“ปศุสัตว์” ย้ำชัด โรค ASF ไม่แพร่สู่คน-สัตว์อื่น

14 ม.ค. 2565 | 01:32 น.

อธิบดีกรมปศุสัตว์ ไขข้อข้องใจ โรค ASF ไม่แพร่สู่คน-สัตว์อื่น เนื้อหมูปลอดภัยมั่นใจได้ วอนผู้เลี้ยงหากสงสัย เป็นโรคหรือไม่ หรือ สัตว์ตายผิดปกติ ให้รีบแจ้งเพื่อคุมโรค ด่วนที่สุด

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการยืนยันว่าตรวจพบเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) จากการเก็บตัวอย่างในจังหวัดนครปฐมและนำไปสู่การแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 นั้น กรมปศุสัตว์ได้เร่งประชุมคณะทำงานด้านวิชาการในการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรค ASF ในสุกรร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งจะประกาศเขตโรคระบาด ASF ในประเทศไทยและมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบจุดที่พบโรคทันที รวมทั้งรายงานแจ้งไปยังองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ต่อไป

 

 โดยการดำเนินการต่างๆ จะคำนึงถึงผลกระทบในทุกมิติอย่างรอบคอบเพื่อลดความเสียหายและผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและกระบวนผลิตสุกรให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด วอนผู้บริโภคอย่าตระหนกเนื่องจากโรค ASF เกิดเฉพาะในสุกรเท่านั้น ย้ำว่าไม่ก่อโรคในคนหรือสัตว์อื่นแน่นอน เนื้อและอวัยวะสุกรที่จำหน่ายในไทยยังมีความปลอดภัยรับประทานได้ตามปกติ ขอให้มั่นใจได้เพราะมีการเข้มงวดคัดกรองสุขภาพก่อนฆ่า (Ante-mortem) ไม่ให้มีสุกรป่วยด้วยอาการ ASF เข้าผลิตให้แก่ผู้บริโภค

 

ดูแลฟาร์ม

“โรค ASF”  เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งก่อโรคเฉพาะในสัตว์สกุลสุกร คือสุกรและสุกรป่า ถือเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทยซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน ตัวโรคก่อความรุนแรงมากในสุกรสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากมีอัตราป่วยในสุกร 100% อัตราตาย 30-100% ในลูกสุกรอัตราตายสูง 80-100% ภายใน 14 วัน ตัวเชื้อไวรัสมีความทนทานในสภาพแวดล้อมสูง ต้องใช้ระยะเวลาถึง 30 นาทีในการทำลายด้วยยาฆ่าเชื้อ สุกรสามารถติดเชื้อได้จากสัมผัสสิ่งคัดหลั่งจากสุกรป่วยหรือสิ่งปนเปื้อน การกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน และการโดนเห็บที่มีเชื้อกัด

อาการของโรคสามารถพบได้ทุกกลุ่มทุกช่วงอายุสุกร มีการตายเฉียบพลัน มีไข้สูง ผิวหนังแดง มีจุดเลือดออก หรือรอยช้ำโดยเฉพาะหลังใบหู ท้อง ขาหลัง มีอาการทางระบบอื่น เช่น ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร การแท้งในช่วงของการตั้งท้อง จนถึงปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดที่สามารถพัฒนาวัคซีนในการป้องกันโรคและยารักษาที่จำเพาะได้

 

ควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์

ดังนั้น สิ่งสำคัญในการควบคุมการโรคให้สงบได้โดยเร็วต้องอาศัยความร่วมมือจากเกษตรกรกับกรมปศุสัตว์ในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 อย่างเคร่งครัดในการรายงานกรมปศุสัตว์โดยเร็วกรณีสงสัยโรค ASF เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะเข้าควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงทีและควบคุมการเคลื่อนย้ายสุกรมีชีวิตเพื่อหยุดการระบาด รวมทั้งเกษตรกรต้องยกระดับมาตรการป้องกันโรคในฟาร์มขั้นสูงสุด

 

โดยปรับระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity) ตามแนวทางมาตรฐานฟาร์ม GAP หรือ GFM ประกอบด้วย การพักตัวและอาบน้ำฆ่าเชื้อคนที่เข้าฟาร์มทุกคน การพ่นยาฆ่าเชื้อรถขนส่งและอุปกรณ์ทุกครั้งที่เข้า-ออกฟาร์ม การล้างพ่นยาฆ่าเชื้อโรงเรือนโดยมีรายงานยาฆ่าเชื้อที่สามารถฆ่าเชื้อ ASF ได้ตามอัตราส่วนที่เหมาะสม เช่น​ Glutaraldehyde, Phenol, Iodine, Chlorine​ เป็นต้น ​การป้องกันและกำจัดสัตว์พาหะ การไม่นำเศษอาหารมาเลี้ยงสุกร การเลี่ยงนำเนื้อสุกรเข้าฟาร์ม

 

 

เนื้อสัตว์ไม่แพร่สู่คน-สัตว์อื่น

ท้ายสุดนี้ สำหรับผู้บริโภคขอให้มั่นใจในการบริโภคเนื้อสุกรได้ตามปกติ โดยแนะนำว่าควรเลือกซื้อเนื้อสุกรจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ มีสุขอนามัยการผลิตที่ดีและตรวจสอบย้อนกลับได้ ดังเช่นสถานที่จำหน่ายที่ได้รับรอง “ปศุสัตว์ OK” รวมทั้งปรุงสุกทุกครั้งด้วยอุณหภูมิอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียสขึ้นไปก่อนรับประทานเพื่อหลีกเลี่ยงโรคต่างๆ และเพื่อให้ประเทศไทยสามารถควบคุมโรค ASF ในสุกรได้โดยไว

 

หากเกษตรกรพบอาการต้องสงสัยโรค ASF ในสุกรให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ทันทีหรือที่เบอร์ 0632256888 หรือ Application: DLD 4.0 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง