ภาคเอกชน-ประชาสังคมอุดรฯบุกยื่นหนังสือ"บิ๊กตู่"ค้านโอนสนามบินให้ทอท.

06 ม.ค. 2565 | 06:06 น.

    ยังงี้ต้องฟ้อง"บิ๊กตู่" ภาคเอกชน-ประชาสังคมอุดรธานีบุกทำเนียบ ยื่นหนังสือขอชะลอถ่ายโอนสนามบินอุดรธานีให้ทอท.บริหาร อ้างเหตุเป็นธุรกิจในตลาดมุ่งผลกำไร กระทบผู้บริโภค-ธุรกิจการบินมีต้นทุนเพิ่ม เรียกร้องให้มีตัวแทนพื้นที่ร่วมบริหารจัดการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่นายวีระพงษ์ เต็มรังสรรค์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี พร้อมผู้แทนองค์กรภาคเอกชนและประชาสังคมในอุดรธานี คัดค้านและขอให้ยับยั้งการถ่ายโอนภารกิจท่าอากาศยานอุดรธานี ไปให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)(ทอท.)บริหาร โดยที่ประชุมมีมติให้ทำหนังสือร้องเรียนความเดือดร้อน และข้อเสนอแนะไปยังพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 

 

ล่าสุดนายวีระพงษ์ เต็มรังสรรค์ เป็นตัวแทนภาครัฐและเอกชน ภาคประชาชน และองค์กรปกครองท้องถิ่นของจังหวัดอุดรธานี เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านนายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ขอให้ชะลอการถ่ายโอนท่าอากาศยานอุดรธานี จากกรมท่าอากาศยาน (ทย. ) ไปให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด.(มหาชน) หรือ ทอท เป็นผู้ดูแลและบริหารจัดการแทน 

นายวีระพงษ์ เต็มรังสรรค์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี

ภาคเอกชน-ประชาสังคมอุดรฯบุกยื่นหนังสือ"บิ๊กตู่"ค้านโอนสนามบินให้ทอท.

พร้อมกันนี้ได้มีหนังสือถึงนายสิทธิชัย โควสุรัตน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้สนับสนุนท่าทีของภาคเอกชนและประชาสังคมอุดรธานี ที่มีจุดยืนคัดค้านการถ่ายโอนภารกิจสนามบินอุดรธานี ไปให้ทอท.บริหาร และชี้แจงสู่ที่ประชุมสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) นอกจากนี้ได้ทำหนังสือถึงกรอ.ภาคและกรอ.ใหญ่ในส่วนกลาง รวมทั้งยื่นหนังสือคัดค้านถึงนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  ที่กำกับดูแลภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย

 

นายวีระพงษ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน 10 องค์กร ประกอบด้วย  เทศบาลนครอุดรธานี  สภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี หอการค้าจังหวัดอุดรธานี ชมรมธนาคารจังหวัดอุดรธานี  สมาคมอสังหาริมทรัพย์อุดรธานี สมาคมส่งเสริมพ่อค้าจีนอุดรธานี  สมาคมนักธุรกิจไทยเวียดนามแห่งประเทศไทย  สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี  ตัวแทนภาคประชาชนอุดรธานี ได้ร่วมประชุมหารือกรณีดังกล่าว และมีมติให้ร่วมกันทำหนังสือแสดงการคัดค้าน และขอให้ชะลอการถ่ายโอนท่าอากาศยานอุดรธานี ไปให้กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. บริหารจัดการกิจการแทน 

จากที่คมนาคมมีแผนการถ่ายโอนสนามบินกระบี่ อุดรธานี และสนามบินบุรีรัมย์ จากสังกัดเดิม ไปให้ ทอท. บริหารจัดการแทน เบื้องต้นจะเริ่มดำเนินการกับสนามบินอุดรธานีและสนามบินกระบี่ ในวันที่ 1 มกราคม 2565จากนั้นก็จะเป็นสนามบินบุรีรัมย์  
    

โดยหนังสือคัดค้านที่ยื่นถึงนายกฯ มีสาระสำคัญ คือ

 

1.ท่าอากาศยานอุดรธานี ซึ่งมีบริหารโดยกรมท่าอากาศยาน(ทย.) ได้มีการปรับปรุงพัฒนามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นอาคารสถานที่ อาคารที่พักผู้โดยสาร หอบังคับการบิน ลานจอดอากาศยาน ระบบช่วยเดินอากาศ อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการบริการเครื่องบินทั้งหมด เป็นไปตามมาตรฐานขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO ) และสามารถสร้างรายได้ที่ดีกับภาครัฐโดยตรง 

 

พร้อมกับภาคธุรกิจเอกชนในจ.อุดรธานี เห็นว่าท่าอากาศยานอุดรธานี มีโอกาสจะพัฒนาเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค ระดับระหว่างประเทศได้ ทย.เป็นองค์กรที่สามารถยกระดับสนามบินอุดรธานี ซึ่งเป็นสนามบินนานาชาติอยู่แล้ว สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันระดับภูมิภาค ดึงดูดนักท่องเที่ยวนักลงทุน มายังภูมิภาคอีสานตอนบน 1 ได้อย่างดี ทางภาคธุรกิจเอกชน ประชาชน จึงอยากจะขอรับทราบนโยบาย และแผนทิศทางในการบริหารท่าอากาศยานอุดรธานีในอนาคต จากกรมท่าอากาศยาน(ทย.)โดยตรง เพื่อที่จะได้เข้าใจในนโยบาย และการพัฒนาจังหวัดอุดรธานี ไปในทิศทางเดียวกัน เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้กับจังหวัด และภูมิภาคอีสานตอนบน 1 

 

2.ท่าอากาศยานอุดรธานี ถือว่าเป็นบริการสาธารณะ ที่รัฐพึงจัดให้เพื่อบริการประชาชน ซึ่งถือว่าประชาชนในจังหวัดอุดรธานี เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และได้รับผลกระทบโดยตรง จากนโยบายทิศทางการบริหารงานของท่าอากาศยานอุดรธานี จึงมีความเห็นว่า ในการบริหารงานในอนาคต ควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาท่าอากาศยาน ประกอบไปด้วย ผู้บริหารของท่าอากาศยาน ผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนจากภาคธุรกิจเอกชน ผู้แทนจากประชาชนและชุมชนที่ท่าอากาศยานตั้งอยู่ เป็นต้น 

 

3.ตามที่มีข่าวเผยแพร่มาโดยตลอดว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด.(มหาชน) หรือ ทอท. จะขอเข้าบริหารจัดการท่าอากาศยานอุดรธานีนั้น ที่ประชุมมีความกังวลและมีความไม่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น ทิศทางการพัฒนาท่าอากาศยานอุดรธานี การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้ งบประมาณที่สูง และมีความต่อเนื่องในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน การบริการต่าง ๆ ที่พี่น้องประชาชนอุดรธานีจะได้รับ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ผู้เข้าไปใช้บริการจะได้รับผลกระทบ รวมถึงโอกาสในการยกระดับสนามบินเพื่อรองรับโอกาสต่าง ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคต และผลกระทบต่อผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ อาจจะสูญเสียโอกาสในการประกอบธุรกิจในสนามบิน รวมถึงความไม่ชัดเจนในวิธีการคัดเลือก ทอท. ให้เข้ามาบริหารท่าอากาศยานอุดรธานี 

 

จึงขอความกรุณาจากนายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้ชะลอการดําเนินการ โอนย้ายการบริหารท่าอากาศยานอุดรธานี ไปให้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด.(มหาชน) และขอให้มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เป็นตัวแทนทางราชการ ทบทวนศึกษาผลกระทบต่าง ๆ ของแนวทางการการบริหาร และการพัฒนาท่าอากาศยานอุดรธานี โดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วน ในฐานะเจ้าของพื้นที่ และเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ได้เข้ามารับทราบข้อมูลและ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจดังกล่าว โดยยึดหลักปฏิบัติที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาครัฐ ภาคประชาชนสูงสุด 

 

นายวีระพงษ์ฯ เปิดเผยว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2565 ได้รับแจ้งว่า หนังสือฉบับบดังกล่าวถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามในฐานะแกนนำเอกชน และเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวคัดค้านการถ่ายโอนท่าอากาศยานอุดรธานี ไปให้ ทอท.เป็นผู้ดูแลบริหารจัดการแทน ทย. ยังขอยืนยันในความคิดและเจตนาเดิมของทุกภาคส่วนชาวอุดรธานี ว่า การอยู่ในสังกัดของ ทย.นั้นดีและเหมาะสมอยู่แล้ว เพราะ ทย.มีความชัดเจนของแผนการพัฒนา ปรับปรุงสนามบินอุดรธานีให้มีความเจริญก้าวเติบโต ตามแผนพัฒนาที่วางเอาไว้อย่างชัดเจน ประกอบกับสนามบินอุดรธานีมีศักยภาพในตัว สามารถเติบโตและเป็นศูนย์กลางการเดินทางขนส่งของภูมิภาค และเชื่อมโยงสู่สากลได้ 

 

นอกจากนี้แล้วในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ที่ จ.เพชรบูรณ์และหนองคายเมื่อปี 2561 มีมติให้พัฒนาท่าอากาศยานอุดรธานีต่อเนื่อง ด้วยการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารที่ 3  เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 7.2 ล้านคน พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ 

 

แต่กระแสข่าวการถ่ายโอนสนามบินที่ผ่านมา จากกระทรวงคมนาคม และจาก ทอท.เองอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง ทำให้แผนการพัฒนาสนามบินอุดรธานีของทย.สะดุดทุกครั้ง มีการโยกงบประมาณไปพัฒนาด้านอื่นแทน ทำให้จังหวัดอุดรธานีและสนามบินอุดรธานีได้รับผลกระทบและเสียโอกาส 

 

นายวีระพงษ์ฯกล่าวอีกว่า  บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. เป็นบริษัทเอกชน แม้ว่ากระทรวงการคลังจะถือหุ้นอยู่ประมาณ 70 % แต่อีก 30% เป็นของเอกชน ซึ่งไม่มีที่มาที่ไปของหุ้นจำนวนดังกล่าว เมื่อเป็นเอกชนก็ต้องหวังผลประโยชน์ทางธุรกิจสูงสุดอยู่แล้ว  ซึ่งเป็นการสร้างภาระให้กับ ทย. ในการที่จะต้องของบประมาณจากรัฐบาล เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงท่าอากาศยานขนาดเล็ก ที่มีผลประกอบการขาดทุนอยู่อีกหลายที่ และเป็นเงินภาษีของประชาชน  ทั้งเป็นการผลักภาระให้กับประชาชนผู้บริโภคในเชิงถูกบังคับ ให้ยอมรับกับภาระดังกล่าว 

 

ในขณะที่สนามบินอุดรธานี และสนามบินกระบี่ ที่สังกัด ทย ที่มีผลประกอบการดีที่สุดของประเทศเป็นอันดับ 1 และ 2 สามารถนำผลกำไรเข้าสู่ภาครัฐได้เป็นกอบเป็นกำ สามารถนำเอาส่วนหนึ่งไปสนับสนุนสนามบินอื่น ๆ และมีคำถามว่า ทอท.ทำไมจึงไม่มีแนวความคิด ที่ขอเข้าไปบริหารและพัฒนาสนามบินขนาดเล็ก เพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับท้องถิ่นบ้าง 
    

ทั้งนี้ เคยมีความพยายามถ่ายโอนภารกิจสนามบินอุดรธานีจากทย.ไปให้ทอท.แล้วหลายครั้ง แต่ก็มีการแสดงการคัดค้านมาทุกครั้ง จนกระทั่งทางเทศบาลนครอุดรธานี ในฐานะเป็น อปท.และเป็นเจ้าของพื้นที่ที่สนามบินอุดรธานีตั้งอยู่ เคยทำเรื่องไปแจ้งกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอตัวขอเป็นผู้ดูแลบริหารภารกิจร่วมกับ ทย. เหมือนกับในบางประเทศที่กิจการสนามบินอยู่ในการดูแลจัดการบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เพื่อประโยชน์ของท้องถิ่นเอง แต่เรื่องก็ไม่ได้รับการพิจารณา

 

นายวีระพงษ์ฯกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หากทางกระทรวงคมนาคม ยังมีแผนในการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจสนามบินอุดรธานี ไปให้ทาง ทอท.ทำการบริหารแทน ทย. ก็จะเป็นการผลักภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไปให้ประชาชนผู้บริโภค ในการเข้าใช้บริการของสนามบินอุดรธานี ที่ในอัตราที่ ทอท.จะเป็นผู้กำหนดเอาเอง บนฐานคิดการทำธุรกิจของเอกชน ขณะที่หากยังอยู่ในสังกัดของ ทย. ที่รัฐบาลสร้างขึ้นมาให้เป็นสาธารณะประโยชน์แก่ประชาชน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าบริการแก่สายการบิน ค่าเช่าพื้นที่ในอาคาร และอื่น ๆ ก็จะอยู่ในระดับที่ผู้บริโภคสามารถรับได้ นอกจากนี้ประชาชนในพื้นที่ ก็ยังจะด้รับการดูแลช่วยเหลือแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งวางจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์พื้นเมือง สินค้าโอทอป หรือ SMEs ในอัตราที่เหมาะสมพอสมควร 

 

“ส่วนแผนการพัฒนาสนามบินทางทย.มีวางไว้ชัดเจน  ซึ่งเท่าที่ผมเคยเดินทางไปยังสนามบินที่ ทอท.บริหารจัดการ เช่น สนามบินภูเก็ต เชียงใหม่ สุวรณภูมิ ก็ไม่เห็นว่าจะมีการพัฒนาปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในสนามบินดังกล่าว ให้มีความเจริญเติบโต ดูสวยงาม ตามที่ ทอท.พูดเอาไว้ก่อนที่จะเข้ามาบริหาร แต่ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือบริการทุกสิ่งทุกอย่างมีราคาสูงกว่าสนามบินที่อยู่ในสังกัด ทย. เช่น ราคาค่าอาหาร ค่าบริการใช้สนามบิน ราคาสินค้าต่าง ๆ ซึ่งสอบถามก็ได้คำตอบว่า เพราะ ทอท.เก็บค่าเช่าพื้นที่แพง”นายวีระพงษ์ฯกล่าว