ค่าเหยียบแผ่นดิน 300 คืออะไร ใครต้องเสียค่าใช้จ่ายเริ่มเก็บวันไหนดูเลย

13 ม.ค. 2565 | 01:05 น.

ค่าเหยียบแผ่นดิน 300 คืออะไร ใครบ้างต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้บ้าง หลังรัฐบาลประกาศเริ่มจัดเก็บ ดีเดย์ 1 เม.ย.65 จำนวน 300 บาท เช็คที่นี่

จากกรณีที่การแพร่ระบาดเชื้อโควิด 19 ขยายมาเป็นไวรัสสายพันธ์ใหม่โอมิครอน รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐนมตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ผลักดันเดินหน้าฟื้นฟูประเทศโดยเฉพาะการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลัก

 

 

ล่าสุด นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินหน้าแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวในปีนี้ ซึ่งเป็นปีท่องเที่ยวไทย โดยกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กำหนดโปรโมทการท่องเที่ยวไทยภายใต้แนวคิด "อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ นิว แชปเตอร์" (Amazing Thailand New Chapter) จุดขายใหม่ด้านการท่องเที่ยวของไทย ภายในเดือนมกราคมนี้ รวมถึงเดินหน้าจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวสีขาว สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG) ในภาคการท่องเที่ยว ที่จะช่วยให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและปลอดภัยขึ้น


 

นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาส 2 ช่วงเดือนเมษายน วางแผนจะเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไทย 300 บาทต่อคน หรือเรียกกันว่าค่าเหยียบแผ่นดิน เพื่อนำเงินที่ได้รับไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในไทย และทำประกันให้แก่นักท่องเที่ยว กรณีประสบอุบัติเหตุ หรือเสียชีวิต ก็จะได้รับวงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท หรือค่ารักษาพยาบาล ได้รับสูงสุด 5 แสนบาท เป็นต้น โดยวางแผนเก็บรวมกับค่าตั๋วเครื่องบินกรณีเดินทางทางอากาศ และอยู่ระหว่างการพิจารณาวิธีการเรียกเก็บจากการเดินทางทางบก

 

 

โฆษกรัฐบาล กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ คาดว่าไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ราว 1.3 - 1.8 ล้านล้านบาท คาดว่าจะมีต่างชาติเที่ยวไทย อยู่ที่ระหว่าง 5 - 15 ล้านคน สร้างรายได้ราว 8 แสนล้านบาท โดยประเมินว่าหากสถานการณ์ยังเป็นเหมือนปกติทั่วไป หากมีนักท่องเที่ยวจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ไทยน่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 5 ล้านคน ถ้ามีอินเดียเพิ่มเข้ามา ก็จะได้ถึง 7 ล้านคน และหากจีนเปิดให้คนออกนอกประเทศได้ หลังกลางปีนี้ไปแล้ว ก็น่าจะมีประมาณ 9 ล้านคน นอกจากนี้ หากมีการเปิดชายแดนให้เที่ยวได้ ซึ่งจะมี เมียนมา ลาว มาเลเซีย ซึ่งน่าจะได้ถึง 15 ล้านคน ส่วนการเดินทางเที่ยวในประเทศ คาดว่าจะอยู่ที่ 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ราว 7 แสนล้าน ซึ่งในปีนี้ภาครัฐยังเดินหน้าโครงการกระตุ้นไทยเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ แม้จะมีโอมิครอน แต่การคาดการณ์ท่องเที่ยวในปี 65 จะยังคงยืนเป้าหมายนี้ไว้อยู่เพื่อเป็นเป้าหมายสำหรับการทำงานต่อไป

 

 

ค่าเหยียบแผ่นดิน

 

 

 "แม้จะมีการแพร่ระบาดของโอมิครอน แต่ล่าสุดหลายประเทศในแถบยุโรป และสหรัฐอเมริกา ก็ได้เลิกล็อกดาวน์แล้วเพราะได้รับการฉีดวัคซีน และแม้โอมิครอนจะแพร่กระจายเชื้อเร็ว แต่ความรุนแรงของอาการน้อยกว่าเดลต้า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานติดตามประเมินสถานการณ์ทั้งภายในประเทศ และศึกษากรณีของต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนเดินหน้าฟื้นประเทศภายใต้การรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจและสาธารณสุขต่อไป ในส่วนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ได้มีการเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ซึ่งทุกโครงการจะดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด" นายธนกร กล่าว

 

ล่าสุด กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ออกมาบอกว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้ รัฐบาลเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน จากนักท่องเที่ยวต่างชาติคนละ 300 บาท เพื่อนำมาใช้ในการฟื้นฟูการท่องเที่ยว และ ยังใช้ในการประกันภัยให้นักท่องเที่ยวด้วย

 

 ค่าเหยียบแผ่นดิน คืออะไร ทำไมต้องจัดเจ็บ 

 

1.ค่าเหยียบแผ่นดิน คือ ค่าบริหารจัดการค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวที่เรียกเก็บจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ในหลายประเทศก็จัดเก็บค่าธรรมเนียมนี้ เช่น ญี่ปุ่น 

 

2.ค่าเหยียบแผ่นดิน จะเริ่มเก็บวันที่ 1 เม.ย.65 ประเทศไทย เก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยคนละ 300 บาท  กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ประเมินว่า หากปีนี้มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามา 5 ล้านคน จะสามารถจัดเก็บเงินได้ประมาณ 1,500 ล้านบาท 

 

 

ที่มา: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา