เคลียร์ชัด รฟท.เปิดสาเหตุปรับแผนรถไฟสถานีหัวลำโพง เชื่อมสถานีกลางบางซื่อ

21 ธ.ค. 2564 | 07:20 น.

รฟท.ปรับขบวนรถไฟทางไกล 80 ขบวน เข้าหัวลำโพง หลังโควิดระบาดหนัก เตรียมแผนปรับเส้นทางเชื่อมสถานีกลางบางซื่อ ได้ข้อสรุป ม.ค.65 โอดค่าใช้จ่ายพุ่ง 50 ล้าน หากเปิดให้บริการทั้ง 2 สถานี ยันไม่มีอำนาจแก้สีผังเมืองหัวลำโพง อัพเกรดพัฒนาเชิงพาณิชย์ มั่นใจไม่ได้เอื้อนายทุน

นายนิรุฒ  มณีพันธ์  ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ภายหลังการประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ ครั้งที่ 8/2564 เพื่อติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานการให้บริการหลังการเปิดบริการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ร่วมกับกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นั้น  เบื้องต้น รฟท.ได้เสนอในที่ประชุมให้เปิดเดินรถไฟทางไกลเข้าสถานีหัวลำโพงตามปกติ โดยกำหนดให้มีขบวนรถไฟทั้งหมด  80 ขบวน ประกอบด้วย 1.ขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์และขบวนรถไฟนำเที่ยว (ให้บริการเฉพาะช่วงเสาร์-อาทิตย์) จำนวน 40 ขบวน 2.ขบวนรถไฟเชิงสังคม จำนวน 40 ขบวน  จากเดิมที่มีขบวนรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง ทั้งหมด 118 ขบวน 

 

 

 


“กรณีที่มีการปรับลดขบวนรถไฟ 80 ขบวนนั้น เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้รฟท.มีการปรับขบวนรถไฟเหลือ 80 ขบวน ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการรถไฟชานเมือง 10,000 คนต่อวัน บริเวณจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร เช่น สถานีรังสิต  สถานีตลิ่งชัน  สถานีมักกะสัน ทั้งนี้รฟท.จะเตรียมปรับแผนปรับเส้นทางเดินรถไฟใหม่ในปี 2565 ”   

 

 


สำหรับในวันที่ 23 ธันวาคมนี้ รฟท.มีแผนปรับขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์เข้าสถานีรถไฟหัวลำโพง จำนวน 40 ขบวน ยังคงใช้เส้นทางเดิม ประกอบด้วย 1.สายเหนือ  จำนวน 12 ขบวน  2.สายตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 16 ขบวน รวม 28 ขบวน จะเปลี่ยนต้นทางเป็นสถานีกลางบางซื่อ  3.สายใต้ จำนวน 12 ขบวน จะเปลี่ยนเส้นทางเป็นชุมทางบางซื่อ (เดิม) ส่วนขบวนรถไฟเชิงสังคม จำนวน 40 ขบวนจะเริ่มเดินรถไฟที่สถานีหัวลำโพง ประกอบด้วย 1.สายเหนือ จำนวน 4 ขบวน 2.สายตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 2 ขบวน 3.สายใต้ จำนวน 2 ขบวน 4.สายตะวันออก จำนวน 14 ขบวน 

ทั้งนี้ที่ประชุมได้สั่งการให้รฟท.กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดทำเช็คลิสต์ เพื่อกำหนดแนวทางการให้บริการเปลี่ยนถ่ายสถานีไปยังสถานีกลางบางซื่อ และการปรับแผนการเดินรถ รวมทั้งการเดินรถไฟเชิงพาณิชย์และรถไฟเชิงสังคมบนเส้นทางรถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต-สถานีกลางบางซื่อ ที่จะไม่เดินรถระดับดิน เพื่อให้มีการบริการต่างๆครอบคลุมทุกมิติ โดยใช้ระยะเวลา ดำเนินการแล้วเสร็จภายในมกราคม 2565 หลังจากนั้นจะและจัดทำแอคชั่นแพลน เสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนประกาศกำหนดปรับเปลี่ยนวันที่การเปิดให้บริการของสถานีกลางบางซื่อ ให้ประชาชนและผู้ใช้บริการรับรู้การบริการของรฟท. รวมทั้งการเชื่อมต่อสายรถโดยสารประจำทางต่างๆเพื่อการบริการรถไฟสายสีแดงเป็นไปด้วยความราบรื่น ซึ่งจะมีการกำหนดปรับเปลี่ยนให้บริการ ปี 2565 ทั้งนี้หากมีการเปิดให้บริการรถไฟสถานีหัวลำโพง จะทำให้รฟท.มีภาระค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 10 ล้านบาทต่อเดือน และการเปิดให้บริการรถไฟสายสีแดง-สถานีกลางบางซื่อ มีภาระค่าใช้ด้านสาธารณูปโภคอยู่ที่ 40 ล้านบาท

 

 

 

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่รฟท.มีคำสั่งฝ่ายปฏิบัติการเดินรถไฟทางไกลยกเลิกการปิดสถานีบางเขน สถานีหลักสี่ และสถานีดอนเมืองในพื้นที่ควบคุมการเดินรถจากศูนย์กลาง (CTC) นั้น เนื่องจากระบบอาณัติสัญญาณในการเดินรถไฟทางไกลในพื้นที่โครงการรถไฟสายสีแดงและบริเวณขอบเขตเชื่อมต่อกับทางรถไฟเดิมที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์ โดยการเดินขบวนรถไฟที่ระดับพื้นดินในพื้นที่ควบคุมการเดินรถจากศูนย์กลาง โดยให้ขบวนรถไฟทางไกลยังมีเดินและหยุดให้บริการรับส่งผู้โดยสารที่สถานีบางเขน สถานีหลักสี่ และสถานีดอนเมือง ที่ระดับพื้นตามปกติ

 

 

 

“ที่ประชุมได้ข้อสรุปจะไม่มีการปรับลดขบวนรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพงในวันที่ 23 ธันวาคมนี้ ทำให้ทางรฟท.ต้องดำเนินการยกเลิกคำสั่งแรกในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว”

นายนิรุฒ  กล่าวต่อว่า  กรณีที่รฟท.มีการปรับสีผังเมืองสถานีหัวลำโพงนั้น  ปัจจุบันรฟท.ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากการปรับสีผังเมืองเป็นกฎหมายที่อยู่ภายใต้อำนาจของคณะกรรมการผังเมือง (กรุงเทพมหานคร) เป็นผู้พิจารณา หากจะดำเนินการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์จะต้องศึกษารายละเอียดและปัญหาอุปสรรคก่อนว่าเป็นอย่างไร 
 
 


“ส่วนกระแสข่าวในกรณีที่รฟท.จะยกที่ดินให้นายทุน นั้น ยอมรับว่ามีคนแสดงความคิดเห็นแบบไม่บริสุทธิ์ใจเช่นนั้นจริง ขณะนี้รฟท.อยู่ระหว่างดูบริบทตามข้อกฎหมาย โดยจะนำพิจารณาว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ อย่างไรก็ตามยืนยันว่าจะไม่ให้ใครมาทำร้ายหัวลำโพงไปมากกว่านี้แล้ว  ขณะเดียวกันรฟท.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่ชุมชนโดยรอบ โดยใช้เกณฑ์การรับฟังจากเสียงประชาชนเป็นหลัก  เพื่อหาแนวทางการปรับแผนการเดินรถไฟทางไกลเข้าสถานีกลางบางซื่อ รวมทั้งการพัฒนาสถานีหัวลำโพงจะสร้างเป็นตึกสูงหรือไม่ยังตอบไม่ได้ เนื่องจากต้องรอเปิดฟังความคิดเห็นจากประชาชนและศึกษาแนวทางก่อนว่าเป็นอย่างไร เรายืนยันว่าไม่มีการทุบหัวลำโพง เพราะเป็นสถานีทางประวัติศาสตร์ที่ต้องอนุรักษ์ไว้”

 

เคลียร์ชัด รฟท.เปิดสาเหตุปรับแผนรถไฟสถานีหัวลำโพง เชื่อมสถานีกลางบางซื่อ


รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม  กล่าวว่า วันที่ 23 ธันวาคมนี้  ทางกรมการขนส่งทางราง (ขร.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัทเอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (บริษัทลูกของรฟท.) จะเข้าชี้แจงต่อกรรมาธิการถึงแนวทางการพัฒนาสถานีหัวลำโพง การปรับย้ายขบวนรถไฟเข้าสถานีกลางบางซื่อ รวมทั้งมาตรการเยียวยาลดผลกระทบกับประชาชนในการเดินทาง ทั้งนี้คาดว่ารฟท.จะมีการทยอยปรับย้ายขบวนรถไฟทางไกลเข้าสถานีกลางบางซื่อบางส่วน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในส่วนขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ ประกอบด้วย สายเหนือและสายอีสาน ภายในกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2565