สั่งการ คพ.ยกระดับการจัดการหมอกควันข้ามแดน

03 ธ.ค. 2564 | 05:55 น.

วราวุธ สั่งการ คพ.ยกระดับการจัดการหมอกควันข้ามแดนผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล เพื่อสรุปและหารือสถานการณ์และการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาคอาเซียนตอนล่างอุตุนิยมวิทยาเฉพาะทางอาเซียน (ASMC) คาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้า พบลานีญาพ.ย.64 -ต้นปี 65

 

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ เรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 22 (The Twenty Second Meeting of Sub-Regional Ministerial Steering Committee on Transboundary Haze Pollution: 22nd MSC) ร่วมกับประเทศบรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์

ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล เพื่อสรุปและหารือสถานการณ์และการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาคอาเซียนตอนล่าง โดยศูนย์เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาเฉพาะทางอาเซียน (ASMC) ได้แจ้งผลการคาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้า พบว่าจะเกิดสภาวะลานีญาเดือนพฤศจิกายน 2564 และคาดว่าจะคงอยู่จนถึงต้นปี 2565 ซึ่งอาจทำให้เกิดฝนตกในช่วงเวลาดังกล่าวได้

สั่งการ คพ.ยกระดับการจัดการหมอกควันข้ามแดน

นายอรรถพล กล่าวว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.)ได้ให้นโยบายมอบหมายให้ คพ.ประสานประเทศเพื่อนบ้านในการยกระดับเพิ่มความเข้มข้นในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญของการพยากรณ์คุณภาพอากาศล่วงหน้า โดยปัจจุบันประเทศไทยสามารถพยากรณ์ PM2.5 ได้ล่วงหน้า 7 วัน และมีแผนประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้าน

เพื่อยกระดับการพยากรณ์ในระดับภูมิภาคเพื่อให้การป้องกันและรับมือปัญหาหมอกควันในภูมิภาคมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ประเทศไทยได้ขอบคุณประเทศที่ได้สนับสนุนข้อเสนอของประเทศไทยในการประชุมประเทศภาคีต่อข้อตกลงอาเซียนเรื่องหมอกควันข้ามแดนครั้งที่ 16 (COP-16) ในการพิจารณาตั้งเป้าหมายการลดจำนวนจุดความร้อนในอาเซียนลงร้อยละ 20 รวมถึงใช้เป็นเป้าหมายในการพัฒนาเป้าหมายในโรดแมปฉบับถัดไป เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาในภูมิภาคจริงจังและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

สั่งการ คพ.ยกระดับการจัดการหมอกควันข้ามแดน

ประเทศสมาชิกอาเซียนยังได้เห็นพ้องกันว่าการดำเนินงานภายใต้ข้อตกอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนให้ความสำคัญและเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยเฉพาะการลดก๊าซเรือนกระจก (GHG) ตามเป้าหมายการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) นายอรรถพล กล่าว