมด ในฐานะที่เป็นนักการเมือง ผมเองก็เป็นนักการเมือง เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นผมอยากเรียนว่าความรู้สึกเราไม่แตกต่างกัน ผมเองก็มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกร ผมเองก็มีความห่วงใยผู้บริโภคที่เป็นประชาชนคนไทย ไม่อยากให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกระทบหรือเดือดร้อนเด็ดขาด เพราะฉะนั้นสิ่งที่พูดจากนี้จะเป็นการชี้แจงเพิ่มเติมประเด็นที่ รมช.ประภัตรฯ  ได้พูดชี้แจง

 

ฟาร์มสุกร

 

โรคอหิวาต์​แอฟริกา​ใน​สุกร  หรือ โรค "ASF"   (​ African Swine Fever) เกิดขึ้นมา 100 ปี  นับจากวันแรก ระบาดไปทั่วโลก เริ่มระบาดในประเทศจีน ปลายปี 2561 ใช้เวลาเพียง 6 เดือน ทำลายหมู 300-500 ล้านตัว มาที่ประเทศเวียดนาม ใช้เวลาแค่ 3 เดือน ทำลายหมูไป กว่า 10 ล้านตัวเศษ และก็ลามมาเรื่อยๆ ประเทศข้างเคียงประเทศไทยเกิดโรคระบาดทั้งหมด นี่คือสิ่งที่บอกว่า การระบาดของโรค ASF ในสุกร เป็นการระบาดที่รวดเร็ว มีช่องทางการระบาดหลายช่องทาง ในสภา มีหลายคนได้พูดไปแล้วว่า เชื้อมีความคงทนอย่างไร ระบาดอย่างไรบ้าง เพราะฉะนั้น คือสิ่งที่จะบอกว่า ไม่ได้ง่ายในการที่จะป้องกัน

 

จากวันนั้นถึง วันนี้ที่ใช้เวลาป้องกันไม่ให้มีเชื้อโรค ASF  ในประเทศไทย 3 ปี เต็ม เราถึงตรวจว่ามีการตรวจเจอเชื้อโรค และการตรวจเจอเชื้อ ผมเรียนว่า ในทางการจะต้องเป็นการตรวจเจอเชื้อและรับรองโดยกรมปศุสัตว์ ถึงจะประกาศว่าเรามีเชื้อนี้ในประเทศไทย และ โรค ASF ไม่มีวัคซีน ณ วันนี้ผ่านมา 101 ปี ยังไม่มีวัคซีน ประเทศที่มีความทันสมัยกว่าเรา ได้มีการทดลอง แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นหากวันนี้ใครมีวัคซีน เป็นของปลอมทั้งหมดเลย ในความเป็นจริงยังอยู่ในขั้นตอนของการทดลอง แม้กระทั่งในประเทศไทย

 

สำหรับวัคซีนในประเทศไทยจะมีการทดลองขั้นสุดท้าย ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม แล้วจะบอกกับพี่น้องประชาชนว่าเราประสบความสำเร็จแค่ไหน เราทำมาตลอด เราจับมือกับสถาบันอุดมศึกษา เพื่อที่จะพัฒนาวัคซีนด้วยตัวของเราเอง ดังนั้นภายในเดือนพฤษภาคมนี้ จะทราบ และเป็นความหวังของทุกคน เราได้รับข่าว รับทราบ จาก  OIE และเว็บไซต์ต่างๆ ประมาณปลาย ปี 2561

 

 

"ผมอยากเรียนสมาชิกผู้ทรงเกียรติว่าเราสามารถป้องกันโรคได้ถึง 3 ปี เราได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีการป้องกันโรค ASF  ได้ดีที่สุดในอาเซียน คงไม่ได้มาง่าย คงไม่สามารถที่จะไปบังคับใครที่จะมาบอกว่า เรามีการป้องกันที่ดีเยี่ยม นอกจากยอมรับในตัวเอง เพราะแต่ละท่านเป็นนักวิชาการที่มีความรู้ทั้งสิ้น นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะบอกประเด็นแรกว่าไม่มีการปกปิดทั้งสิ้น จะปกปิดได้อย่างไร รัฐบาลก่อน ซึ่งผมจะเข้ามาบริหาร นายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการในส่วนของเรื่องนี้ รัฐบาลมีประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ในเรื่องของโรค ASF ไม่มีใครปิดบังกันได้ ทุกฝ่ายทราบ เกษตรกรทราบ ว่าจะมีการระบาด มาตรการต่างๆ ถึงได้เกิดขึ้น"

 

เข้มงวด

 

ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่า ผมยืนยันอีกครั้งว่าไม่มีการปกปิดแน่นอน ไม่มีใครได้ประโยชน์ทั้งสิ้นการดำเนินการนั้นในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ผมเรียนว่า ได้มีการดำเนินการมาตรการต่างๆทุกอย่าง รวมถึงการจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้กับเกษตรกรรายเล็กและรายย่อย เหตุจำเป็นที่จะต้องชดเชยเพราะว่า ไม่มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีเท่าเทียมกับฟาร์มขนาดกลาง ขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเข้าไปดูแล”

 

ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่า ในโอกาสนี้ผมขอถือโอกาสขอบคุณสมาคมผู้เลี้ยงสุกร ผู้ประกอบการ และผู้ประกอบในส่วนวงจรของผู้เลี้ยงสุกรทั้งระบบ ก่อนที่รัฐบาลจะจัดสรรเงินงบประมาณไปให้เป็นการชดเชยแต่ละเอกชน ควักเงินลงขัน เป็น 100 ล้านบาท เพื่อนำมาดำเนินการตัดวงจร ให้เกษตรกรรายย่อย จนกระทั่งมีการตั้งคณะทำงานแห่งชาติ และมีการประชุม จนมีการพูดคุยกันว่า หากให้เอกชนอย่างเดียว จะรับภาระไม่ไหว นั่นคือที่มาของการเรี่มต้นเสนอของบประมาณจากรัฐบาล ผ่านครม.

 

หลักเกณฑ์เยียวยา เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู

 

"ในการจ่ายเงินชดเชยผมเรียนว่า ไม่ใช่นำไปจ่ายเงินในกรณีที่ สุกร เป็นโรค ASF  ไม่ใช่ เป็นหนึ่งในมาตรการของการป้องกัน เพื่อที่จะไม่ให้เกิดโรคขึ้น เพราะฉะนั้นกลุ่มที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงกับการที่จะเป็นโรค ASF ทั้งหมดจะถูกทำลายทั้งหมด และได้ทำการชดเชย 2 ใน 3 ก็คือ ประมาณ 75% นี่คือ ที่มาของเงินที่เริ่มจากภาคเอกชน มาเติมด้วยภาครัฐ งบประมาณ 1,100 ล้านบาท เงินถึงมือเกษตรกร ผมกำชับข้าราชการให้เงินถึงมือเกษตรกรโดยเร็วที่สุด เพราะว่ามีความเดือดร้อนแท้จริง"

 

พร้อมกับมาตรการที่จะดำเนินการในการฟื้นฟูพี่น้องเกษตรกรรายเล็ก รายย่อยให้กลับมาเลี้ยงสุกรได้เหมือนดังเดิม ซึ่งได้มีการประชุมไปเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา จากนักวิชาการต่างประเทศที่ผ่านการเป็น โรค ASF มาแล้ว สรุปเพื่อหามาตรการที่จะใช้ในการฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อยให้เหมาะสมกับประเทศไทย คณะกรรมการทางวิชาการ อาจารย์ มหาวิทยาลัยต่างๆ ดำเนินการทุกอย่าง เมื่อได้ข้อสรุปก็จะนำเสนอเข้าคณะกรรมการ ASF เพื่อที่จะออกเป็นมาตรการ แล้วให้รัฐบาลเข้ามาดูว่าเราจะไปช่วยอย่างไรได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นวิธีการเลี้ยง พื้นที่เลี้ยง รวมถึงเงินทุนต่างๆ ไม่ได้ปล่อยปละละเลย จนกระทั่งเหตุการณ์ได้ดำเนินการมาถึงเมื่อวาน

 

ควบคุมโรค

“ผมได้เห็นรูปผมขึ้นบนพาวเวอร์พอยท์ กำลังยิ้มอยู่ ผมก็เห็นว่าดูดีพอสมควร อยากจะชี้แจงในประเด็นนี้ว่า วันที่ 24 ธันวาคม 2563 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย รายกลาง  รายใหญ่ ทั้งหมดได้จัดงานขึ้น โดยผมเป็นแขกรับเชิญในงาน ไม่ได้ใช้เงินของรัฐบาลแม้แต่สักบาทเดียว เป็นการจัดงานขึ้นโดยวัตถุประสงค์เพื่อที่จะขอบคุณกระทรวงเกษตรฯ และกรมปศุสัตว์ ว่าดำเนินการป้องกันโรค ASF ได้ผล ไม่ได้เชิญผมคนเดียว ไม่ได้เชิญอธิบดี แต่เชิญข้าราชการที่เป็นฝ่ายปฎิบัติการ ทั้งหัวหน้าด่านต่างๆ มารับโล่รางวัล เพราะฉะนั้นจะแตกกต่างกันมาก”

 

ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่า สิ่งที่ท่านพูดอภิปราย ราวกับเสมือนกับว่าผมเป็นคนจัดงาน เพื่อกลบเกลื่อนการระบาดของโรค ASF  นี่คือปลายปี 2563 วันนี้คณะผู้จัดงานยังอยู่ครบทุกคนไปถามได้เลยว่าสิ่งที่พูดเป็นความจริงหรือไม่ ผู้จัดงานได้เชิญไปเพื่อแสดงความขอบคุณ ผมไม่กล้าไปยืนหน้าเศร้าบนเวที ผมก็ต้องยิ้มและแสดงความยินดีกับเค้าด้วย และยิ้มเพื่อเป็นกำลังใจให้กับเค้าในการที่จับมือกันฟันฝ่าอุปสรรคในการที่จะป้องกันโรค ASF ต่อไปในวันข้างหน้า

 

"นี่เป็นเหตุผลที่จัดงานเพราะมีโอกาสได้พูดคุยกันว่าถ้าไม่มีมาตรการอะไรออกมา กลางปี 2563 โรคจะระบาดไปทั้งประเทศ นี่คือ สิ่งที่เค้าจัดงานเพื่อที่จะขอบคุณและกำลังใจให้กับผู้ปฎิบัติงานทั้งหมด ไม่ใช่ปิดบัง จัดอย่างเปิดเผย เป็นที่รับรู้ของสังคมทั้งหมด และวันนี้ผมก็เชื่อว่าทุกคนยังมีชีวิตอยู่ สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด นี่คือข้อเท็จจริง"

 

ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่า แต่ถ้าผมเป็นคนจัดงานวันนั้น ทำเพื่อกลบเกลื่อน ผมไม่กล้าไปว่าคนอื่น ผมเลวจริง แต่ไม่ใช่สิ่งที่ท่านพูด แล้วนำมาฉายภาพ นี่เป็นชี้แจงข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น นั้นเป็นภาพสะท้อนการป้องกันของโรคในภาครัฐเราได้ผล หากไม่ได้ผลคงจะไม่ควักเงินส่วนตัวนำมาจัดงานเพื่อแสดงความขอบคุณ แสดงน้ำใจหรอก

 

สำหรับในส่วนของการส่งออกสุกรออกไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสุกรเนื้อเป็น และชิ้นส่วนสุกร ไม่มีการเอื้อให้กับนายทุนให้กับรายใหญ่ทั้งสิ้น เอกสารสามารถตรวจสอบได้ว่ามีบริษัทไหนบ้างที่ส่งหมูเป็น ชิ้นส่วน เป็นเอกสารราชการไม่มีใครโกหกได้ ในบริษัทที่ส่งไป “สุกรมีชีวิต”  ไม่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ มีแต่บริษัทโบกเกอร์ บริษัทตัวแทนผู้เลี้ยงบ้าง อาจจะมีบ้างเล็กน้อยในส่วนของสุกรชิ้นส่วน ซากสุกร เพราะบริษัทก็ประกอบอาชีพ  ถ้ทำธุรกิจโดยสุจริตไม่ผิดกฎหมาย ก็มีสิทธิที่จะทำเท่ากับคนอื่น แต่ไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้กับใครทั้งนั้นโดยเด็ดขาด

 

การเคลื่อนย้ายหมู

 

"กรณีในการเคลื่อนย้ายสัตว์ มีเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ เกี่ยวข้อง ไปเรียกรับผลประโยชน์ ใบละ 1,000-3,000 บาท ก็ต้องขอขอบคุณที่แจ้งเบาะแส กรุณาให้ข้อมูลมาเลย จะดำเนินการอย่างเด็ดขาด ไม่ไว้หน้าใครทั้งสิ้น ให้ท่านมาจับมือกันมาช่วยแก้ไขปัญหาผมพร้อม พร้อมที่จะรับฟัง ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็น อะไรที่เป็นประโยชน์ นี่คือประเทศไทยผมพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกฝ่าย ไม่ได้เล่นการเมืองเพื่อที่กอบโกยหาผลประโยชน์"

 

วันนี้สมาคม โบรกเกอร์ ผู้เลี้ยงสุกร และผู้ประกอบการทั้งหมด ผมฝากท่านช่วยกัน สอบถาม ภาคเอกชนและบุคลากรเหล่านั้น ใครที่ไปรับเงินท่านมา และท่านคอยดูนะว่าผมจะไว้หน้าใครบ้าง ท่านช่วยผมนะ ผมขอความกรุณา และมาคุยกับผมได้ พร้อมที่จะคุยกับท่านทุกเวลา ถ้าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกร เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ผมไม่ปฎิเสธ ยินดี พร้อมทำเต็มที่ เพราะฉะนั้นผมขอยืนยันสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่าไม่ได้มีการปกปิด เรามีการออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมปศุสัตว์ เป็น 100 ฉบับ ตั้งแต่ปลายปี 2561  เป็นต้นมา

 

มาตรการในการควบคุม การเคลื่อนย้าย การปฎิบัติของเจ้าหน้าที่ เดือนหนึ่ง บางครั้ง 2-3 ประกาศที่ออกมา ถึงยันโรค ASF ได้ถึง 3 ปี  ถ้าไม่มีมาตรการต่างๆ เหล่านี้ มีการคาดคะเนว่าไม่เกินกลางปี 2563 ประเทศไทยเรียบร้อย แล้วกระทบแค่ไหน วันนี้ประเทศจีนเพิ่งฟื้นมาได้ 50-60% นี่คือสิ่งที่รัฐบาลได้ทำแล้วก็ห่วงใยพี่น้องประชาชนผมได้เรียนกับท่านนายกรัฐมนตรีตลอดเวลา ท่านกำชับว่าให้แก้ปัญหาให้ได้ เหมือนกรณีที่ราคาหมูปรับขึ้นมา มีเรื่องราวมาตั้งแต่เดือน พฤษภาคม ที่ผ่านมาว่า หมูหายไปจากท้องตลาด 50-60%

 

"เมื่อไปดูตัวเลข อาจจะเห็นว่า ใช่ เพราะหากนำตัวเลขในเดือนมกราคม 2565 นำไปเปรียบเทียบกับปี 2564 ทั้งปี แต่อีก 11 เดือน หมูที่จะมีการผลิต มีการดูแล จะเข้ามา วันนี้ผมสั่งคิดตัวเลข โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงมหาดไทย หมูขาดไปประมาณ 11.8% ขาดไหม ขาดเพราะมีปัญหา หลายคนแม้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีที่เลี้ยงสุกร ท่านก็ทราบว่ามีปัญหา ได้ทยอยขายไปก่อน แล้วรอคอยโอกาสดี แล้วค่อยกลับมาเลี้ยงใหม่"

 

สถานการณ์นี้ปะปนกันไปหมดไม่ใช่ว่าทุกอย่างเสียหายทั้งหมด แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นผมไม่ปัดความรับผิดชอบ ถึงแม้ว่า กรมปศุสัตว์ จะได้มอบกับคุณ ประภัตร  รมช. เป็นผู้กำกับ แต่ผมก็ลงไปช่วยท่านดูแล และเราก็ทำงานแบบทีม ถ้าคิดว่าตรงไหนที่เราควรจะปรับปรุง ที่จะทำ เพื่อที่จะทำให้การป้องกันฟื้นฟูอาชีพการเลี้ยงสุกร ขอให้บอกได้เลย

 

"ผมยินดี กระทรวงเกษตรฯ ยินดีทั้งหมด ที่จะทำงานร่วมกัน ไม่มีปัญหาเพราะว่าผมก็เป็นนักการเมืองแบบเดียวกับท่าน เข้าใจความรู้สึกของท่านทุกอย่างเหมือนกัน เรามีที่มาที่ไปไม่แตกต่างกันมาก มีอะไรขอให้บอกได้ ผมจะลงไปช่วยสอดส่องดูแลให้มากขึ้น”

 

สำหรับในส่วนของ GAP  กรมวิชาการเกษตร มีการถ่ายโอนภารกิจมอบให้เอกชนรับรองแปลงสวน GAP ผลไม้ส่งออก ผมได้สี่งการก่อนที่จะมีการอภิปราย ให้กรมวิชาการเกษตร ไปพิจาณาทบทวนในการแก้ไขปัญหาที่จะไม่ให้กระทบกับพี่น้องเกษตรกร ผมคิดว่าอีกไม่นาน จะมีการทบทวนมติที่ออกมา ในการปรับจาก 50 ไร่ เป็น 20 ไร่

 

เข้ม ซีโร่ โควิด

 

"ผมรับปากว่าจะไปตามให้ และมีการสั่งการไปเรียบร้อยหมดแล้ว ยืนยันกับสมาชิกว่าเราห่วงใยพี่น้องเกษตรกร จะไม่ทำนาบนหลังคน ไม่หาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ บนความทุกข์ของพี่น้อง และไม่ผลักภาระความรับผิดชอบค่าใช้จ่ายไปให้กับประชาชนผู้บริโภค ยืนยันอีกครั้งว่า วันนี้เราทำทุกอย่างเพื่อที่จะให้ปัญหาทุกอย่างคลี่คลายไปโดยเร็วที่สุด และกระทบกับคนน้อยที่สุด"