เกษตรกรประสานเสียงนักวิชาการ ย้ำเหตุผล ไทย “ไม่ควรนำเข้าหมู”

12 ม.ค. 2565 | 01:33 น.

เนื่องนที ฤกษ์เจริญ นักวิชาการอิสระด้านการเกษตร เขียนบทความ ระบุ เกษตรกรประสานเสียงนักวิชาการ ย้ำ!! ไม่ควรนำเข้าหมูจากต่างประเทศ ชี้อย่ามองมุมผู้บริโภคอย่างเดียว ต้องคำนึงถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู และผลกระทบที่จะตามมาอีกหลายภาคส่วนด้วย

 

หลังจากที่ภาครัฐโดยกรมปศุสัตว์ได้ออกมายอมรับว่าประเทศไทยได้มีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร(ASF) อุบัติขึ้นแล้วในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมหมูของไทยต้องเร่งแก้ไขปัญหาครั้งใหญ่ ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้หมูในตลาดยังขาดแคลน และมีราคาสูง  

 

เนื่องนที ฤกษ์เจริญ ระบุว่า แนวคิดการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ จากทั้งฝ่ายการเมือง อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือแม้แต่สื่อฯ ที่หวังให้ปริมาณหมูนอกมาโปะส่วนที่ขาด จากความต้องการบริโภคหมูของคนไทย 50,000 ตัวต่อวัน แต่วันนี้ทั้งประเทศผลิตหมูได้ 40,000 กว่าตัวต่อวันเท่านั้น

 

คำแนะนำที่มองเพียงความต้องการของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ดูจะตื้นเขินและมองโลกแคบเกินไป เพราะคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาไม่ได้มีแค่ผู้บริโภคเท่านั้น ยังมีเกษตรกรซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญ ที่แนวทางแก้ปัญหาต้องคิดไปถึงคนกลุ่มนี้ด้วย

 

เกษตรกรประสานเสียงนักวิชาการ ย้ำเหตุผล  ไทย “ไม่ควรนำเข้าหมู”

 

แล้วการนำเข้าจะส่งผลกับอะไรบ้าง มาดูกัน

 

  •  ผู้บริโภคต้องเสี่ยงกับสารตกค้าง : การผลิตหมูในต่างประเทศ บางประเทศอนุญาตให้เกษตรกรสามารถใช้สารเร่งเนื้อแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลกำไร หมูที่ใช้สารนี้จะโตเร็วขึ้น 4 วัน โดยใช้อาหารน้อยลงเกือบ 20 กิโลกรัม โดยสารนี้จะตกค้างอยู่ในทุกชิ้นส่วนของหมู ย่อมสร้างอันตรายกับคนไทยอย่างแน่นอน

 

  •  ลดแรงจูงใจเกษตรกรผู้เลี้ยง : หนึ่งในมาตรการแก้ปัญหาราคาหมูของภาครัฐ คือการเร่งส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย-รายกลางที่หยุดการเลี้ยงหมูไป ให้กลับเข้ามาในระบบอีกครั้ง เพื่อเพิ่มซัพพลายเข้าตลาดโดยเร็ว หากปล่อยให้มีการนำเข้าหมู จะลดแรงจูงใจของเกษตรกร ไม่กล้าเข้าเลี้ยงหมู ทุกคนรู้ดีว่าไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับหมูต่างชาติได้ เพราะไทยต้องนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์และสารเสริม (Feed additive)  จึงมีต้นทุนสูงกว่า เมื่อเทียบกับประเทศแถบยุโรปที่เป็นทั้งผู้เลี้ยงหมูระดับโลก และเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ป้อนอุตสาหกรรมทั้งโลก

 

 

  •  กระทบความมั่นคงทางอาหาร : เมื่อเกษตรกรผู้เลี้ยงไม่สามารถแข่งขันราคาได้จนเลิกเลี้ยงหมูไปในที่สุด ห่วงโซ่การผลิตทั้งหมดย่อมสั่นคลอน ตั้งแต่เกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ 7 ล้านครัวเรือน ภาคเวชภัณฑ์ ผู้ผลิตอุปกรณ์การเลี้ยง ภาคขนส่ง และภาคธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง จะต้องล่มสลายไปพร้อมกัน ความมั่นคงทางอาหารของประเทศต้องสูญเสีย จากการต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารมากขึ้น

 

  •  บ่อนทำลายอาชีพและอุตสาหกรรมหมูไทย : เนื้อหมูนำเข้านอกจากจะกระทบกับภาวะราคาตกต่ำจากผลผลิตล้นตลาดแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงในการนำโรคจากต่างถิ่นเข้ามาด้วย เพราะแต่ละประเทศมีโรคประจำถิ่นของตนเอง หมูนอกอาจนำโรคที่ก่ออันตรายต่อหมูไทย และโดยปกติเนื้อหมูนำเข้าจะมาในรูปแบบแช่แข็ง ซึ่งเชื้อไวรัสหลายชนิดมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม มีชีวิตอยู่ได้ในอุณหภูมิแช่แข็งนานเป็นปี หากหลุดรอดออกมาปนเปื้อนในอุตสาหกรรม ย่อมส่งผลกระทบกับภาคผู้เลี้ยงอย่างหนัก

 

เกษตรกรประสานเสียงนักวิชาการ ย้ำเหตุผล  ไทย “ไม่ควรนำเข้าหมู”

 

 “นำเข้าหมู” กระทบทุกภาคส่วน

 

นอกจากเจ้ากระทรวงพาณิชย์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จะออกมาให้ความเห็นในเรื่องการเปิดนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ ว่าจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยต้องระวังโรคติดต่อที่มากับหมู สุขอนามัยประชาชน รวมถึงข้อกดดันทางการค้าอื่นๆ ประกอบด้วยแล้ว ทั้งเกษตรกรและนักวิชาการ ต่างออกมาประสานเสียงว่า “ไม่ควรนำเข้าหมู”

 

 วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ไม่เห็นด้วยกับนำเข้าหมูมาพยุงราคา เป็นการทำลายกลไกการเลี้ยงหมูในประเทศ เนื่องจากราคาหมูนำเข้าถูกกว่าหมูไทยมาก เพราะต้นทุนการเลี้ยงต่ำ รัฐบาลของประเทศเขาให้การอุดหนุนต้นทุนการเลี้ยง จึงสามารถขายในราคาถูกได้ ขณะที่ผู้เลี้ยงหมูไทย ต้องแบกรับภาระต้นทุนการเลี้ยงที่พุ่งสูงเองทั้งหมด แต่กลับไม่สามารถขายเนื้อหมูในราคาที่สะท้อนต้นทุนได้ หากยอมให้หมูนอกเข้ามา จะทำให้เกษตรกรทิ้งอาชีพและเลิกเลี้ยงหมูกันทั้งหมด เพราะสู้ราคาไม่ไหว ทางแก้เรื่องนี้คือ การปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด หากหมูมีน้อย และราคาสูงขึ้น ก็จะกดดันให้ความต้องการบริโภคลดลง ตามกลไกตลาด ในที่สุดปริมาณและการบริโภคจะกลับสู่สมดุลเอง

 

 ปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ ย้ำว่า เกษตรกรคัดค้านการนำเข้าเนื้อหมู เพราะความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ผลผลิตหมูที่ลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ไม่เพียงพอกับการบริโภค แต่ยังไม่ทราบถึงปริมาณความต้องการที่แท้จริงของตลาด การนำเข้าเนื้อหมูเป็นการซ้ำเติมปัญหา กระทบกับภาวะราคาตกต่ำจากผลผลิตล้นตลาด ที่เกษตรกรเผชิญมาตลอด 3 ปี และยังทำให้ผู้เลี้ยงที่กำลังจะกลับเข้าระบบไม่กล้าลงทุน การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ ภาครัฐต้องเร่งสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อจูงใจเกษตรกรที่เลิกเลี้ยงไปฟื้นอาชีพได้โดยเร็ว

 

 โสภณ พรหมแก้ว นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า เกษตรกรไม่เห็นด้วยที่ภาครัฐจะนำสุกรจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เกษตรกรและพี่น้องผู้บริโภคไม่เดือดร้อน ภาครัฐควรสนับสนุนผู้เลี้ยงรายย่อยให้กลับเข้ามา ภาคใต้มีเกษตรกรถึง 2 หมื่นราย ล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในจ.นครศรีธรรมราชหายไปถึง 50% เกษตรกรภาคใต้อยากกลับมาเลี้ยงหมูแต่ขาดเงินทุน ไร้เงินเยียวยา

 

 ภาคภูมิ พีรวรสกุล ณัฐพงษ์ฟาร์ม จ.หนองบัวลำภู ไม่เห็นด้วยหากจะมีการนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรรายย่อยแทนจะลืมตาอ้าปากได้ คนที่จะลงเลี้ยงรอบใหม่ก็ยังพอมีกำลังใจในการลงทุน แต่ถ้าต้องเจอทั้งเรื่องโรคหมู และราคาหมูตกต่ำซ้ำเติม จะทำให้วงจรอาชีพเลี้ยงสุกรรายย่อยหายไปจากระบบแน่นอน

 

 อุษณีย์ รักษ์กสิกิจ นักวิชาการด้านปศุสัตว์ บอกว่าการนำเข้าเนื้อหมูเป็น “หายนะ” คนไทย เพราะต้องเสี่ยงกับสารเร่งปนเปื้อนที่มากับผลิตภัณฑ์ เกษตรกรต้องเสี่ยงกับโรคหมู และยังกระทบต่อวงจรการผลิตหมูทั้งอุตสาหกรรมที่ต้อง "ล่มสลาย" จากหมูต่างประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่าไทยถึง 3 เท่า การต้องพึ่งพาการนำเข้ามากขึ้น จะทำลายความมั่นคงทางอาหารในที่สุด

 

 สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวถึงปัญหาโรคระบาดที่เป็นหนึ่งในปัจจัยผลักดันราคาหมู ว่าต้องใช้กลไกปศุสัตว์ภาคและเขตพื้นที่ ลงสำรวจฟาร์มหมูอย่างจริงจัง กรณีพบการระบาดต้องมีการทำลายหมู ห้ามเคลื่อนย้าย พร้อมทำพื้นที่กันชนกับเพื่อนบ้าน ในประเทศที่มีการพบการระบาดของโรค เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าหมูเป็นหรือหมูตาย จากภายนอกเข้ามาในประเทศไทย

 

 อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปัญหาราคาสินค้าว่า เกิดจากหลายปัจจัยและทุกภาคส่วนต้องรับผิดชอบ ต้องร่วมกันแก้ไข ปัจจัยสำคัญหนึ่งคือปัญหาจากกลไกตลาด ซึ่งส่งผลต่อต้นทุน ต้องใช้เวลาคลี่คลาย ใช่ว่าราคาสินค้าจะถูกลงได้ในชั่วข้ามคืน อย่างเช่นราคาน้ำมันก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่กระทบเรื่องค่าขนส่ง จนทำให้ราคาสินค้ารวมถึงราคาสุกรขยับขึ้น

 

วันนี้แนวทางแก้ปัญหาราคาหมูกำลังดำเนินไปอย่างดี เกษตรกรผู้ผลิตพยายามเร่งเพิ่มซัพพลายอย่างเต็มกำลัง ผู้บริโภคเองเริ่มปรับตัวไปเลือกหาโปรตีนทดแทนมากขึ้น อย่าให้การนำเข้าเนื้อหมูต่างชาติมาทำลายระบบและทุบเสถียรภาพของอุตสาหกรรม รวมถึงทำลายความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย