สยย.ประกาศ 6 ยุทธศาสตร์เคลื่อนทัพปี 65 ดันโครงสร้างพื้นฐานรับรถยนต์ไฟฟ้า

02 ธ.ค. 2564 | 09:13 น.

สถาบันยานยนต์ ประกาศ 6 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนปี 65 มุ่งพัฒนาบริการครอบคลุมอย่างมีมาตรฐานสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต เตรียมทดสอบยางล้อ UN R117 และ EV แบตเตอรี่ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านยานยนต์ไฟฟ้า เพิ่มความสามารถการบริหารงานทดสอบ

 

รายงานข่าวจากสถาบันยานยนต์ (สยย.) เผยว่า ในปี 2565 เป็นอีกหนึ่งปีแห่งความท้าทายต่อบทบาทและภารกิจของสถาบันยานยนต์  ที่จะต้องให้บริการแก่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม และสาธารณะ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี ทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน  

 

ล่าสุดสถาบันยานยนต์ภายใต้การกำกับดูแลของ นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ได้ประกาศแผนการดำเนินงานประจำปี 2565 กำหนด 6 ยุทธ์ศาสตร์เดินหน้าพัฒนาสถาบันยานยนต์ เพิ่มศักยภาพการทำงานทั้งภายในและภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

 

สยย.ประกาศ 6 ยุทธศาสตร์เคลื่อนทัพปี 65 ดันโครงสร้างพื้นฐานรับรถยนต์ไฟฟ้า

 

ยุทธ์ศาสตร์ที่ 1 เป็น Technical Service เทียบเท่าสากล เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ คือการยกระดับความสามารถการให้บริการของสถาบันยานยนต์ ในการเป็น Technical Service ของประเทศไทยที่ขึ้นทะเบียนภายใต้ข้อตกลง ASEAN MRA ในช่วงแรก จำนวน 19 รายการทดสอบ ซึ่งจะช่วยลดเวลา ลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการ ลดการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) ทำให้สินค้าได้คุณภาพมีมาตรฐานรองรับ และได้รับการแต่งตั้งเป็น Technical Service ของประเทศไทย โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และกรมขนส่งทางบก ส่งผลให้สินค้ามีคุณภาพได้มาตรฐาน ทำให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครอง

 

อีกทั้งเตรียมความพร้อมในการเป็น Technical Service ของการทดสอบยางล้อ UN R117 และ EV แบตเตอรี่ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านยานยนต์ไฟฟ้า และเพิ่มความสามารถการบริหารงานทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ(ATTRIC) ในอนาคต

 

ยุทธ์ศาสตร์ที่ 2 มุ่งสู่การพัฒนาต่อยอดและยกระดับงานบริการ จากหน่วยตรวจประเมินระบบคุณภาพของโรงงานตามมาตรฐานมอก. (Inspection Body) ซึ่งปัจจุบันได้รับการรับรองระบบคุณภาพ ISO/IEC 17020 เป็นหน่วยรับรองผลิตภัณฑ์ (Certification Body) ที่สามารถออกตรารับรอง TAI-Mark ที่ได้รับการรับรองระบบคุณภาพ ISO/IEC 17065 เพื่อส่งเสริมการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ของภาคอุตสาหกรรม ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศให้มีขีดความสามารถและเป็นที่ยอมรับในตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงเป็นกิจกรรมที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคโดยเฉพาะในด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม

 

โดยในระยะเริ่มต้น สถาบันฯ มีแผนจะทำการรับรอง มอก. ทั่วไปจำนวน 4 มอก. รวมถึงอยู่ในระหว่างทำการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วนอื่นๆ ที่จะสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคต่อไป

 

สยย.ประกาศ 6 ยุทธศาสตร์เคลื่อนทัพปี 65 ดันโครงสร้างพื้นฐานรับรถยนต์ไฟฟ้า

 

แผนยุทธศาสตร์ที่ 3 TAI Training & Consulting Provider เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ สร้างวิทยากรภายในของสถาบันฯ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้าน เช่น ทดสอบมาตรฐาน วิจัยและพัฒนา ตรวจประเมินรับรองกระบวนการผลิต ด้านงานวิจัยทิศทางอุตสาหกรรม และสามารถพัฒนายกระดับไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องในอนาคตได้ รวมถึงการสร้างเครือข่ายวิทยากรภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล

 

แผนยุทธศาสตร์ที่ 4 สามารถชี้นำทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วยผลงานวิจัย เป็นคลังข้อมูลและงานวิจัย (Automotive Think Tank) โดยมีเป้าหมาย  คือ เป็นศูนย์ข้อมูลยานยนต์สมัยใหม่ครบวงจร เพื่อการสนับสนุนเชิงนโยบายภาครัฐและให้บริการข้อมูลและวิจัยแก่ภาคเอกชน  ด้วยผลงานวิจัยจากข้อมูลความรู้ที่เป็น Primary data และ Field study เสริมจากที่ปัจจุบันสถาบันฯ มีศูนย์สารสนเทศยานยนต์ และมีข้อมูลผลงานศึกษาวิจัยที่สนับสนุนนโยบายภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2565 จะทำการศึกษาด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Mobility as a Service (MaaS) และการออกแบบแบตเตอรี่ในยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

 

แผนยุทธศาสตร์ที่ 5  Digitization &  TAI Branding และยกระดับสมรรถนะบุคลากร ประกอบด้วยเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวกับทั้งบุคลากรและระบบ เพื่อการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพสมรรถนะองค์กร และการพัฒนบุคลากร ให้สอดรับกับแนวโน้มการพัฒนาของเทคโนโลยียานยนต์ของอุตสาหกรรม ที่มุ่งไปสู่ Digitization Organization และการสร้างแบรนด์ของสถาบันฯ  สำหรับในด้านการพัฒนาบุคลากร คือ การพัฒนาในด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบดิจิทัล เพื่อปรับปรุงการทำงานและการให้บริการ รวมถึงการพัฒนา Soft skill และ Growth mindset ให้กับพนักงาน 

 

แผนยุทธศาสตร์ที่ 6  ความร่วมมือกับพันธมิตรด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม        เป็นการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เป็นพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในด้านที่มีความสำคัญกับการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ให้สอดคล้องกับเป้าหมายสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมกลุ่ม S-Curve และเป้าหมายการต่อยอดไปสู่ Smart Mobility 

 

โดยแผนกลยุทธ์ทั้ง 6 ของสถาบันยานยนต์ในปี 2565 นี้ เป็นแผนนำร่องไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ขยายต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา Smart Mobility หรือ การสัญจรอัจฉริยะ ที่ยานยนต์ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ยานยนต์ หากแต่เป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนการเดินทางที่ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้เดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงนำไปสู่การพัฒนาเพิ่มผลิตภาพ ยกระดับมาตรฐาน วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ต่อยอดอุตสาหกรรมสู่อนาคตด้วยหลักธรรมาภิบาลตามวิสัยทัศน์ “สถาบันแห่งการเรียนรู้และพัฒนาด้าน Mobility ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตสู่สังคม”