"ศุภชัย"แนะ4ข้อ“สู่ความยั่งยืน"ปตท.-tpippประกาศ"เลิกถ่านหิน"

24 ธ.ค. 2564 | 05:10 น.

"ศุภชัย"แนะ 4 ข้อสู่ความยั่งยืน  ยุทธศาสตร์ต้องชัด มุ่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ทำควบคู่ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และรุกมีส่วนร่วมในเวทีโลก บิ๊กธุรกิจขานรับ"รักษ์โลก" ปตท.-TPIPP ลั่นเลิกถ่านหิน ร้องรัฐตั้ง"ตลาดคาร์บอน" ยูโอบีเปิด3แพ็จเกจลุย"สินเชื่อสีเขียว"  

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) อดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา Sustain- ability Goal คำตอบธุรกิจสู่ความยั่งยืน” หัวข้อ เดินหน้าเศรษฐกิจไทย สู่เป้าหมายความยั่งยืน จัดโดยเครือเนชั่น และฐานเศรษฐกิจ ใจความสำคัญว่า

 

 เวลานี้ทั่วโลกคุยกัน 3 เรื่องใหญ่ คือ ความยั่งยืน ดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชั่น และความยืดหยุ่นทนทาน รับความเปลี่ยนแปลงที่ผันผวนรุนแรง ไม่แน่นอน คาดการณ์ไม่ได้ เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ในแทบทุกวงการ แต่ต้องถามว่าที่สุดแล้วเป็นประโยชน์จริงหรือไม่

 การเข้าสู่ความยั่งยืนมี 3 แนวทางใหญ่ที่ต้องควบคู่กัน คือ ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม องค์การสหประชาชาติประกาศอะเจนด้า 2030 หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 หัวข้อใหญ่ แยกย่อยมากกว่า 100 ตัวชี้วัด ครอบคลุมทั้ง 3 แนวทางดังกล่าว ที่ควรต้องคอยประเมินว่าแต่ละหัวข้อมีพัฒนาการไปเป็นอย่างไรบ้าง

 

 ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะ 4 เรื่อง คือ

1.รัฐต้องกำหนดยุทธศาตร์ที่ชัดเจน อุตสาหกรรมใด การเกษตรแบบไหนที่มีศักยภาพจะพัฒนาต่อยอดและแข่งขันได้

2.นอกจากเศรษฐกิจสีเขียว ต้องดูแกลุ่มด้อยโอกาส พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน จากตัวอย่างบทบาท อสม.ทั่วประเทศ ได้ช่วยควบคุมการระบาดโควิด-19 อย่างเป็นผล
 3.ความยั่งยืนต้องรวมทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หรือ ESG จริงๆ ไม่ใช่ทำเพียงแค่ประชา สัมพันธ์หรือโปรโมทสินค้าเท่านั้น และ
 4.ไทยต้องรุกเข้าไปมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อร่วมกำหนดกติกาที่จะออกมาบังคับใช้
 

ด้านเวทีเสวนา “คำตอบจากธุรกิจสู่ความยั่งยืน” โดยผู้บริหารองค์กรธุรกิจชั้นนำของไทย ต่างตื่นตัวรับกระแสรักษ์โลก นายเทอดเกียรติ พร้อมมูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กรและความยั่งยืน บมจ. ปตท. กล่าวว่า ปตท.ปรับสู่ยุคพลังงานใหม่ พร้อมต่อยอด สู่ธุรกิจใกล้เคียง หรือที่ ปตท. มีขีดความสามารถ อาทิ Life Science ชีวภาพ ยา ไลฟ์สไตล์ ไฮเทค ที่มีมูลค่าสูง ธุรกิจด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงดิจิทัล

 

นายเทอดเกียรติ เผยว่า ปตท.จึงมุ่งสู่ Future Energy ใน 2 แนวทางคือ 1.พลังงานเดิมที่ใช้อยู่ต้อง Go Green คือ สะอาดยิ่งขึ้น และ 2.พลัง งานใหม่คือ มุ่งไฟฟ้า หรือ Go Electric โดยปตท.ตัดสินใจออกจากธุรกิจถ่านหินภายในเวลาที่เหมาะสม และตั้งเป้าหมาย ในอีก 10 ปี (2030) กำไร ของปตท.จากกลุ่ม Future Energy จะมีสัดส่วนจากปัจจุบันไม่เกิน 5% เพิ่มเป็น 30% มีธุรกิจไฟฟ้าจากพลัง งานทดแทน 12,000 เมกะวัตต์ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงจากปัจจุบันอีก 15% เร็วกว่าเป้าหมายประเทศ เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาล

 

 ปตท.ทำโครงการปลูกป่ามานานตั้งแต่ปี 2537 และดูแลจนถึงวันนี้เป็นพื้นที่มากกว่า 1 ล้านไร่ ซึ่งป่าช่วยผลิตออกซิเจนได้เป็นจำนวนมหาศาล จึงอยากได้เครดิตส่วนนี้ ซึ่งรัฐน่าจะออกกฎระเบียบให้ชัดเจน จะช่วยจูงใจให้ช่วยกันปลูกป่าเพื่อใช้สิทธิคาร์บอนเครดิต

 

ด้านนายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ รับผิดชอบสายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (TPI PP) ชี้ว่า ธุรกิจของ TPI PP ตอบโจทย์ความยั่งยืนอยู่ในตัว จากกิจกรรมโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ วันละ 7 พัน- 1 หมื่นตัน ช่วยลดก๊าซมีเทนจากขยะ ที่ก่อภาวะเรือนกระจกรุนแรง ได้มหาศาล ยิ่งขยายกำลังการผลิตก็ยิ่งสร้างผลดีต่อสิ่งแวดล้อม

 

“นอกจากนี้ TPI PP มีแผนเปลี่ยนโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นพลังงานขยะทั้งหมดในปี 2023 ในการผลิตกระแสไฟฟ้า 220 เมกะวัตต์ และเข้าสู่เป้าหมาย Zero Coal ในปี 2025 ซึ่งเท่ากับช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 20 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า”

 

นายภัคพล เสนอว่า ภาครัฐควรจัดตั้งตลาดคาร์บอน เพื่อวางหลักเกณฑ์กติกาให้ชัดเจน หากมีหลักเกณฑ์ชัดเจนเรื่องตลาดคาร์บอน หากเอกชนลงทุนปลูกป่าผลิตออกซิเจน เพื่อให้นำมาหักกลบการปล่อยคาร์บอนของสถานประกอบการได้ ซึ่งจะจูงใจให้มีการปลูกป่าเพิ่มขึ้น 
 

ด้าน"วาสินี ศิวะเกื้อ" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการเงิน และประธานคณะกรรมการความยั่งยืน ธนาคาร ยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า ปีที่แล้ว ยูโอบี เปิดตัวบริการทางการเงินเพื่อความยั่งยืนเน้นลูกค้ากลุ่มองค์กร ใน 3 กรอบ

1.กรอบการเข้าถึงเงินทุนที่ยั่งยืนเพื่อเมืองอัจริยะ อนุมัติสินเชื่อสีเขียวไปแล้วกว่า 1.3 พันล้านบาท ให้กับโครงการโซลาร์ รูฟ ท็อป

2.กรอบการให้สินเชื่อวงจรสีเขียว สนับสนุนสินเชื่อการค้าระหว่างประเทศ สำหรับบริษัทรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ และ

3. กรอบการให้สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างยั่งยืน อนุมัติสินเชื่อแล้ว 450 ล้านบาท ให้กับโครงการโกดังสินค้า และจะออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป

หน้า 2 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,743 วันที่ 26-29 ธันวาคม พ.ศ.2564