เริ่มแล้ว กทท.จับมือ GPC ลงนามสัญญา สร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3

25 พ.ย. 2564 | 06:08 น.

กทท.ลุยลงนามสัญญาร่วม GPC สร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ท่าเรือ F เตรียมทุ่มงบ 700 ล้าน สร้างทางรถไฟ 5 กม.เชื่อมขนส่งสินค้าทางทะเล ด้านเอกชนเล็งเข้าพื้นที่ติดตั้งระบบปี 66 คาดโกยรายได้ 4 พันล้าน หลังเปิดให้บริการ

เรือโทยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย สายบริหารการเงินและกลยุทธ์องค์กร รักษาการแทนผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)​ เปิดเผยว่าบริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (GPC) ร่วมลงนามสัญญาร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) กับการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาและดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F จังหวัดชลบุรี โดยมีมูลค่าการลงทุนในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างหน้าท่าจำนวน 30,871 ล้านบาท มุ่งผลักดันท่าเรือแหลมฉบังสู่ประตูการค้า การลงทุน และเสริมยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาคได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้ประเทศ โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการภายในปี พ.ศ. 2568

 

 

 

 

 ทั้งนี้ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 จะสามารถรองรับเรือที่มีขนาดบรรทุกสินค้าใหญ่ที่สุดในโลกได้ มีการบริหารจัดการสินค้าด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยด้วยระบบอัตโนมัติ พร้อมทั้งจะมีโครงข่ายเชื่อมโยงหลังท่าเรือ ทั้งทางบก ทางราง และทางเรือชายฝั่ง อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนผสมผสานให้เป็นท่าเรือสีเขียว คำนึงถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ คำนึงถึงสุขภาพของประชาชนในบริเวณใกล้เคียง อันจะนำไปสู่ท่าเรือชั้นนำระดับมาตรฐานโลกต่อไป

สำหรับการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมหลังท่าเรือแหลมฉบัง โซน F นั้น คาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 700 ล้านบาท โดย กทท.จะเป็นผู้ดำเนินการในส่วนนี้ ซึ่งจะมีการสร้างรางรถไฟครอบคลุม ท่าเทียบเรือ F1, F2 ท่าเทียบเรื่อง E1 และE2 ที่จะมีการประมูลในอนาคต หรืออีก 10 ปีข้างหน้า

 

 

ส่วนเส้นทางในการก่อสร้างทางรถไฟจะเริ่มต้นที่สถานีรถไฟแหลมฉบัง เชื่อมต่ไปที่หลังท่าเรือแหลมฉบัง โซน F เป็นระยะทางกว่า 5 กิโลเมตร ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 4 ปี (2565-2568)​ และคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมกับการก่อสร้างโครงการท่าเรือแหบมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเรือ F)​ ภายในปี 2568-ต้นปี 2569

เรือโทยุทธนา กล่าวว่า ส่วนโครงการท่าเรือบก (Dry Port)​ นั้น ขณะนี้ อยู่ระหว่างการจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสม เดิมทีจะมีการก่อสร้างที่จังหวัดฉะเชิงเทรา​แต่เยื้องต้นพบปัญหาที่อาจกระทบกับชุมชน จึงต้องศึกษาหาพื้นที่ใหม่ ซึ่งการสร้างท่าเรือบก ต้องใช้พื้นที่กว่า 500-1,000 ไร่ โดยที่ผ่านมา การท่าเรือฯ มีการศึกษาในพื้นที่จ.ขอนแก่น และนครราชสีมา​ แต่ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) อยากให้ใช้พื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)​ มากกว่า เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพของท่าเรือในการเพิ่มปริมาณขนส่งสินค้าต่อไป

 

เริ่มแล้ว กทท.จับมือ GPC ลงนามสัญญา สร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3

 

นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทกัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด กล่าวว่า ส่วนของเอกชนหลังจากลงนามสัญญาแล้ว ทางเอกชนอยู่ระหว่างการพิจารณาจ้างบริษัทเอกชนจากต่างประเทศเพื่อบริหารท่าเรือฯ ซึ่งเอกชนอาจจะบริหารเองหรือใช้ซับคอนแทรคเข้ามาดำเนินการ ขณะเดียวกันเอกชนจะดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์และระบบ ภายในปี 2566 ภายหลังกทท.ดำเนินการถมที่ดินแล้วเสร็จ ซึ่งจะทำให้ท่าเรือดังกล่าวมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยแทนการใช้กำลังคน คาดว่าเอกชนจะมีรายได้อยู่ที่ 4,000 ล้านบาท ภายในปี 2568-2572 และมีรายได้อยู่ที่ 8,000 ล้านบาทภายหลังปี 2572 ซึ่งจะทำให้เอกชนได้รับผลตอบแทนจากการคืนทุนของโครงการฯ ภายในปี 2578 หรือระยะเวลา 10 ปี

 

 

 

  อย่างไรก็ตามกทท.จะเป็นผู้ดำเนินการถมทะเล ในขณะที่ GPC จะเป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง ให้บริการ และซ่อมบำรุงรักษาท่าเทียบเรือ F1 และ F2 เพื่อรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าด้วยระบบจัดการตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ ซึ่งมีความสามารถในการรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าได้อย่างน้อย 4,000,000 ทีอียูต่อปี โดย GPC จะได้รับรายได้จากการประกอบกิจการท่าเรือ เช่น ค่าภาระการใช้ท่าของเรือ ค่าภาระยกขนตู้สินค้า ค่าภาระการใช้ท่าของตู้สินค้า และรายได้อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามขอบเขตและเงื่อนไขที่กำหนดภายใต้สัญญาร่วมลงทุนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เป็นระยะเวลา 35 ปี ทั้งนี้ คาดว่าท่าเทียบเรือ F1 จะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2568 และท่าเทียบเรือ F2 จะเริ่มก่อสร้างในปี 2570 โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2572