ธุรกิจคึกรับเปิดประเทศ ททท.คาดนักท่องเที่ยว 1ล้านคน กกร.ชี้ปี65 ศก.โต6%

29 ต.ค. 2564 | 08:39 น.

เอกชนคึกคักรับเปิดประเทศ 1 พ.ย. มั่นใจส่งสัญญาณบวก ดันท่องเที่ยว-บริการฟื้นตัว ททท.ตั้งเป้าต่างชาติเข้าไทย 3 แสนคนต่อเดือน หลังสายการบินขยับปีกเปิดไฟลต์ บุ๊กกิ้งโรงแรมเพิ่ม กกร.คาดจีดีพีเพิ่มเป็น 1-1.5% ร้านอาหารยังลุ้นศบค.เคาะปลดล็อกเคอร์ฟิว เสิร์ฟน้ำเมาได้

การเปิดประเทศ 1 พ.ย. ให้นักท่องเที่ยวจาก 45 ประเทศ และ 1 เขตบริหารพิเศษฮ่องกง รวมถึงนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในลิสต์ เดินทางเข้าไทยได้ตามเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป ถือเป็นสัญญาณบวก เป็นความหวังให้หลายธุรกิจกลับมาดำเนินการได้ โดยเฉพาะในภาคท่องเที่ยวและบริการที่ถือเป็นฟันเฟืองหลักของเศรษฐกิจไทย

 

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเปิดรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ 1 พ.ย.นี้ บุ๊กกิ้งการจองห้องพักก็จะทยอยเข้ามา โดยเฉพาะการดึงนักท่องเที่ยวจาก 45 ประเทศและ 1 เขตบริหารพิเศษฮ่องกง จะทำให้ไทยได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว เพราะไม่มีเรื่องของการกักตัวอย่างน้อย 1 วันหากผลตรวจเป็นลบ สามารถเดินทางเที่ยวได้ทุกที่ในไทย ส่วนการเปิดพื้นที่นำร่องสีฟ้า ในช่วงตลอดเดือนพ.ย.นี้ใน 16 จังหวัด ถ้าการฉีดวัคซีนในพื้นที่ดำเนินการได้ตามแผนและคุมการติดเชื้อในพื้นที่ได้ก็พร้อมเปิดได้ทันที ซึ่งเป็นดุลยพินิจของผู้ว่าราชการในแต่ละจังหวัด

ยุทธศักดิ์ สุภสร

“มั่นใจว่าการเปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้จะเป็นสัญญาณบวกที่ดีต่อการท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซันต่อเนื่องถึงปีหน้า โดยททท.ตั้งเป้าหมายว่าภายใน 6 เดือนจากนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา 1 ล้านคน หรือเฉลี่ย 3 แสนคนต่อเดือนคิดเป็น 10% ของจำนวนนักท่องเที่ยวปี 62 (ก่อนเกิดโควิด)”

 

แอร์ไลน์เริ่มขยับปีกเข้าไทย

 

นายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการททท.ด้านตลาดยุโรป อเมริกา และตะวันออกกลาง กล่าวว่า หลังการประกาศเปิดประเทศได้รับการตอบรับที่ดีจากนักท่องเที่ยวทั้งในกลุ่มประเทศที่ได้อนุญาตเดินทางเข้าไทยไม่กักตัว และในบางประเทศที่แม้ไม่ได้อยู่ในลิสต์ดังกล่าว อย่างรัสเซีย ก็สนใจที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยภายใต้โครงการแซนด์บ็อกซ์

 

 

ทั้งนี้จากการสำรวจตลาดระยะไกลของสำนักงานททท.ในต่างประเทศพบว่าในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนพ.ย. สายการบินต่างๆ เริ่มมีการจองสูงขึ้น เช่น อัตราการบรรทุกของการบินไทยในเส้นทางบินตรงจากลอนดอนเข้ากรุงเทพและลอนดอนเข้าภูเก็ตอยู่ที่ 40% ส่วนบุ๊กกิ้งของสายการบินจากตะวันออกลาง มีนักท่องเที่ยวยุโรปราว 60%

ธุรกิจคึกรับเปิดประเทศ ททท.คาดนักท่องเที่ยว 1ล้านคน กกร.ชี้ปี65 ศก.โต6%

รวมถึงเห็นสัญญาณการกลับมาเปิดเที่ยวบินของสายการบินใหม่ๆ เช่น เชจูแอร์ไลน์ จะบินชาร์เตอร์ไฟล์ตเข้าเชียงใหม่ แอร์อัสตานา ที่จะเปิดบินจากคาซัคสถานเข้าภูเก็ต แอโรฟลอต จะกลับมาเปิดเที่ยวบินมอสโก-ภูเก็ตและมอสโก-กรุงเทพฯ เป็นต้น

 

สอดคล้องกับข้อมูลของสนามบินสุวรรณภูมิที่ระบุว่าหลังการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.แล้วจะมีปริมาณเที่ยวบินต่อวันเพิ่มจาก 320 เที่ยวบินเป็น 480 เที่ยวบิน และจำนวนผู้โดยสารเพิ่มจาก 1.5 หมื่นคนต่อวันเป็น3.8 หมื่นคนต่อวัน

 

ด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ มีสายการบินเชจูแอร์ ของเกาหลีใต้เปิดชาร์เตอร์ไฟล์ตเข้าเชียงใหม่ ส่วนญี่ปุ่นมีจองแล้วกว่า 90 รายทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ ครอบครัว ขณะที่มาเลเซียมีการหารือกับแอร์เอเชีย มาเลเซียในการทำชาร์เตอร์ไฟล์ต เช่นกัน

 

รร.เจ้าสัวเจริญจองพุ่ง 2 เท่า

 

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า จากนโยบายการเปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้ทำให้ AWC ได้รับสัญญาณที่ดีจากการตอบรับในทันที ส่งผลบวกให้อัตราการจองที่พักบางโรงแรมในเครือพุ่งสูงขึ้นกว่า 2 เท่าในเดือนธ.ค.64 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์

 

 


โควิด-19 โดยเฉพาะโรงแรมในกรุงเทพฯ ภูเก็ต และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ โรงแรมวันนาเบล สมุย, โรงแรม บันยันทรี กระบี่ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง ถือเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศไปด้วยกันอันจะสะท้อนให้เห็นทิศทางบวกในไตรมาส 4

 

จีดีพีขยายตัว 1-1.5%

 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)กล่าวว่า การเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย.นี้ ถือเป็นจังหวะที่ดีที่ได้มีการแจ้งล่วงหน้าเพื่อให้ทุกฝ่ายได้เตรียมความพร้อม ข้อด้านดีคือ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และบริการที่เกี่ยวเนื่องจะค่อย ๆ กลับมาฟื้นตัว และช่วยเพิ่มตัวเลขรายได้เข้าประเทศ จากปัจจุบันมีภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดีเป็นเครื่องยนต์หลักในพยุงเศรษฐกิจของประเทศ โดย 9 เดือนแรกส่งออกไทยยังขยายตัวสูงถึง 15.5%

สนั่น อังอุบลกุล

ล่าสุดคาดการขยายตัวของเศรษฐกิจ(จีดีพี) ไทยในปี 2564 จะขยายตัวได้ 1-1.5% (จากเดิมกกร.คาด ณ เดือน ต.ค.จะขยายตัวได้ 0-1%) ส่วนปี 2565 คาดจีพีไทยจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 6% จากปีหน้าคาดจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทย 6-10 ล้านคน (หากไม่มีการระบาดของคิดรอบใหม่) ขณะที่ช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้หลังมีการเปิดประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทยเดือนละ 3 แสนคน ซึ่งในส่วนนี้ทางหอการค้าฯ มองต่างคาดจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเดือนละประมาณ 1 แสนคนเท่านั้น

 

ธุรกิจอาหารกลับมาคึกคัก

 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ขณะนี้ธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจอาหาร และร้านอาหารมีการเตรียมความพร้อมรับเปิดประเทศกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะอาหารที่เป็นวัตถุดิบป้อนให้กับกลุ่ม Horeca (กลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร จัดเลี้ยง) ได้เริ่มกลับมาขยายตัวรับกับการเปิดประเทศทั้งในต่างประเทศและในไทย

 

“ก่อนหน้านี้วัตถุดิบหรือสินค้าอาหารช่วงโควิดจะส่งตรงไปที่ซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ตอนนี้มีกลุ่มโฮเรก้าเข้ามาเสริม ถือเป็นสัญญาณว่า ถ้าไทยเปิดประเทศแล้วมีนักท่องเที่ยวกลับมา แล้วมีสินค้าอาหารที่เอาไปตอบโจทย์พวกร้านอาหาร โรงแรมก็จะเริ่มกลับมาด้วย”

 

ลุ้นปลดล็อกเคอร์ฟิว-น้ำเมา

 

อย่างไรก็ดี กลุ่มร้านอาหารเองกลับมองว่า สัดส่วนรายได้ที่ทำให้ร้านอาหารมีกำไรยังคงมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งหากรัฐบาลยังไม่ปลดล็อกแม้เปิดประเทศ ก็อาจไม่ตอบโจทย์ให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยนายสรเทพ โรจน์พจนารัช ประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า การเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. นี้ เชื่อว่าจะไม่มีผลต่อร้านอาหารมากนัก เพราะยังห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งทำรายได้ให้กับร้านราว 30% รวมทั้งการจำกัดจำนวนให้นั่งทานทำให้รายได้รวมของร้านอาหารยังไม่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนหน้าโควิด

 

ทั้งนี้อยากให้ ศบค. พิจารณาให้ร้านอาหารสามารถนั่งดื่มแอลกอฮอล์ได้ เพราะการดื่มในร้านอาหารและโรงแรม แตกต่างจากผับ บาร์ ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 100% นิยมรับประทานอาหารพร้อมดื่มแอลกอฮอล์หากผ่อนปรนจะช่วยสร้างบรรยากาศด้านการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักขึ้น

 

“หากผ่อนปรนให้ดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารและโรงแรมได้ จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองนี้ ที่จะเห็นเม็ดเงินสะพัดในระบบและผลักดันให้จีดีพีเพิ่มขึ้นเป็น 1.5-2% ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนนับจากนี้ นอกจากนี้รัฐบาลยังใช้โมเดลการผ่อนปรนและมาตรการด้าน สธ. ที่ร้านอาหารและโรงแรม เป็นต้นแบบให้ผับ บาร์ สถานบันเทิง ซึ่งจะปลดล็อกให้จำหน่ายแอลกอฮอล์ได้ในวันที่ 1 ธ.ค. นี้ดำเนินการตามด้วย”

 

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ เซ็น กรุ๊ป กล่าวว่า การเปิดรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 1 พ.ย. นั้นไม่ได้คาดหวังนักท่องเที่ยวมากนัก แต่คาดหวัง เรื่องของมาตรการเคอร์ฟิว ถ้าถูกยกเลิกคนจะกลับมาใช้บริการร้านอาหารมากขึ้น รวมทั้งการอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารซึ่งประเด็นพวกนี้จะมีผลกับธุรกิจร้านอาหารมากกว่า ทั้งนี้คาดว่าร้านอาหารของกลุ่มที่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยวทั้ง 5 โลเคชั่น คือ สมุย ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยาและราชประสงค์ คิดเป็นสัดส่วน 15-20%ของรายได้ จะค่อยๆดีขึ้นแต่คงไม่ได้กลับมาดีดังเดิมเพราะย่านนี้พึ่งพานักท่องเที่ยวมาก

 

“ต.ค. เป็นช่วงยอดขายดีที่สุดใน 10 เดือนที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นตั้งแต่ 1 พ.ย. เป็นต้นไป หลังจากมีการผ่อนปรนมากขึ้น เชื่อว่าไตรมาส 4 น่าจะเป็นช่วงนิวไฮของปีนี้ เพราะมีแต่ปัจจัยบวกไม่ว่าจะเป็นการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว การฉีดวัคซีนที่ทำได้ดี การนำเข้าวัคซีนทางเลือก ผู้ติดเชื้อลดลง ทำให้บริษัทน่าจะเติบโตในแง่ยอดขาย 2 เท่าและกลับมามีกำไรเติบโตที่สุดใน 3 ไตรมาสที่ผ่านมา”

 

รถยนต์มั่นใจโค้งท้ายคึก

 

นายสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์ในเดือนต.ค.มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในพื้นที่เข้มงวด เพื่อให้ธุรกิจและประชาชนสามารถดำเนินชีวิต อย่างไรก็ดีหวังว่าสถานการณ์ต่างๆ จะฟื้นตัวดีขึ้นจากความพยายามอย่างเต็มที่ของภาครัฐ ในการส่งเสริมมาตรการทางเศรษฐกิจ และการสนับสนุนกำลังซื้อของผู้บริโภค

 

ตลอดจนการเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวในโครงการนำร่อง จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างกำลังซื้อของผู้บริโภคให้ฟื้นคืนกลับมา รวมทั้งสถานการณ์น้ำท่วมที่คลี่คลายในหลายพื้นที่ และการเดินหน้าเข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่เป็นไฮซีซันจะช่วยให้สถานการณ์ตลาดรถยนต์ดีขึ้นจนถึงสิ้นปี

 

ด้านนายโรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธานบริหาร เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย กล่าวว่า สัญญาณต่างๆ ในไตรมาสสุดท้ายเริ่มดีขึ้น ทั้งการที่รัฐบาลแสดงความชัดเจนถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมถึงยอดจองรถใหม่เพิ่มขึ้น และการที่ดีลเลอร์สั่งรถเข้ามาในสต๊อกอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าไตรมาสที่ 4 จะเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดสำหรับการขายรถ นอกจากนี้เริ่มเห็นสัญญาณดีจากรายได้ของศูนย์บริการ ที่เริ่มกลับมาใกล้เคียงภาวะปกติ หลังจากช่วงโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ ลูกค้าชะลอการนำรถเข้ามารับบริการที่ดีลเลอร์ ซึ่งยอดส่วนนี้ในเดือนมิ.ย.-ก.ค. หายไปกว่า 20%

 

“ยอดขาย เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย เป็นไปตามเป้าหมาย และทำได้ตามที่สัญญาไว้กับบริษัทแม่ ที่สำคัญคือสถานการณ์ตอนนี้ดีลเลอร์มีกำไร เพราะไม่ต้องอัดแคมเปญแรงๆ เพื่อแข่งขันหรือตัดราคากันเอง”

 

ทั้งนี้ ตลาดรถยนต์ 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย.64) ทำได้ 531,931 คัน ลดลง 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ประเมินว่ายอดขายรวมปีนี้จะอยู่ระดับ 7.5 แสนคัน