"สิ่งทอ-การ์เมนต์" คัมแบ็กส่งออกพุ่ง 3,000 โรงงานผลิตเต็มสูบ

05 ม.ค. 2565 | 07:30 น.

สิ่งทอ-การ์เมนต์ ผ่านจุดต่ำสุด ตัวเลขส่งออกปี 64 พุ่งทะยาน กว่า 3,000 โรงงาน กลับมาผลิตเต็ม 100% แต่เทียบปี 62 ก่อนเกิดโควิดยอดยังหายไปกว่า 2 หมื่นล้าน ฟันธงปี 65 ยังโตต่อเนื่อง โตได้ 10-15% ชี้ขาดแคลนแรงงาน-ค่าแรงจ่อปรับปัจจัยลบ เทรนด์รักษ์โลกปลุกอุตสาหกรรมเร่งปรับตัว

 

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 2 อุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกสำคัญของประเทศ ช่วงปี 2563 ต้องซมพิษโควิดหนักหน่วง ตลาดต่างประเทศหดหายจากเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว ยอดส่งออกติดลบ -16.9% และ -17.1% ตามลำดับ โรงงานในอุตสาหกรรมกว่า 3,000 โรงต้องหันไปเย็บหน้ากากอนามัย และชุด PPE ขายเพื่อประคองธุรกิจ แต่สถานการณ์ปี 2564 ล่าสุด ได้ปรับตัวดีขึ้นแล้ว

 

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ตัวเลขการส่งออกเครื่องนุ่งห่ม (การ์เมนต์) ช่วง 11 เดือนแรกปี 2564 มีมูลค่า 6.48 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 7.7% ส่วนสิ่งทอมีมูลค่าส่งออก 1.86 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 14.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (กราฟิกประกอบ) ทั้งนี้การส่งออกเครื่องนุ่งห่มที่ขยายตัวส่วนหนึ่งผลจากตลาดสหรัฐฯซึ่งเป็นตลาดส่งออกสัดส่วน 1 ใน 3 ของการส่งออกในภาพรวมมีการนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น โดยลดการนำเข้าสินค้าจากจีนลงจากผลพวงสงครามการค้า

 

 

"สิ่งทอ-การ์เมนต์" คัมแบ็กส่งออกพุ่ง 3,000 โรงงานผลิตเต็มสูบ

 

ส่วนการส่งออกสิ่งทอ มีปัจจัยบวกจากประเทศผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มรายอื่น ๆ เช่น เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย อินเดีย ยุโรป รวมถึงโรงงานเครื่องนุ่งห่มในสหรัฐฯบางส่วน มีการนำเข้าวัตถุดิบจากไทยเพิ่มขึ้น เช่น เส้นใย เส้นด้าย ผ้าผืนจากไทยไปผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น ทำให้เวลานี้โรงงานเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอในไทยกลับมาใช้กำลังการผลิตเต็ม 100% แล้ว แต่ปัญหาที่ตามมาเวลานี้คือการขาดแคลนแรงงานในการผลิต จากแรงงานต่างด้าวกลับประเทศในช่วงโควิด ภาพรวมโรงงานเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอยังขาดแคลนแรงงาน 3-5 หมื่นคน ทำให้การเพิ่มการผลิตต้องใช้วิธีทำงานล่วงเวลา(โอที)แทน

 

ยุทธนา  ศิลป์สรรค์วิชช์

 

 “การส่งออกการ์เมนต์ทั้งปี 2564 คาดจะเพิ่มขึ้น 8-9% และสิ่งทอคาดจะเพิ่มขึ้น 15-20% เมื่อเทียบกับปี 2563 อย่างไรก็ดีในแง่มูลค่าการส่งออกการ์เมนต์ในปี 2564 หากเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นปีฐานก่อนเกิดโควิดตัวเลขปี 2564 ยังหายไปกว่า 1 หมื่นล้าน และสิ่งทอก็หายไปประมาณ 1 หมื่นล้านเช่นเดียวกัน แต่ถือว่าเราได้ผ่านจุดต่ำสุดช่วงสถานการณ์โควิดมาแล้ว ส่วนในปี 2565 ทางสมาคมฯคาดการส่งออกการ์มนต์จะขยายตัวได้ 10% ส่วนกลุ่มสิ่งทอเขาก็วางตัวเลขจะโตได้ 15%”

 

"สิ่งทอ-การ์เมนต์" คัมแบ็กส่งออกพุ่ง 3,000 โรงงานผลิตเต็มสูบ

 

ทั้งนี้นอกจากโควิดสายพันธุ์ “โอมิครอน” ที่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในเวลานี้แล้ว ยังมีอีก 3-4 ปัจจัยเสี่ยง ที่จะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในปี 2565 ได้แก่ 1.การขาดแคลนแรงงาน 2.ค่าจ้างแรงงานที่อาจปรับขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ 3.ตู้คอนเทนเนอร์ส่งออกยังขาดแคลน และค่าระวางเรือยังสูง และ 4.ค่าเงินบาทที่อาจแข็งค่าขึ้นเร็ว จากเวลานี้อ่อนค่าที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่าช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้มาก และมีปัจจัยบวกจากสหรัฐฯนำเข้าสินค้าไทยทดแทนสินค้าจีนเพิ่มขึ้น

 

นายยุทธนา กล่าวอีกว่า ทิศทางการผลิตและความต้องการสินค้าเครื่องนุ่งห่ม และสิ่งทอ ของโลกเวลานี้เริ่มเปลี่ยนไป โดยมีความต้องการสินค้ารักษ์โลก หรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อลดโลกร้อนมากขึ้น โดยแบรนด์ดัง ๆ ได้สั่งผลิตสินค้าที่ทำจากเส้นใยรีไซเคิล ลดการใช้น้ำ ใช้พลังงาน วัตถุดิบเป็นฝ้ายออร์แกนิค เป็นสินค้าสีเขียว (Green Product) รักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อสร้างทางเลือกให้ลูกค้า โดยสินค้าเหล่านี้จะมีราคาสูงกว่าเสื้อผ้าปกติประมาณ 20%

 

"สิ่งทอ-การ์เมนต์" คัมแบ็กส่งออกพุ่ง 3,000 โรงงานผลิตเต็มสูบ

 

ด้านนายสุกิจ คงปิยาจารย์ กรรมการผู้จัดการฮงเส็งกรุ๊ป หนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ากีฬารายใหญ่ กล่าวว่า การส่งออกของกลุ่มปี 2564 คาดจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 5% จากสหรัฐฯซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดหลักมีคำสั่งซื้อเสื้อผ้ากีฬาเพิ่มเติมในกลุ่มเสื้อผ้าเด็กโต และผลพวงจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ทำให้สหรัฐฯนำเข้าสินค้าจากไทยทดแทนจีนเพิ่มขึ้น ส่วนปี 2565 คาดการส่งออกของกลุ่มจะยังขยายตัวต่อเนื่องในอัตราตัวเลขหนึ่งหลัก หากไม่ขาดแคลนแรงงานคงขยายตัวได้มากกว่านี้ และส่วนหนึ่งอาจได้อานิสงส์จากความตกลง RCEP ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 อย่างไรก็ดีอีกด้านหนึ่งตลาดในประเทศคงต้องระวังสินค้าเสื้อผ้าจากจีนที่จะเข้ามาถล่มตลาดจากข้อตกลง RCEP รวมถึงรถไฟลาว-จีน ทำให้สินค้าจีนเข้าไทยสะดวกมากขึ้น

หน้า 1หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3746 วันที่ 6-8 มกราคม 2565