“ภาษีคาร์บอน” กับ 5 เรื่องที่อุตสาหกรรมไทยต้องเร่งปรับตัว

17 ธ.ค. 2564 | 09:22 น.

หลังการประชุม COP26 ยิ่งเป็นแรง กระตุ้นให้ประเทศทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases : GHG) มากขึ้น หนึ่งในนั้นคือการเก็บ “ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax)”

 

“ภาษีคาร์บอน” กับ 5 เรื่องที่อุตสาหกรรมไทยต้องเร่งปรับตัว

 

หลายประเทศได้มีการเก็บภาษีคาร์บอนภาคการผลิตของประเทศตนเองมาหลายปีแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคการผลิตให้มีปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อลด GHG “เก็บภาษีคาร์บอนสูงเท่าไรจะทำให้ภาคการผลิตลงทุนเพื่อให้ใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น”

 

สหภาพยุโรปเป็นกลุ่มประเทศที่มีนโยบายการเก็บภาษีคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจนมากสุดในขณะนี้ เช่น ประเทศสวีเดนเก็บภาษีคาร์บอนมาตั้งแต่ปี 1991 หลังจากนั้นปริมาณ CO2 ภาคการขนส่งในสวีเดนลดลงมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากภาษีคาร์บอนจะช่วยลดภาวะเรือนกระจกแล้วยังเป็น “การกีดกันการค้าระหว่างประเทศ” ไปพร้อม ๆ กัน (แต่ไม่ผิดกฎ WTO) สหภาพยุโรปเก็บภาษีคาร์บอนทั้งอุตสาหกรรมภายในประเทศและจะเก็บสินค้าที่เข้ามาขายในสหภาพยุโรป 

 

“ภาษีคาร์บอน” กับ 5 เรื่องที่อุตสาหกรรมไทยต้องเร่งปรับตัว

 

นโยบายการเก็บภาษีคาร์บอนในยุโรป เริ่มมาจากเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2562 คณะกรรมาธิการยุโรป (Europe Commission) เสนอแผนปฏิรูปสีเขียว (Europe Green Deal) เพื่อเปลี่ยนเศรษฐกิจยุโรปเป็นเศรษฐกิจแบบยั่งยืน โดยเน้นนโยบายการใช้พลังงานสะอาด (Clean Energy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ปกป้องและฟื้นฟูในภาคอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง อาหาร การเกษตร การก่อสร้าง กลยุทธ์จากฟาร์มสู่โต๊ะอาหาร (Farm to Fork Strategy) เน้นความยั่งยืนในด้านการผลิตอาหาร การกระจายอาหาร การบริโภคอาหาร ป้องกันการสูญเสียอาหาร

 

ยุโรปมีเป้าหมายในปี 2030 ลดก๊าซเรือนกระจกลง 55% (เดิมร้อยละ 40%) และ GHG เป็นศูนย์ในปี 2050 เครื่องมือสำคัญคือการเก็บภาษีคาร์บอนจากสินค้านำเข้าจาก “มาตรการ CBAM (Cross Border Adjustment Mechanism)” และมาตรการ “Fit for 55 Package” ที่ประกอบด้วย

 

 

1.ลด CO2 ในรถยนต์ เรือ เครื่องบินเป็นศูนย์ในปี 2035 โดยเครื่องบินปล่อย CO2 มากสุดตามด้วยเรือและรถยนต์ 2.ในปี 2030 เก็บภาษีคาร์บอนจากบริษัทหรือโรงงานยุโรปหนีไปตั้งในประเทศอื่นแล้วส่งสินค้ากลับเข้ามาขายในยุโรปที่เรียกว่า “Carbon Leakage” 3. ปี 2030 ใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เพิ่มจาก 30% เป็น 50% ในปี 2030 โดยมาตรการ CBAM ให้มีการเตรียมความพร้อมและรายงานข้อมูลในวันที่ 1 ม.ค. 2566 ในกลุ่มอุตสาหกรรม “นำร่อง” คือ ซีเมนต์ เหล็ก ไฟฟ้า ปุ๋ย และอลูมิเนียม โดยคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก “ทางตรง” (ผลิตจากกระบวนการผลิตโดยตรง) และมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบในวันที่ 1 ม.ค. 2569 ซึ่งในอนาคตจะรวมสินค้าอื่นเพิ่มเติมและคิดคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก “ทางอ้อม” (รวมทั้งผลิตสินค้า การซื้อวัตถุดิบมาผลิต การขนส่ง) ด้วย

 

นั่นหมายความการส่งสินค้าเข้าไปในยุโรปหลังวันที่ 1 ม.ค. 2569 ต้องมีการแจ้งปริมาณการปล่อย GHG และมี CBAM Certificate (มีการซื้อขายกันตามราคาภายใต้ EU ETS) หากไม่มี CBAM Certificate ต้องเสียค่าปรับตั้งแต่ 40-100 ยูโร/ตันคาร์บอนเทียบเท่า

 

“ภาษีคาร์บอน” กับ 5 เรื่องที่อุตสาหกรรมไทยต้องเร่งปรับตัว

 

ปัจจุบันประเทศสหภาพยุโรปที่ปล่อย GHG มากสุดคือ เยอรมนี ตามด้วยฝรั่งเศส อิตาลี โปแลนด์ สเปน เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม ฉะนั้นสินค้าอุตสาหกรรมที่ปล่อย GHG ต่อ GDP สูงก็มีโอกาสที่ถูกเก็บภาษีคาร์บอนได้แก่ ปูนซิเมนต์ พลาสติก เตาอบ ปิโตรเลียม เหล็ก ปุ๋ย แก้ว อลูมิเนียม นํ้าตาล (EC, Conversation/CC-BY-ND) กลุ่มเสี่ยงสินค้าอุตสาหกรรมไทยที่ส่งไปยุโรปคือ อลูมิเนียม เหล็กและ ซีเมนต์ แต่ต่อไปจำนวนผลิตภัณฑ์จะมีมากขึ้น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ซีเมนต์และอลูมิเนียม มีแหล่งพลังงานที่ปล่อย GHG มาจากการใช้นํ้ามันเตา ดีเซล ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ภาษีคาร์บอนที่ประเทศต่างๆ เก็บวัดจาก “ราคาคาร์บอน 2021”

 

ขณะนี้พบว่าสวีเดนเก็บภาษีคาร์บอนสูงสุดของโลกอยู่ที่137 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน CO2 ตามด้วยสวิตเซอร์แลนด์ 101 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน CO2 ญี่ปุ่น 3 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัว CO2 (เก็บจากพลังงานฟอสซิลทั้งหมด) สิงคโปร์เก็บ 4 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน CO2 (เก็บจากอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานฟอสซิล) แอฟริกาใต้ 9 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน CO2 (เก็บจากอุตสาหกรรม ขนส่ง อาคารที่ใช้พลังงานฟอสซิล) ฝรั่งเศส 52 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน CO2 เป็นต้น

 

เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศในยุโรปเก็บภาษีสูงทำให้รถยนต์ในยุโรปกำหนดการปล่อย CO2 ตํ่าตามภาษีคาร์บอนที่เก็บสูง สวีเดน 93 กรัมต่อกิโลเมตร (137 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน Co2) ฟินแลนด์ 100 กรัมต่อกิโลเมตร (73 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน Co2) และเยอรมัน 113 กรัมต่อกิโลเมตร (29 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน Co2)

 

สำหรับ “ผลกระทบทางเศรษฐกิจ” พบว่าในยุโรปการเก็บภาษีคาร์บอน 1 ยูโร ทำให้ GHG ลดลงไป 0.73% ทำให้เงินเฟ้อเพิ่ม 0.8% กรณีแคนาดาเก็บภาษีคาร์บอน 170 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน CO2 ในปี 2030 (Estimate Impacts of a $170 carbon tax in Canada, 2021) จะทำให้ GDP ลดลง 1.8% คนจะว่างงาน 184,000 คน สอดคล้องกับผลกระทบในประเทศโปแลนด์เมื่อเก็บภาษีคาร์บอนจะทำให้ GDP การลงทุน การบริโภค รายได้ของแรงงานลดลง แต่ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น (Distributional Effects of Emission Pricing in a Carbon-Intensive Economy: The Case of Poland, 2020) และกรณีประเทศสหรัฐฯ มีการเก็บภาษีคาร์บอน 25 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน CO2 จะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 11% ขนส่งเพิ่ม 1.8% อุตสาหกรรม 1.1% เกษตร 0.7% สถาบันการเงิน 0.4% และค่าส่งค้าปลีกเพิ่ม 0.3%

 

อุตสาหกรรมไทยต้องเตรียมพร้อมคือ 1. ภาคการผลิตจะถูกผลักดันให้ติดฉลากคาร์บอนฟุตพริ้น (CFP) หรือฉลากโลกร้อนมากขึ้น เพื่อเป็นการแสดงถึงการประเมินคาร์บอนและช่วยลดโลกร้อน ปัจจุบันส่วนใหญ่ยังอยู่ในกลุ่มปูนซีเมนต์ เหล็ก และอลูมิเนียม 2.มีการเก็บภาษีคาร์บอนในอุตสาหกรรมซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น 3. กระทบการส่งออกในตลาดยุโรป และตลาดอื่นเมื่อมีการใช้ CBAM 4.กระทบเงินทุน FDI นักลงทุนต่างชาติ จะนำประเด็นการปล่อย CO2 มาพิจารณาการเข้ามาลงทุน 5. สถาบันการเงินคำนึงถึงปริมาณการปล่อย CO2 มาเป็นการเกณฑ์พิจารณาการให้สินเชื่อ

 

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3739 วันที่ 12-15 ธันวาคม 2564