“คมนาคม” กางแผนปีเสือ ลงทุน 36 โครงการ 1.57ล้านล้าน

02 ม.ค. 2565 | 06:17 น.

“คมนาคม” เปิดแผนลงทุนเมกะโปรเจ็คต์ 36 โครงการ วงเงิน 1.57 ล้านล้านบาท เร่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเบิกจ่ายงบปี 65 ตั้งเป้า 95% ในเดือนก.ย.65 หลังได้รับจัดสรรงบลงทุนกว่า 1.82 แสนล้าน คาดลงนามสัญญาผู้รับจ้างภายในเดือนม.ค.-มี.ค.65

กระทรวงคมนาคมเร่งลงทุนและติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณ ปี2565 ของหน่วยงานในสังกัด ให้เป็นไปตามเป้าหมายรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศที่มี โครงการขนาดใหญ่ของแต่ละหน่วยงานรวม 36โครงการมูลค่า 1.57ล้านล้านบาท

 

 

 

 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่ากระทรวงคมนาคมได้รับจัดสรรงบประมาณแผ่นดินปี 2565 (8 ส่วนราชการ 5 รัฐวิสาหกิจ) ในภาพรวม จำนวน 208,455.23 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 26,076.73 ล้านบาท (ร้อยละ 12.51) และรายจ่ายลงทุน 182,378.50 ล้านบาท ร้อยละ 87.49 โดยในส่วนของงบรายจ่ายลงทุน ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2564 มีการเบิกจ่ายเงินแล้ว14,933.79 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8.19 ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรร เมื่อเปรียบเทียบกับแผนการเบิกจ่ายเงิน ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2564 จำนวน 14,748.87 ล้านบาท สามารถเบิกจ่ายเงินได้เร็วกว่าแผน

 

 

“ได้กำชับให้หน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณแผ่นดินปี 2565 เร่งดำเนินการขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้ลงนามในสัญญาได้ครบทุกรายการโดยเร็ว และเบิกจ่ายเงินให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล ร้อยละ 93 และรายจ่ายลงทุน ร้อยละ 75 และในส่วนของงบลงทุนรัฐวิสาหกิจขอให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจเร่งรัดเบิกจ่ายเงินให้เป็นไปตามแผนการเบิกจ่ายเงินในแต่ละเดือน เพื่อที่จะให้ผลการเบิกจ่ายเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล ร้อยละ 95 ภายในเดือนกันยายน 2565”

 

 

 

ทั้งนี้การลงนามในสัญญารายจ่ายลงทุน กระทรวงคมนาคมมีรายการที่จะต้องลงนามในสัญญา รายการปีเดียวจำนวน 7,624 รายการ วงเงิน 77,847.10 ล้านบาท คาดว่าจะได้ตัวผู้รับจ้างทุกรายการในเดือนธันวาคม 2564 และทยอยลงนามในสัญญาจ้างจนครบทุกรายการภายในเดือนมกราคม 2565 ส่วนรายการผูกพันใหม่ จำนวน 138 รายการวงเงิน 2,876.06 ล้านบาท คาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ครบทุกรายการภายในเดือนมีนาคม 2565

 

 

 

 ส่วนงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ปี 2565 (10 รัฐวิสาหกิจ) วงเงินเบิกจ่ายรวม 131,829.01 ล้านบาท ประกอบด้วย ทางราง(การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) วงเงิน 91,495.05 ล้านบาท ทางบก (การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) วงเงิน 11,865.73 ล้านบาท ทางน้ำ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) วงเงิน 2,135.40 ล้าบาท และทางอากาศ (สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) และบริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด (มหาชน)หรือ รทส. วงเงิน 26,332.83 ล้านบาท

 

 

 

+36โครงการ1.57ล้านล้าน

 

สำหรับโครงการสำคัญขนาดใหญ่ที่จะเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 36 โครงการ รวมวงเงิน 1,573,763 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย วงเงิน 2,139 ล้านบาท 2.โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม วงเงิน 1,361ล้านบาท 3.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา) วงเงิน 84,600 ล้านบาท 4.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี) วงเงิน 56,047 ล้านบาท 5.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว วงเงิน 19,700 ล้านบาท 6.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 5 ส่วนต่อขยายอุตราภิมุข ตอนรังสิต-บางปะอิน วงเงิน 39,956 ล้านบาท 7.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 9 สายวงแหวรรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก ตอนบางขุนเทียน-บางบัวทอง วงเงิน 56,035 ล้านบาท 8.โครงการก่อสร้างสะพานเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ วงเงิน 1,600 ล้านบาท 9.โครงการก่อสร้างสะพานทะเลสาบสงขลา จังหวัดพัทลุง วงเงิน 4,600 ล้านบาท 10.โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) จังหวัดชุมพร-ระนอง วงเงิน 100,000 ล้านบาท

11.โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย รวมวงเงิน 179,413 ล้านบาท ประกอบด้วยช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และ 12. ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย 13.โครงการรถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต วงเงิน 9,087 ล้านบาท และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน วงเงิน 62,772 ล้านบาท 14.โครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วงเงิน 6,640 ล้านบาท 15.โครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และสถานีเพิ่มเติม 3 สถานี (สถานีพระราม6,สถานีบางกรวย กฟผ.,สถานีบางฉิมพลี) วงเงิน 10,600 ล้านบาท 16.โครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช วเงิน 4,730 ล้านบาท 17.โครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง วงเงิน 49,600 ล้านบาท 18.โครงการศูนย์เปลี่ยนสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าเพื่อรองรับการขนส่งทางราง จังหวัดหนองคาย (อยู่ระหว่างของบศึกษา) 19.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ประกอบด้วย ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ วงเงิน 18,699 ล้านบาท ,ช่วงบาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ วงเงิน 23,910 ล้านบาท ,ช่วงนครปฐม - หัวหิน วงเงิน 15,718 ล้านบาท , ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน 5,807 ล้านบาท ,ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร วงเงิน 12,457 ล้านบาท 20.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ประกอบด้วย ช่วงขอนแก่น-หนองคาย วงเงิน 25,842 ล้านบาท , ช่วงชุมทางจิระ-อุบลราชธานี วงเงิน 36,683 ล้านบาท

 

 

 

21.โครงการก่อสร้างรถไฟสายใหม่ ประกอบด้วย สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 72,921 ล้านบาท ,สายบ้านไผ่-นครพนม วงเงิน 54,684 ล้านบาท 22.โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี วงเงิน 50,970 ล้านบาท 23.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง วงเงิน 51,810 ล้านบาท 24.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท 25.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) วงเงิน 7.8 หมื่นล้านบาท 26.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) วงเงิน 4.8 หมื่นล้านบาท 27.โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท 28.โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี วงเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท 29.โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา ช่วงตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ วงเงิน 8,000 ล้านบาท 30.โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดพิษณุโลก ช่วงมหาวิทยาลัยพิษณุโลก-ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพิษณุโลกวงเงิน 1,566 ล้านบาท

 

 

 

31.โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 -ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯด้านตะวันตก วงเงิน 30,000 ล้านบาท 32.โครงการทางพิเศษกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต วงเงิน 14,470 ล้านบาท 33.โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 วงเงิน 84,361 ล้านบาท 34.โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงิน6,254 ล้านบาท 35.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงิน 36,000 ล้านบาท และ 36.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 วงเงิน 15,818 ล้านบาท

+ทล.ประมูลบิ๊กโปรเจ็กต์  


นายสราวุธ  ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า โครงการถนนของกรมทางหลวง (ทล.) ที่จะเปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุนภายในปี 2565 นั้น ประกอบด้วย 1.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข9 (M9) สายถนนวงแหวนตะวันตก ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 36 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 56,035 ล้านบาท 2.โครงการส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 18 กม. วงเงิน 39,956 ล้านบาท โดยจะใช้จากเงินกองทุน (TFFIF) เพื่อชำระหนี้คืนหลังจากโครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 82 (M82) สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 25 กิโลเมตร (กม.) ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2567  3.โครงการก่อสร้างจุดพักรถบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 กรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด ช่วงช่วงพัทยา-มาบตาพุดจุดพักรถ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี (Rest Area) พื้นที่ 66 ไร่ วงเงิน 300 ล้านบาท 4.โครงการก่อสร้างจุดพักรถบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 ช่วงชลบุรี-พัทยา จุดพักรถพื้นที่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี (Rest Area) พื้นที่ 117 ไร่ วงเงิน 700 กว่าล้านบาท เบื้องต้นโครงการก่อสร้างจุดพักรถทั้ง 2 โครงการจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบผลการศึกษาโครงการฯ ต่อไป

 

 


+ลุยสายสีแดง


นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดงว่า ขณะนี้ผลการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการจัดทำเอกสารประกวดราคา และการดำเนินงาน ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง(สายสีแดง) 4 โครงการ วงเงิน 7.93 หมื่นล้านบาท เสร็จเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย 1.ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 4.96 หมื่นล้านบาท, 2.ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6.64 พันล้านบาท, 3.ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และก่อสร้างสถานีเพิ่มเติม ประกอบด้วย สถานีพระราม 6 สถานีบางกรวย-การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และสถานีบ้านฉิมพลี ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 1.06 หมื่นล้านบาท และ 4.ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4.73 พันล้านบาท

 

“คมนาคม” กางแผนปีเสือ ลงทุน 36 โครงการ 1.57ล้านล้าน

 

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ที่ปรึกษาต้องสรุปผลการศึกษาเสนอให้คณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท. และกระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาในเดือน พ.ค.65 หากเห็นชอบคาดว่าจะสามารถเปิดสรรหาเอกชนเพื่อเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบเอกชนลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ทั้ง 4 เส้นทางได้ในช่วงปลายปี 65 และได้ผู้รับจ้าง พร้อมเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 66 อย่างไรก็ตามสำหรับรูปแบบการลงทุนฯ นั้น จะเสนอ 3 แนวทางให้กระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) และ ครม.พิจารณา   

 

 

 


สำหรับแผนการก่อสร้างรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดงของ รฟท. นั้น เบื้องต้น ช่วง รังสิต-มธ.ศูนย์รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช จะเริ่มก่อสร้างในเดือน ส.ค. 66- ก.ค. 69  และเปิดให้บริการปี 69  ส่วนช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ –หัวลำโพง  จะเริ่มก่อสร้างเดือน ส.ค.66-ม.ค.71 และเปิดให้บริการปี 71 สำหรับอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 12 บาท  และเพิ่มขึ้น 2.10 บาทต่อ กม. ค่าโดยสารสูงสุดแต่ละช่วงไม่เกิน 42 บาท จะปรับเพิ่มขึ้นทุก 2 ปี ครั้งละ 3%