เอกชนผวา "ล็อกดาวน์"ทุบเศรษฐกิจ จี้ฉีดเข็ม 3 สู้โอมิครอน

29 ธ.ค. 2564 | 22:30 น.

เอกชนจี้รัฐเร่งระดมฉีดวัคซีนเข็ม 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกันประชาชนอีก 45 ล้านโดสรับมือโอมิครอนระบาดแรง แนะถอดบทเรียนอังกฤษฉีดช้ารับมือไม่ทัน หวั่นหลังคริสต์มาส-ปีใหม่ยอดติดเชื้อพุ่ง อาจต้องกลับมาล็อกดาวน์ เริ่มต้นนับ 1 ใหม่ ดับฝันเศรษฐกิจฟื้น

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน”ได้กระจายไปทั่วโลกในวงกว้าง มีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก โดยอังกฤษและสหรัฐฯ มหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับต้น ๆ ของโลก ณ ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อโควิดโอมิครอนเกิน 1 แสนคนต่อวัน หลายประเทศในยุโรปเริ่มกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง ส่วนไทยมีผู้ติดเชื้อโอมิครอนแล้วกว่า 100 คน สร้างความหวาดหวั่น หากคนไทยการ์ดตกช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ อาจได้เห็นโควิดกลับมาระบาดระลอกใหม่ ความหวังเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวในทิศทางบวกอาจสะดุดลงได้

 

หวั่นซ้ำรอยอังกฤษจี้เร่งเข็ม 3

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยอังกฤษที่เวลานี้ผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในเข็มที่ 3 ล่าช้า โดยประชากรของอังกฤษใกล้เคียงกับไทย แต่ฉีดเข็ม 3 ไปได้แค่ 20 ล้านโดสเท่านั้น ทำให้ไม่ทันกับสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโอมิครอน ดังนั้นเสนอวาระเร่งด่วนให้รัฐบาลไทยเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้คนไทยสู้กับโควิดโอมิครอนที่กำลังแพร่ระบาด และเป็นสายพันธุ์หลักในเวลานี้

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

“เวลานี้ในเข็มที่ 1 ฉีดได้ครบ 100 ล้านโดสแล้ว และเข็มที่ 2 ก็ใกล้จะครอบคลุม 70% ของจำนวนประชากรตามเป้าหมาย ดังนั้นต้องเร่งระดมฉีดในเข็มที่ 3 ซึ่งเป็นเข็มกระตุ้นภูมิให้กับประชาชนทั่วประเทศ ทราบว่าเวลานี้รัฐบาลมีวัคซีนอยู่ในมือกว่า 60 ล้านโดส ขณะนี้ฉีดเข็ม 3 ได้แล้วกว่า 5 ล้านโดส ดังนั้นต้องเร่งอีก 45 ล้านโดสเพื่อให้ครบ 50 ล้านโดส เพื่อสร้างความอุ่นใจว่าไทยสามารถสร้างภูมิคุ้มกันโอมิครอนไม่ให้กระจายในวงกว้างจนเอาไม่อยู่เหมือนที่กำลังเกิดขึ้นในอังกฤษ ซึ่งจากศักยภาพในการฉีดวัคซีนของไทยที่ทำได้กว่า 5 แสนโดสต่อวัน ใช้เวลา 3 เดือน หรือสิ้นไตรมาสแรกของปี 2565 ก็จะสามารถฉีดได้ครอบคลุมและจะช่วยได้มาก”

 

เอกชนผวา "ล็อกดาวน์"ทุบเศรษฐกิจ จี้ฉีดเข็ม 3 สู้โอมิครอน

 

ผวาล็อกดาวน์ศก.นับ 1 ใหม่

อย่างไรก็ดีจากข้อมูลที่ยังไม่รวมผลกระทบจากโอมิครอนธนาคารโลกคาดการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยในปี 2565 จะขยายตัวได้ 3.9-4% ส่วนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดจะขยายตัวได้ 3-4.5% หากไทย และในต่างประเทศเช่น อังกฤษ ยุโรป สหรัฐฯ เอาไม่อยู่ และต้องกลับมาล็อกดาวน์ประเทศอีก ก็จะกลับไปสู่สภาพเดิมคือเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวของโลก กลับไปชะลอตัวอีกครั้ง เรือบรรทุกสินค้า ท่าเรือ คนงานจะหยุดกันหมด กระทบส่งออก และต้องกลับไปสู่วงจรเดิมและเริ่มต้นนับ 1 ใหม่อีก ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการของไทยที่กำลังจะฟื้นตัวจากเปิดประเทศก็จะสะดุดลงอีก และอาจได้รับผลกระทบ รุนแรงมากกว่าครั้งก่อน เพราะส่วนใหญ่สภาพคล่องเหลือน้อยเต็มที ทั้งนี้ต้องจับตาในวันที่ 4 ม.ค. 2565 ที่จะมีการประชุม ศบค.เพื่อประเมินสถานการณ์โควิด หากมีผู้ติดเชื้อมากก็จะกระทบกับทุกภาคส่วน และรัฐอาจต้องใช้เงินอีกมหาศาลในการเยียวยา

 

แนะรัฐเตรียมเงินเยียวยาเพิ่ม

ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า รัฐบาลต้องสื่อสารและให้ข้อมูลที่ชัดเจนกับประชาชน ว่า หากมีการระบาดของโควิดโอมิครอนรุนแรง วัคซีนที่มีจะเอาอยู่หรือไม่ วัคซีนเข็มที่ 4 ที่คงต้องฉีด จะฉีดเมื่อไร และมีสูตรการฉีดอย่างไร จะเกิดผลข้างเคียงหรือไม่ อย่างไร ไม่ใช่ให้ประชาชนไปหาข้อมูลเองทางอินเตอร์เน็ตซึ่งจะทำให้เกิดความสับสน นอกจากนี้มีคำถามว่าหากสถานการณ์มีความรุนแรงงบประมาณที่รัฐบาลมีอยู่จะมีเพียงพอในการรองรับในการเยียวยา หรือกระตุ้นเศรษฐกิจกำลังซื้อของประชาชนหรือไม่ จากที่ผ่านมารัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากในการจัดหาวัคซีน ดังนั้นคงต้องเตรียมจัดหางบเพิ่มในส่วนนี้

 

สำหรับในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกที่เวลานี้ยังไปได้ดี (11 เดือนแรกปี 2564 ขยายตัว 16.4%) แต่ที่ผ่านมาผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น ค่าระวางเรือ การจัดหาตู้คอนเทนเนอร์ ค่าขนส่งในประเทศจากผลกระทบราคาน้ำมัน ทำให้มีต้นทุนสูงและเหลือกำไรน้อย ขณะที่ความท้าทายในปี 2565 คือ การควบคุมต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าจากผลกระทบเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงแนวโน้มค่าจ้างแรงงานที่จะปรับตัวสูงขึ้น

 

ชัยชาญ  เจริญสุข

 

“ที่เราอยากให้ภาครัฐช่วยคือการลดต้นทุน โดย สรท.เตรียมเสนอการท่าเรือแห่งประเทศไทยพิจารณาลดค่าภาระท่าเรือ (THC) จากอัตราปกติที่ผู้ส่งออกต้องจ่าย ตู้ขนาด 20 ฟุตที่ 2,800 บาท และตู้ขนาด 40 ฟุตที่ 4,300-4,350 บาท โดยขอให้การท่าเรือฯ พิจารณาส่วนลด 1,000 บาทต่อตู้สำหรับตู้สินค้าขาออกที่ใช้บริการผ่านท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบังเป็นเวลา 3 เดือน รวมถึงสนับสนุนเงินทุนในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเทคโนโลยีเพื่อลดใช้แรงงานคน และเพื่อรองรับ BCG (Bio-Circular- Green Economy) ที่กำลังเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก”

 

ผลงานเด่น-ด้อยรัฐรอบปี64

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลงานรัฐบาลที่ทำได้ดีในปี 2564 อาทิ สามารถบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีน 100 ล้านโดสเรียบร้อยแล้ว และยังมีแผน Boost เข็ม 3 เพิ่มเติม เพื่อการป้องการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ การผลักดันการส่งออกที่คาดปีนี้จะขยายตัวได้ถึง 15% ด้านปากท้องลดค่าครองชีพประชาชน มีหลายโครงการที่มีเสียงตอบรับจากผู้ประกอบการที่ดี เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกันที่ตอบโจทย์ประชาชนและผู้ประกอบการ เป็นต้น

 

สนั่น  อังอุบลกุล

 

“อย่างไรก็ดีมีหลายมาตรการที่รัฐบาลได้นำเสนอออกมาไม่เข้าเป้าและไม่สามารถช่วยผู้ประกอบการได้เท่าที่ควร จากติดขัดขั้นตอนการปฏิบัติจนทำให้เสียโอกาสในการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายเช่น โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ โครงการสินเชื่อ Soft loan โดยที่ SMEs เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนเท่าที่ควร หากธปท. สามารถยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่จำเป็นเร่งด่วน และลดขั้นตอนพร้อมกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นลง จะช่วยให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs กลับมาฟื้นตัว ซึ่งจะช่วยรักษาการจ้างงานด้วย” นายสนั่น กล่าว

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3743 วันที่ 26-29 ธันวาคม 2564