5G ปลุกเศรษฐกิจทะลุ 2.3 ล้านล. ดึง 3 ค่ายลงทุน 3 แสนล้าน

04 ธ.ค. 2564 | 01:30 น.

5G เปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ประเทศไทยสู่ดิจิทัลอีโคโนมี “หัวเว่ย”คาดปี 68 GDP ที่เกิดจาก 5G มีมูลค่า 2.3 ล้านล้านบาท ขณะที่ 3 ค่ายมือถือ มอง 5G มีศักยภาพช่วยยกระดับขีดความสามารถแข่งขันประเทศ แต่ต้องไปควบคู่กับดิจิทัล โซลูชัน-แพลตฟอร์ม เพื่อเร่งสร้างยูสเคส ภาคผลิต-อุตสาหกรรม

 5G ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญต่อการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ และนำพาประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คาดการณ์ว่าปี 2565 เทคโนโลยี 5G จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมูลค่า 489,572 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ มูลค่า 22,561 ล้านบาท ตัวทวีคูณ มูลค่า 167,645 ล้านบาท และมูลค่าการลงทุน 299,366 ล้านบาท

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในเวทีเสวนา “5G รับโลกอนาคต” ในงานสัมมนา “5G BIG MOVE .. ประเทศไทยสู่ DIGITAL HUB อาเซียน” ว่า 5G เป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนผ่านครั้งใหม่ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม แต่ยังเป็นก้าวสำคัญต่อการพัฒนาดิจิทัลอีโคโนมี ภาพรวมเศรษฐกิจ การเติบโตGดีพี และอนาคตของประเทศไทย โดยปัจจุบันทุกภาคส่วนกำลังเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีเมกะเทรนด์ทางเทคโนโลยีอย่าง 5G, คลาวด์, AI,บิ๊กดาต้า ,ไอโอที และดาต้าเซ็นเตอร์ เป็นรากฐานที่สำคัญ

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด

 สำหรับประเทศไทยมีการคาดการณ์ว่า เมื่อถึงปี 2568 การเปลี่ยนผ่านไปสู่ 5G ในหลากหลายอุตสาหกรรมจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ GDP ไทย 10.12% โดย GDP ที่เกิดจาก 5G มีมูลค่ากว่า 2.3 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันเพิ่มโอกาสและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคอุตสาหกรรมมูลค่าไม่น้อยว่า 1.6 ล้านล้านบาท

ไทยผู้นำลงทุน 5G อาเซียน

 โดยปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้นำการลงทุนอินฟราสตรักเจอร์ 5G ในภูมิภาคอาเซียน ขณะที่การพัฒนาประสบการณ์ต่างๆบน 5G ติดอันดับท็อป 10 ของโลก

 

“วิกฤติโควิดเข้ามาสร้างจุดเปลี่ยนให้กับการใช้ชีวิต ธุรกิจ ผลักดันดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น เกิดเป็นนิวนอร์มอล ซึ่งหัวเว่ยพบว่าการล็อกดาวน์ การเว้นระยะห่างทางสังคม เวิร์คฟรอมโฮม เรียนออนไลน์ ทำให้นักช้อปออนไลน์เพิ่มขึ้นจาก 37% ไปเป็น 76% คนที่เรียนออนไลน์หรือการทำงานจากที่บ้าน (WFH) เพิ่มขึ้นจาก 17% ไปเป็น 30% หรือมากกว่านั้น ขณะที่การปรับไปใช้คลาวด์เพิ่มขึ้นจาก 26% ไปเป็น 70%

 

นอกจากนี้ ส่งผลกระทบไปในภาคการผลิต ด้วยข้อจำกัดของการทำงาน ซึ่งทำให้หลายบริษัทต้องปรับตัวให้ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติได้มากขึ้น ใช้เอเอมาช่วยมากขึ้น ทว่าอีกทางหนึ่งสร้างโอกาสใหม่ๆ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุน และการสูญเสียต่างๆ ได้มากขึ้น

 

มองคลื่น 3500 พัฒนา 5G

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคเชื่อว่า 5G มีศักยภาพที่แข็งแกร่งมากในการช่วยให้เกิดการฟื้นตัวของประเทศไทย ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องหาโซลูชันและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อศึกษาวิธีการทำงานใหม่ๆ สร้างการทำงานร่วมกันที่มากระหว่างภาครัฐและเอกชน

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค

ดังนั้น 5G ที่ถูกสร้างและพัฒนาขึ้นมาบนพื้นฐานจาก 4G จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ให้บริการมากกว่าเครือข่ายแต่คือแพลตฟอร์ม เพราะ 5G มีประสิทธิภาพจะสูงขึ้น เนื่องจากการรวมของเครือข่าย และไพรเวท เน็ตเวิร์กกลายเป็นส่วนสำคัญของการใช้งาน ผ่านการประมวลผล อุปกรณ์ บริการเครือข่าย และบริการคลาวด์ไว้ในระบบนิเวศเดียว

 

นายชารัด กล่าวอีกว่า ความเร็วของการนำ 5G ของประเทศไทยไปใช้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการมือถือเท่านั้น เราต้องคำนึงถึงระบบนิเวศทั้งภาครัฐและเอกชนของประเทศไทยด้วย ปัจจุบันการนำ 5G ของไทยมาใช้นั้นเกิดขึ้นช้ากว่าในเกาหลีมาก เราต้องทำมากกว่านี้ และส่วนตัวก็ยังมองว่าคลื่นความถี่ 3500 เมกะเฮิรตซ์ ยังเป็นย่านความถี่ที่สำคัญในการพัฒนา 5G

 

มุ่งสร้างเครือข่ายชุมชน 5G

 

ด้านนายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า กลุ่มทรูฯเป็นผู้นำโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและดิจิทัลครบวงจร ซึ่งยังคงย้ำเจตนารมณ์นำความเป็นเทคคอมปานีร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม พลิกโฉมประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ผ่านการนำอัจฉริยภาพของทรู 5G ด้วยเครือข่ายที่ครบกว่า เร็วแรงกว่า และครอบคลุมกว่า ทุกการใช้งาน เชื่อมโยงทุกภาคส่วนร่วมสร้างระบบนิเวศ 5G (5G อีโคซิสเต็มส์) พร้อมสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อยกระดับดิจิทัลไลฟ์สไตล์ของคนไทยและเพิ่มศักยภาพให้ภาคธุรกิจในทุกวงการ ทุกอุตสาหกรรม

นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น

 ล่าสุด เปิดตัว True 5G Worldtech X ซึ่งมองว่า ตรงนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นแบบก้าวกระโดดของการสร้างเครือข่ายชุมชน 5G ที่จะทำให้ระบบนิเวศ 5G มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการผสานความร่วมมือจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมผลักดันและขับเคลื่อน 5G ของประเทศไทยไปด้วยกัน ทั้งการหลอมรวมองค์ความรู้เพื่อต่อยอดพัฒนาการใช้งาน 5G อย่างต่อเนื่อง และการพัฒนานวัตกรรม 5G ให้สามารถรองรับทุกมิติการใช้งานยกระดับดิจิทัลไลฟ์สไตล์ของคนไทย และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

 

ผนึกพันธมิตรสร้างอิมแพค

นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า โครงข่าย 5G ที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล เท่ากับการสร้างโอกาสมหาศาลของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม โดยมีการประเมินว่าในปี 2568 มูลค่าของตลาด 5G ในประเทศไทยจะเติบโตได้สูงถึง 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยตลาดหลักทีมีศักยภาพและเจริญเติบโตได้ดีจะมี 3 กลุ่มดังนี้ กลุ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ตภายในบ้านที่อยู่อาศัยผ่านอุปกรณ์ฟิกซ์ ไวร์เลส แอ็คเซ็ส กลุ่มการใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านโมบาย และกลุ่มบีทูบี

นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมเป็นสัดส่วนก้อนใหญ่ โดยเน้นไปในกลุ่มธุรกิจการผลิต, การค้าปลีก, การขนส่งและการกระจายสินค้า ซึ่งแน่นอนว่าวันนี้ศักยภาพของ 5G ในเมืองไทยสามารถตอบโจทย์ได้ในทุกกลุ่ม จากการทำงานอย่างหนักของเอไอเอส ในช่วงปีที่ผ่านมาผ่านความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่หลากหลายทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต การเงิน ค้าปลีก สาธารณสุข การศึกษา และอีกมากมาย สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการขับเคลื่อนประเทศ