“ข้าวหอมมะลิ” คว้าแชมป์โลกข้าวที่ดีสุดในโลก 2 ปีซ้อน

14 ธ.ค. 2564 | 10:49 น.

“จุรินทร์” ปลื้ม “ข้าวหอมมะลิไทย” สุดแกร่ง คว้าแชมป์โลกข้าวที่ดีสุดในโลก 2 ปีซ้อน นายกสมาคมส่งออกข้าวไทย เผย ประกวดข้าวโลก มี 13 ครั้ง ไทยรั้งบัลลังก์แชมป์ได้ถึง 7 ครั้ง แนะนักปรับปรุงพันธุ์ต้องเร่งพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อครองใจตอบโจทย์คนรับประทานข้าวระดับพรีเมียม

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

วันที่ 14 ธันวาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยผลการประกวดข้าวโลก หรือ “World’s Best Rice Award 2021” ซึ่งเป็นการจัดงานครั้งที่ 13 โดยผู้ค้าข้าวของสหรัฐอเมริกาเป็นผู้จัดตั้งแต่วันที่ 7-9 ธันวาคม 2564 ที่เมืองดูไบโดยจัดแบบไฮบริด

 

หรือรูปแบบผสมผสานเป็นครั้งแรก มีผู้ส่งข้าวเข้าประกวด 6 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย เวียดนาม เมียนมา และ ไทยจำนวน 11 ตัวอย่าง ผลการตัดสินปรากฏว่าข้าวหอมมะลิจากประเทศไทย คือ "ข้าวหอมมะลิ 105"  ซึ่งปลูกในภาคอีสานได้รับรางวัลชนะเลิศ ซึ่งส่งเข้าประกวดโดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

 

“การได้รับรางวัลชนะเลิศครั้งนี้ถือว่าเป็นการได้รับรางวัลชนะเลิศระดับโลกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งจากการจัดประกวด 13 ครั้ง เราได้ที่ 1 จำนวน 7 ครั้ง การได้รับรางวัลข้าวโลกครั้งนี้จะเป็นความภาคภูมิใจอีกครั้งหนึ่งของคนไทย จะสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามทุ่มเทของทุกฝ่ายในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานข้าวไทยที่ดำเนินการมาโดยต่อเนื่อง"

 

ชิมข้าวที่ดีที่สุดในโลก "ข้าวหอมมะลิ"

ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีข้าวไทยได้รับรางวัลครั้งนี้จะมีผลดีต่อการส่งออกข้าวต่อจากนี้ไปและในปีหน้าต่อไป

 

ด้านนายชูเกียรติ  โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่าการประกวดปีนี้ไม่มีประกาศลำดับที่ 2 และ 3 จะประกาศเพียงผู้ชนะเลิศที่ได้คะแนนสูงสุดซึ่งเปลี่ยนจากในอดีต จะประกาศเพียงผู้ชนะเลิศประเทศเดียวเท่านั้น

 

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  เวลาแข่งประกวดข้าว จะต้องใช้ข้าวที่ดีที่สุด ไทยเราก็ต้องส่งพันธุ์ข้าวที่ดีทีสุดของประเทศ ก็คือ “ข้าวหอมมะลิ” ซึ่งไทยเองก็ต้องปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ข้าวนี้ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่ไม่ทำอะไรเลย ซึ่งการปรับปรุงพันธุ์อาจจะต้องเพิ่ม ความเหนียว ความหวาน หรือความหอม ก็สามารถที่จะทำได้


เม็ดเรียวสวย

หลายคนชอบเอาข้าวหอมมะลิ ไปเปรียบเทียบกับพันธุ์ข้าวหอม ไม่ถูกต้อง “ข้าวหอมมะลิ” เป็นข้าวนาปี ปลูกในพื้นที่ที่จำกัด (อีสาน) เป็นดินที่มีเกลือภูเขาไฟ ไม่สามารถเปรียบเทียบกับช้าวหอมของเวียดนามที่ปลูกได้ในพื้นที่ที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี เป็นข้าวนาปรัง เมล็ดสั้นกว่า ไม่สามารถไปเปรียบเทียบกันได้

 

"ในเมื่อเวียดนามขายของถูก นี่แหละจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สมาคมกระตุ้นให้หาพันธุ์ใหม่ขึ้นมาเพื่อหาพันธุ์ข้าวใหม่ไปแข่งตลาดกับเวียดนามถ้าใช้ข้าวหอมมะลิไปแข่งก็สู้ไม่ได้ เพราะราคาแพงกว่า ราคาห่างกันหลายร้อยดอลลาร์สหรัฐ ลูกค้าที่ซื้อกับไทยก็เป็นคนละกลุ่ม"

 

นายเจริญ กล่าวว่า สำหรับปีนี้ ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลก เราก็คิดว่าข้าวเราดี แต่ประเทศอื่นมีการปรับปรุงมาเรื่อยๆ เราไม่ขยับไปไหน เราได้แต่นั่งรอว่าวันหนึ่ง เราจะโดนประทศอื่นโค่นแชมป์ เพราะแชมป์ก็มีร่วงลา นี่คือปัญหาที่เราเป็นห่วงอยู่เรื่อย

 

"เราอยู่ในตลาดเรารู้ ถึงได้พยายามกระทุ้งว่าให้ปรับปรุงพันธุ์ ผลิตข้าวที่ตลาดต้องการ ในราคาที่พอประมาณ การช่วยเหลือเกษตรกรที่ผ่านมาเน้นแต่เรื่องราคา ซึ่งราคาไม่เป็นตัวชี้อะไรเลย จะต้องมีพันธุ์ข้าวใหม่ๆที่ตลาดโลกต้องการ ผลผลิตต่อไร่สูง"

ยกตัวอย่างขายข้าวหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท แต่ชาวนาได้ปีละ 4 ตัน (4,000 กิโลกรัม) ก็ได้แค่ 60,000 บาท  แต่ถ้าทำให้ชาวนา 10 ไร่ สามารถปลูกข้าวพันธุ์แม่โจ้ 9 ได้ 8 ตัน (8,000 กิโลกรัม) ขายสด 10,000 บาท/ตัน ก็ได้ 80,000 บาทแล้ว จะเห็นว่ารายรับโดยรวมสูงขึ้น อยากให้ดูกันตรงนี้ อย่าเอาแต่เรื่องราคาข้าวต่อตันมาเรียกร้อง

 

หุงขึ้นหม้อ

“ที่ผ่านมาการเมืองไม่เคยมาดูแลตรงนี้เลย วันนี้มีท่านรองนายกฯ จุรินทร์ เราถึงค่อนข้างจะใจชื้นขึ้นมาหน่อย อยากจะสู้อีกครั้ง ถึงได้พยายามจัดประกวดพันธุ์ข้าว ถึงได้พยายามเร่งรัดให้มีพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ออกมา”

 

นายเจริญ กล่าวว่า การจัดประกวดข้าวโลก มี 13 ครั้ง ไทยสามารถคว้างรางวัลได้มา 7 ครั้ง  ซึ่งใน 7 ครั้งก็เป็นข้าวหอมมะลิ ตัวเด่น เราควรภูมิใจว่าในโลกนี้ประเทศไทยไม่แพ้ใครที่ 1 เราทำอย่างไรที่จะต้องทำให้ข้าวไทยเรานี้

 

กล่าวคือ ทุกคนยอมรับว่าข้าวไทยคุณภาพดี การขัดสีดี ผู้ส่งออกเข้มแข็ง เรามีพร้อม แต่เราต้องการอย่างเดียวคือ การหนุนจากรัฐบาลที่ถูกต้อง มีทิศทางที่ถูกต้อง และต้องการความสามัคคีของคนในอุตสาหกรรมทั้งชาวนา โรงสี ต้องร่วมมือกัน และไปในทิศทางเดียวกัน

 

“ผมดีใจที่เห็นคุณปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ส่งสัญญาณบวกชาวนาเริ่มรับรู้แล้ว ไม่ต้องพูดถึงราคาต่อตัน ต้องพูดถึงข้าวพันธุ์ใหม่ ตลาดต้องการอะไร จะทำให้ขายได้มากขึ้น ส่งออกได้มากขึ้น ราคาในประเทศถึงจะขยับขึ้น ได้ฟังจากปากผมใจชื้น ที่ไม่ใช่พูดแต่เรื่องราคา ต้องร่วมมือกันอย่างนี้อุตสาหกรรมจะรอด อย่ามัวคิดเอง เออเอง ตั้งราคาเอง ถามว่าจะขายใคร พอเห็นอย่างนี้รู้สึกสบายใจ”