"ช้อปดีมีคืน" เงื่อนไข-ข้อควรระวัง-เหมาะกับใคร เช็คเลย

26 ม.ค. 2565 | 07:08 น.

ช้อปดีมีคืน เงื่อนไข ช้อควรระวัง เหมาะกับใคร อ่านครบจบที่นี่ เตือนเก็บหลักฐานให้เป็นที่เป็นทางป้องกันการสูญหาย

"โครงการช้อปดีมีคืน" ถูกรัฐบาลหยิบยกขึ้นมาเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง เพื่อใช้สำหรับลดหย่อนภาษีในปี 2565 โดยคาดหวังว่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อจากผู้บริโภค ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคึก หลังจากที่ชะลอตัวลงไป เพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (Covid-19) ตามข้อเสนอของภาคเอกชน

 

 

 

ทั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ช้อปดีมีคืน คือมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย เจาะกลุ่มผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมถึงช่วยเหลือผู้ประกอบการและร้านค้าที่จดทะเบียนในระบบ VAT

 

 

โดยภาพรวมแล้วรายละเอียดไม่ได้แตกต่างไปจากครั้งก่อนหน้าเมื่อปลายปี 2563 ซึ่งยังคงเน้นกระตุ้นการใช้จ่ายสำหรับสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สินค้า OTOP และหนังสือ

 

สำหรับเงื่อนเวลาในการเข้าร่วมโครงการคือ ต้องเป็นการใช้จ่ายหรือใช้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 2565 เท่านั้น

 

 


และหากนำไปเทียบกับโครงการเดิมเมื่อปี 63 พบว่า มีระยะเวลาที่สั้นลงกว่าช็อปดีมีคืนในครั้งที่แล้วถึง 1 เดือน

 

 

ส่วนมูลค่าที่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ยังคงเป็นจำนวนสูงสุด 30,000 บาทตามเดิม

 

 

อย่างไรก็ดี ในปี 65 นี้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการช้อปดีมีคืนแล้ว ยังสามารถเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งเฟส 4 ได้ 

 

 

 

ขณะที่กลุ่มสินค้าและบริการที่ไม่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีถึงแม้จะได้ซื้อจากผู้ประกอบการจด VAT ยังคงมีลักษณะเดิม

ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย หรือสินค้าและบริการจากธุรกิจที่ภาครัฐมีโครงการช่วยเหลือทางอื่นโดยเฉพาะอยู่แล้ว เช่น 

 

 

 

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
  • ยาสูบ 
  • ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ 
  • ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ 
  • ค่าที่พักโรงแรม 
  • ค่าบริการนำเที่ยว 
  • ค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ 
  • ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

 

 

อย่างไรก็ตาม ช้อปดีมีคืนก็มีข้อควรระวัง ประกอบด้วย

 

 

 

การประมาณการรายได้ตลอดทั้งปี เพื่อประเมินความจำเป็นของการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีจะทำได้ยากขึ้น เพราะเริ่มโครงการตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำงานประจำ ดังนั้นจึงควรชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่างความจำเป็นที่แท้จริงของสินค้าหรือบริการนั้น ๆ และความจำเป็นของการกันสภาพคล่องไว้เผื่อใช้สำหรับสิ่งจำเป็นอื่น

 

 

สิทธิ์ลดหย่อนภาษีไม่ใช่สิทธิเครดิตภาษี หรือจะกล่าวก็คือ ไม่ได้หมายความว่า ค่าภาษีจะลดลงทั้ง 30,000 บาท แม้ว่าจะซื้อสินค้าหรือบริการเต็ม 30,000 บาทก็ตาม

 

 

โดยทุกอย่างจะขึ้นกับฐานภาษีของแต่ละบุคคล เช่น หากฐานภาษีอยู่ขั้นสุดท้ายที่อัตรา 10% หมายความว่าจะได้ประหยัดค่าภาษีลงจำนวน 3,000 บาทเท่านั้น 

 

 

หรือถ้าหากรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว อยู่ในเกณฑ์ได้รับยกเว้นภาษี ก็เสมือนว่าที่ได้ซื้อไป ไม่ได้ช่วยประหยัดภาษีแต่อย่างใด

 

 

 

การเก็บหลักฐานเพื่อรอยื่นภาษีในปี 2566 โดยผู้ที่จะใช้สิทธิ์จะต้องเก็บหลักฐานไว้เกือบ 1 ปีเต็มๆ ดังนั้น ผู้ใช้สิทธิ์จะต้องเก็บหลักฐานไว้อย่างเรียบร้อย เพื่อป้องกันการสูญหาย

 

 

 

โครงการช้อปดีมีคืนที่จัดตั้งแต่ต้นปีแบบนี้ อาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีหน้าที่ยื่นภาษีครึ่งปี ได้แก่ ผู้ที่มีเงินได้ประเภทที่ 5 – 8 ตั้งแต่ 60,000 บาทเป็นต้นไปในครึ่งปีแรก