ไทย ประกาศแบนนำเข้า “สัตว์น้ำ อาหารทะเล” ประมงผิดกฎหมาย

25 ม.ค. 2565 | 06:51 น.

ประเทศไทย ยกระดับ ”IUU Fishing” กรมประมง จับมือ กรมศุลกากร ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง แบนการนำเข้า“สัตว์น้ำ อาหารทะเล” ประมงผิดกฎหมาย

วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2565  นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมประมง และ นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง   เรื่อง การควบคุม ตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำนำเข้า ส่งออก และนำผ่าน เพื่อยกระดับการดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing)

  สมชวน รัตนมังคลานนท์

 

นายสมชวน  เผยว่า   กรมประมงเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร  จึงมีนโยบายมุ่งให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่จำกัดให้เกิดความยั่งยืนสูงสุด โดยมีการวางระบบเพื่อบริหารจัดการสัตว์น้ำตลอดสายการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ยังได้ร่วมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และร่วมกันขจัดปัญหาการทำประมง ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ของไทยให้หมดไป

 

โดยการลงนามในบันทึกข้อตกลงฉบับดังกล่าว เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมประมง  กับกรมศุลกากร ในการควบคุม ตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำนำเข้า ส่งออก และนำผ่าน เพื่อแก้ไขปัญหา การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) และเป็นไปตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560

นอกจากนี้ ยังเป็นการป้องกันมิให้สินค้าสัตว์น้ำที่มาจากการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมเข้ามาในราชอาณาจักรเข้าสู่ตลาด และกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาชาติ รวมถึงประเทศคู่ค้าถึงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ของไทย โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

 

แบนนำเข้าสัตว์น้ำ จากประเทศ เรือประมงผิดกฎหมาย

การดำเนินการกรณีกรมประมงไม่อนุญาตให้นำเข้า ส่งออก และนำผ่านสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ กรณีที่กรมประมงไม่อนุญาตให้นำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำด้วยเหตุที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing) ให้กรมประมงแจ้งเหตุผลการไม่อนุญาตให้กรมศุลกากร และผู้ขออนุญาตนำของเข้า ส่งออก

 

หรือนำผ่านทราบ และในกรณีกรมศุลกากรตรวจพบสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีการนำเข้า ส่งออก และนำผ่านโดยไม่มีใบอนุญาตให้นำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ให้กรมศุลกากรแจ้งมายังกรมประมง เพื่อให้กรมประมงและกรมศุลกากรดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

การดำเนินการกับของกลาง ให้กรมศุลกากรมีอำนาจในการดำเนินการกับของกลางซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing) โดยเป็นไปตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และยึดแนวทางของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้นำของกลางไปแจกจ่ายให้แก่ผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสโดยไม่คิดราคา หรือสั่งให้ทำลายของกลาง พร้อมทั้งแจ้งรายละเอียดการดำเนินการนั้นให้กรมประมงทราบ

                                                            

การร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอื่น ๆ กรมศุลกากร และกรมประมงแต่ละพื้นที่ร่วมกันตรวจค้น - จับกุมสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่สงสัยว่าได้มาจากการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 โดยกรมประมงมีหน้าที่หลักในการควบคุม ตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนำเข้า ส่งออก และนำผ่าน และป้องกันสินค้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจากการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing)

 

นายสมชวน  กล่าวว่า  กรมประมง และกรมศุลกากรจะมุ่งมั่น ในการปฏิบัติหน้าที่และกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและบูรณาการในการร่วมกันแก้ไขปัญหา การทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ต่อไป โดยยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ

พชร อนันตศิลป์

 

ด้าน นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า กรมศุลกากรมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม  ( Illegal,Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing ) กับกรมประมง ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องการควบคุม ตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำ นำเข้า ส่งออกและนำผ่าน รวมถึงการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ( IUU Fishing )

 

ดังนั้น เพื่อให้การทำประมงของประเทศไทยเป็นไปตามมาตรฐานสากล กรมศุลกากรก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับกรมประมง ในการปฏิบัติหน้าที่และกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อยกระดับการควบคุม ตรวจสอบการนำเข้า ส่งออกและนำผ่าน ซึ่งสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สินค้าสัตว์น้ำ เป็นการป้องกันมิให้สัตว์น้ำที่มาจากการทำการประมง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เข้ามาในราชอาณาจักร ทำให้นานาชาติ และประเทศคู่ค้า ยอมรับในมาตรฐานการตรวจสอบของประเทศไทยและเกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป