"สมาคมการค้าพืชไร่" วิพากษ์ หมูแพง โรค “ASF” ใครได้ประโยชน์

14 ม.ค. 2565 | 09:13 น.

สมาคมการค้าพืชไร่ เผย เกษตรกรหมูรายย่อย เจ๊ง โรค “ASF” ขณะที่นายทุนรอด ระบบดี ฉวยจังหวะราคาพุ่งฟันกำไร "หมูแพง" ยังซ่อนกลขอลดภาษีการนำเข้าธัญพืชนอก ผลพวงทำให้ราคาหุ้นบริษัทที่ทำธุรกิจในห่วงโซ่การเลี้ยงหมูในตลาดหุ้นสูงขึ้นไปอีกเด้ง

 

แหล่งข่าวจากสมาคมการค้าพืชไร่ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากคำกล่าอ้างว่าประเทศเรามีเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูถึง 2 แสนกว่าราย (ความจริงมีผู้เกี่ยวข้องหลักเพียง 8 หมื่นกว่าราย) จากความจริงปรากฏว่าธุรกิจการเลี้ยงหมูอยู่ในมือกลุ่มทุนมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนประชากรหมูที่เหลือไม่ถึงครึ่ง เป็นผู้เลี้ยงระดับกลางและรายย่อยซึ่งได้ผลกระทบเต็มๆ จากการแพร่ระบาดของโรค ASF 

 

ส่วนกลุ่มผู้เลี้ยงบริษัทใหญ่ที่มีทุนการเลี้ยงระบบปิดป้องกันความเสี่ยงจากโรคระบาดต่างๆ และยังมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนASF ได้มากกว่า จึงทำให้หมูที่เลี้ยงโดยกลุ่มทุนเหล่านี้ส่วนใหญ่รอดจากการแพร่ของโรค “ASF”  ยิ่งหมูขึ้นราคาจากสภาวะอุปทานเนื้อหมูลดลง ยิ่งทำให้บริษัทเหล่านั้นทำกำไรได้เพิ่ม

 

"สมาคมการค้าพืชไร่" วิพากษ์ หมูแพง โรค “ASF” ใครได้ประโยชน์

 

แน่นอนเมื่อเกิดโรคระบาดอนาคตธุรกิจการเลี้ยงหมูภายในยิ่งไปอยู่ในกลุ่มทุนใหญ่เหล่านั้นมากขึ้นเพราะทำให้ผู้เลี้ยงขนาดกลางและรายย่อยต้องหยุดเลี้ยงไปในที่สุด คงไม่ต่างกับกับธุรกิจการเลี้ยงไก่เนื้อที่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดไข้หวัดนกอย่างรุนแรงทำให้รายย่อยและผู้เลี้ยงหลายรายต้องเลิกเลี้ยงจนมีผลให้การเลี้ยงไก่เนื้ออยู่ในเครือข่ายกลุ่มทุนที่เติบโตมีส่วนแบ่งการเลี้ยงถึง 90%

 

ขณะที่เนื้อหมูขึ้นราคากลุ่มสมาคมที่อยู่ในห่วงโซ่อาหารสัตว์ซึ่งมีนักล็อบบี้ผู้เป็นผู้บริหารสมาคมมาจากบริษัทใหญ่ที่เก่งมีความสามารถ มีประสบการความชำนาญในการบริหารการค้าระหว่างประเทศ และมีความเชี่ยวชาญเรื่องอากรนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้จ้องหาโอกาสขอลดภาษีอากรนำเข้า วัตถุดิบอาหารสัตว์ตลอดเวลา ยิ่งมีวิกฤติหมูแพง และช่วงธัญพืชตลาดโลกราคาเพิ่มสูง ก็ยิ่งเป็นโอกาสที่จะพยายามกดดันให้ภาครัฐลดภาษีนำเข้าธัญพืชและกากธัญพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์  เหมือนไม่สนใจว่าจะกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกธัญพืชวัตถุดิบไทยและอุตสาหกรรมน้ำมันถั่วเหลืองไทยอย่างไร 

 

สุดท้ายผลประโยชน์ทุกอย่างก็จะอยู่ในกำมือกลุ่มทุนที่ผู้บริหารท่านนั้นเป็นตัวแทนเข้ามาในสมาคม หากภาครัฐทำตามและไม่สนใจที่จะปกป้องเกษตรกรผู้ปลูกพืชธัญพืชวัตถุดิบไทย ทั้งที่ภาษีอากรนำเข้าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ปกป้องอาชีพให้กับคนในชาติที่หากินโดยสุจริต ยิ่งจะทำให้การเกษตรรายย่อยส่วนใหญ่ซึ่งถือเป็นรากฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยของเศรษฐกิจท้องถิ่นและในระดับภูมิภาคต้องล้มหายจากอาชีพของตนอย่างต่อเนื่อง

 

ฟาร์มระบบปิด

 

ดังนั้นภาครัฐควรปกป้องอาชีพของเกษตรกรไทยเหล่านั้นและสร้างความสมดุลทำให้เกิดกับระบบเศรษฐกิจเกิดการกระจายรายสู่ท้องถิ่นอย่างมั่นคง ทุกวันนี้เพื่อเป้าหมายแห่งผลประโยชน์ ตัวแทนกลุ่มทุนรายใหญ่พยายามบิดเบือนสร้างสถานการณ์ ขอให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะสั้น แต่กลับส่งผลประโยชน์มากมายให้กับกลุ่มตน

 

ขณะที่จะสร้างผลกระทบที่จะทำร้ายทำลายโอกาสความอยู่รอดของเกษตรกรไทยอย่างมากในระยะยาว แถมสร้างภาระให้กับภาครัฐต้องใช้ภาษีประชาชนมาประกันรายได้ให้กับเกษตรกร คงไม่ต่างกับการขอยกเลิกการเก็บอากรนำเข้าข้าวสาลีที่ผ่านมาที่สร้างปัญหามาจนถึงทุกวันนี้

 

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า การไม่ประกาศให้ประเทศไทยมีโรคระบาด ASF  เป็นการปิดบังในเรื่องที่ผู้บริโภคควรรู้ แต่ส่วนหนึ่งหากประกาศออกไปอาจทำให้ผู้บริโภคตื่นตระหนก อาจมีผลกระทบต่อผู้เลี้ยงหมูทั้งหมด และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอาจเห็นว่าจะสามารถควบคุมได้จึงไม่ประกาศออกมา  แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ถูกเปิดเผยออกมาอาจไม่มีผลทำให้ผู้บริโภคกลัวเหมือนไข้หวัดนก

 

 

แต่กลับส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคจากราคาหมูที่สูงขึ้นจากอุปทานเนื้อหมูที่ลดลง สุดท้ายจากราคาหมูที่สูงขึ้น กลับเป็นการฉกฉวยโอกาสขึ้นราคาเนื้อไก่ ลูกหมู ลูกไก่ ไข่ไก่ และยังขอลดภาษีการนำเข้าวัตถุดิบต่าง ๆ มีผลทำให้ราคาหุ้นบริษัทที่ทำธุรกิจในห่วงโซ่การเลี้ยงหมูในตลาดหุ้นสูงขึ้นไปตาม ๆ กัน แต่สำหรับผู้เลี้ยงหมูขนาดกลางและรายย่อยยังมองไม่เห็นอนาคตอาชีพการเลี้ยงหมูของตนเอง

 

การเคลื่อนย้ายหมู

 

ยกเว้นภาครัฐจะช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเหล่านั้นเข้าถึงวัคซีน เพราะที่ผ่านมาวัคซีนที่มีการทดลองจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีการทดลองใช้กับหลายแห่งพบว่าหลังจากหมูได้รับวัคซีน ไม่มีการตรวจพบเชื้อ ASF ดังนั้น หากภาครัฐควรตื่นตัวเน้นการช่วยเหลือให้เกษตรกรรายย่อยได้เลี้ยงหมูที่เข้าถึงวัคซีนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและให้เกษตรกรสามารถฟื้นคืนอาชีพของตนเองในระยะสั้น