กกร.มั่นใจGDPปี65ขยายตัว3-4.5% ชี้ศก.ไทยยังมีศักยภาพ

08 ธ.ค. 2564 | 07:17 น.

กกร.มั่นใจGDPปี65ขยายตัว3-4.5%  ชี้เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตได้แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงใหม่อย่างไวรัสสายพันธุ์ใหม่อย่าง โอมิครอน พร้อมคงตัวเลขเศรษฐกิจปี64ที่0.5-1.5% มั่นใจขยายตัวที่1%

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน  (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผย ภายหลังการประชุม กกร. ว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นในปี 2565 แม้การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน เนื่องจากปัจจุบันไทยมีอัตราการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในระดับสูงและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการด้านสาธารณสุข และการเข้า-ออก ประเทศที่มีความเข้มงวด

กกร.มั่นใจGDPปี65ขยายตัว3-4.5% ชี้ศก.ไทยยังมีศักยภาพ

 

ภาคเอกชนเห็นว่าไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป ทุกภาคส่วนควรปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดในระลอกใหม่ซ้ำเติม เนื่องจากที่ผ่านมาเห็นได้ชัดจากบทเรียนของการล็อกดาวน์ว่ามีต้นทุนต่อเศรษฐกิจและสังคมสูงมาก ทั้งผลกระทบโดยตรงจากการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และทางอ้อมจากการบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนและผู้ประกอบการ

กกร.มั่นใจGDPปี65ขยายตัว3-4.5% ชี้ศก.ไทยยังมีศักยภาพ

ทั้งนี้กกร.มองว่าปี 2565 เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตได้ ที่ กกร. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 3 - 4.5% สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่ปีหน้าน่าจะเติบโตที่ 4-5% ขณะที่ประมาณการการส่งออกในปี 2565 ว่าจะขยายตัวในกรอบ 3-5% ซึ่งมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกทำให้การส่งออกจะมีการขยายตัวต่อจากปีนี้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 1.2-2% ซึ่งมาจากแนวโน้มของสินค้า Commodities มีแนวโน้มราคาสูงขึ้น และปีหน้าสิ่งที่ต้องจับตามองอีกเรื่องคือปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเรื่อง Geopolitics ของหลายประเทศ

ส่วนประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวสอดคล้องกับที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ กกร. คงคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2564 โดยที่ประชุม กกร. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวในกรอบ 0.5% ถึง 1.5% เฉลี่ยนทั้งปีน่าจะอยู่ที่1%  ขณะที่ประมาณการการส่งออกในปี 2564 ว่าจะขยายตัวในกรอบ 13.0% ถึง 15.0%

ส่วนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2565 จำเป็นต้องมีนโยบายทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นที่การฟื้นตัวล่าช้าออกไปภาคธุรกิจยังคงฟื้นตัวไม่พร้อมเพรียงกัน (K-shaped recovery) มาตรการพยุงเศรษฐกิจและกำลังซื้อของครัวเรือน รวมถึงการผ่อนคลายนโยบายการเงินที่มีความต่อเนื่องยังคงมีความจำเป็น