10 ธุรกิจน่าจับตาปี 65 สสว.คาดช็อปดีมีคืน-คนละครึ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ

30 ธ.ค. 2564 | 09:49 น.

10 ธุรกิจน่าจับตาปี 65 สสว.คาดช็อปดีมีคืน-คนละครึ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ เผยสถานการณ์ MSME ในรอบปี 64 เติบโตขึ้น 2.4% คิดเป็นมูลค่ารวม 5.49 ล้านล้านบาท ชี้มีสัญญาณฟื้นตัวเริ่มตั้งแต่ไตรมาส 2

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ธุรกิจที่น่าจับตามองในปี 2565 ได้แก่ ธุรกิจอาหารแปรรูป ธุรกิจให้ความบันเทิง (สันทนาการ) ธุรกิจที่พักแรม ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจเครื่องสำอาง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจคลังสินค้า ธุรกิจโมเดิร์นเทรด ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจแปรรูปยางพารา 
อย่างไรก็ดี คาดว่ามาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 65 ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเพิ่มกำลังซื้อ อย่างช็อปดีมีคืน โครงการคนละครึ่ง มาตรการลดภาระผู้ประกอบการ/ประชาชน รวมถึงมาตรการทางการเงิน ในโครงการของขวัญปีใหม่ปี 65 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อเสริมสภาพคล่องและลดค่าใช้จ่าย ฯลฯ 

จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มอำนาจซื้อให้กับประชาชน กระตุ้นให้เกิดการบริโภค การค้า การลงทุน ช่วยลดต้นทุนรวมถึงค่าใช้จ่ายส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ MSMEs (Micro-entrepreneurs, Small and Medium-sized Enterprises) หรือกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม  รวมถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ให้มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นต่อไป
“สถานการณ์ ของ MSME ในปี 2565 หากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 โอมิครอนได้คาดว่า GDP MSME จะเติบโตระหว่าง 3.2–5.4% หรือมีมูลค่าประมาณ 5.669 - 5.789 ล้านล้านบาท โดยมีปัจจัยบวกมาจากการฟื้นตัวของเศรฐกิจโลก และเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น 30-40% มีรายได้จากการท่องเที่ยว 0.59 ล้านล้านบาท คาดว่าธุรกิจในภาคบริการจะเติบโตระหว่างร้อยละ 3.4–5.8"
ทั้งนี้ สสว. ได้ทำการวิเคราะห์เพื่อสรุปภาพรวมสถานการณ์ MSME ปี 64 พบว่า มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นมา เมื่อพิจารณาสถานการณ์ในรอบปีเปรียบเทียบกับปี 2563 คาดว่า GDP MSME จะขยายตัว 2.4% หรือมีมูลค่ารวม 5.49 ล้านล้านบาท คิดเป็น 34.6% ของ GDP รวมของประเทศ สาขาธุรกิจที่ GDP MSME มีการขยายตัวมากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจด้านความบันเทิงและนันทนาการ รองลงมาคือ ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจด้านการศึกษา ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ยังคงลดลง

การฟื้นตัวของ MSME ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 64 และต่อเนื่องถึงปี 65 ปัจจัยบวกมาจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์และการเปิดประเทศ การฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ได้ครบจำนวน 100 ล้านโดสตามเป้าหมาย รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ ช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยงช่วงสิ้นปี ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมาเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นแม้ยังไม่กลับไปเท่าช่วงก่อนล็อกดาวน์ก็ตาม 
แต่ปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาคือการแพร่ระบาดของโอมิครอนว่าจะมีสถานการณ์รุนแรงอย่างไรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะจะส่งผลกับนักท่องเที่ยวที่จะตัดสินใจเดินทางมาเยือนประเทศไทยด้วย นอกจากนี้การส่งออกสินค้าไปต่างประเทศมีทิศทางดี โดยคาดว่าหากสามารถรับมือการแพร่ระบาดได้เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว.
ในส่วนสถานการณ์ด้านการค้าระหว่างประเทศของ MSME มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง โดยการส่งออกในรอบปี 64 คาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 20% เมื่อพิจารณาในช่วง 11 เดือนแรกของปี (ม.ค.-พ.ย.) MSME มีการส่งออกคิดเป็นมูลค่ารวม 915,211.9 ล้านบาท ขยายตัว 19.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วน 11.8% ของมูลค่าการส่งออกรวมของประเทศ 
ตลาดส่งออกหลักที่สำคัญของ MSME ขยายตัวทุกตลาดโดยเฉพาะจีนที่มีการขยายตัวสูงคิดเป็น 42.5% ขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ขยายตัว 8.4% ,9% ,12.6% และ 14.4% 
สำหรับสินค้าส่งออกที่ขยายตัวสูงสุด ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ 50% รองลงมาคือ อัญมณีและเครื่องประดับ ขยายตัว 34.7% นอกจากนี้ยังมีกลุ่มไม้และของทำด้วยไม้ พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และผลไม้สด ขยายตัวระหว่าง 6.5 - 32.3%
ส่วนการนำเข้าของ MSME ช่วง 11 เดือนแรก (ม.ค. - พ.ย.) มีมูลค่า 1,030,688.3 ล้านบาท ขยายตัว 11.4% คิดเป็นสัดส่วน 13.4% ของมูลค่าการนำเข้ารวมของประเทศ โดยมีสินค้านำเข้าสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ และ ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า
ในด้านจำนวนกิจการและการจ้างงานของ MSME จากข้อมูลของระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33 ของสำนักงานประกันสังคม ในรอบปี 2564 เป็นต้นมา แม้จะหดตัวลงตามวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่นับตั้งแต่เดือน ต.ค. เป็นต้นมา สถานการณ์กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยมีกิจการ MSME  เข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า คิดเป็น 6.35% หรือมีจำนวนรวม 421,525 แห่ง ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการณ์ COVID-19 ตั้งแต่เดือน เม.ย.2563 เป็นต้นมา 
เช่นเดียวกับจำนวนการจ้างงาน ที่ขยายตัว 2.47% หรือมีจำนวนการจ้างงานรวม 4,110,021 คน และหากไม่มีผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ คาดว่าจะมีจำนวนผู้ประกอบการและจำนวนการจ้างงานเข้าระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้น