ค่าเหยียบแผ่นดิน ใครต้องเสียค่าใช้จ่ายเริ่มเก็บวันไหนเช็คที่นี่

13 ม.ค. 2565 | 07:11 น.

"ค่าเหยียบแผ่นดิน" ใครต้องเสียค่าใช้จ่าย หลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เริ่มเก็บวันแรกวันไหนเช็คที่นี่

จากกรณีเกิดการแพร่ระบาดเชื้อโควิด 19 ขยายมาเป็นไวรัสสายพันธ์ใหม่โอมิครอน ส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุขยกระดับความเข้มข้นเป็นระดับ 4 ขณะที่ ศบค. ขยายพื้นที่สีส้มจาก 36 จังหวัด เพิ่มเป็น 69 จังหวัด

 

ผลกระทบของเชื้อไวรัสโอมิครอน รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐนมตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ผลักดันเดินหน้าฟื้นฟูประเทศโดยเฉพาะการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลัก

 

 ด้านกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้วางแผนยุทธศาสตร์โปรโมทการท่องไทยภายใต้แนวคิด "อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ นิว แชปเตอร์" (Amazing Thailand New Chapter) จุดขายใหม่ด้านการท่องเที่ยวของไทย โดยตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้ รัฐบาลเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน จากนักท่องเที่ยวต่างชาติคนละ 300 บาท เพื่อนำมาใช้ในการฟื้นฟูการท่องเที่ยว และ ยังใช้ในการประกันภัยให้นักท่องเที่ยวด้วย

 

 ค่าเหยียบแผ่นดิน คืออะไร ทำไมต้องจัดเจ็บ 

 

1.ค่าเหยียบแผ่นดิน คือ ค่าบริหารจัดการค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวที่เรียกเก็บจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ในหลายประเทศก็จัดเก็บค่าธรรมเนียมนี้ เช่น ญี่ปุ่น 

 

2.ค่าเหยียบแผ่นดิน จะเริ่มเก็บวันที่ 1 เม.ย.65 ประเทศไทย เก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยคนละ 300 บาท  กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ประเมินว่า หากปีนี้มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามา 5 ล้านคน จะสามารถจัดเก็บเงินได้ประมาณ 1,500 ล้านบาท 

 

ค่าเหยียบแผ่นดิน

ขณะที่ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินหน้าแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวในปีนี้ ซึ่งเป็นปีท่องเที่ยวไทย โดยกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กำหนดโปรโมทการท่องเที่ยวไทยภายใต้แนวคิด "อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ นิว แชปเตอร์" (Amazing Thailand New Chapter) จุดขายใหม่ด้านการท่องเที่ยวของไทย ภายในเดือนมกราคมนี้ รวมถึงเดินหน้าจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวสีขาว สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG) ในภาคการท่องเที่ยว ที่จะช่วยให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและปลอดภัยขึ้น

 

นอกจากนี้ ในวันที่ 1 เมษายน วางแผนจะเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไทย 300 บาทต่อคน หรือเรียกกันว่าค่าเหยียบแผ่นดิน เพื่อนำเงินที่ได้รับไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในไทย และทำประกันให้แก่นักท่องเที่ยว กรณีประสบอุบัติเหตุ หรือเสียชีวิต ก็จะได้รับวงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท หรือค่ารักษาพยาบาล ได้รับสูงสุด 5 แสนบาท เป็นต้น โดยวางแผนเก็บรวมกับค่าตั๋วเครื่องบินกรณีเดินทางทางอากาศ และอยู่ระหว่างการพิจารณาวิธีการเรียกเก็บจากการเดินทางทางบก

 

 

ด้าน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ปีนี้กระทรวงการท่องเที่ยวคาดว่าไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ราว 1.3-1.8 ล้านล้านบาท คาดว่าจะมีต่างชาติเที่ยวไทย อยู่ที่ระหว่าง 5-15 ล้านคน สร้างรายได้ราว 8 แสนล้านบาท โดยประเมินว่าหากสถานการณ์ยังเป็นเหมือนปกติทั่วไป ที่เรายังมีนักท่องเที่ยวจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ไทยน่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 5 ล้านคน ถ้าเรามีอินเดียเพิ่มเข้ามา ก็จะได้ถึง 7 ล้านคน ถ้าจีนเปิดให้คนออกนอกประเทศได้ หลังกลางปีนี้ไปแล้ว ก็น่าจะได้สัก 9 ล้านคน และหากมีการเปิดชายแดนให้เที่ยวได้ ที่หากมี เมียนมา ลาว มาเลเซีย ก็น่าจะได้ถึง 15 ล้านคน เพิ่มจากปี 2564 ที่คาดว่าจะมีนักอยู่ที่ราว 4 แสนคน

 

 

เนื่องจากแม้จะมีการแพร่ระบาดของโอมิครอน แต่ล่าสุดหลายประเทศในแถบยุโรป และสหรัฐอเมริกา ก็เลิกล็อกดาวน์แล้ว เพราะกลายเป็นว่าถ้าฉีดวัคซีนแล้ว แม้โอมิครอนจะแพร่เชื้อเร็ว แต่ความรุนแรงของอาการน้อยกว่าเดลต้า ส่วนมาตรการคัดกรองการเดินทางเข้าไทย ที่มีการปิดระบบลงทะเบียน Thailand Pass นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยแบบ Test & go และแซนด์บ็อกซ์ต่างๆ ชั่วคราว 

 

ส่วนการเดินทางเที่ยวในประเทศ คาดว่าจะอยู่ที่ 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ราว 7 แสนล้าน ซึ่งในปีนี้ภาครัฐยังเดินหน้าโครงการกระตุ้นไทยเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่อง  ทั้งนี้แม้จะมีโอมิครอน แต่การคาดการณ์ท่องเที่ยวในปี 65 จะยังคงยืนเป้าหมายนี้ไว้อยู่เพื่อเป็นเป้าหมายสำหรับการทำงาน.

 

ที่มา: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา