“บมจ.ซีวิลเอนจีเนียริง” กางแผนชิงบิ๊กโปรเจคต์รัฐ 8.58 แสนล้าน

29 พ.ย. 2564 | 07:27 น.

“บมจ.ซีวิลเอนจีเนียริง” เปิดแผนลงทุนปี 65 ลุยเมกะโปรเจคต์รัฐ 8.58 แสนล้าน รุกตลาดสังคมผู้สูงอายุ-เทคโนโลยี คาดโต 6%

นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ กรรมการอิสระและประธานกรรมการบริษัทซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL เปิดเผยในงานบริษัทซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL ผู้นำด้านวิศวกรรมโยธาและงานก่อสร้างครบวงจร ด้วยเทคโนโลยีทันสมัยกับโอกาสเติบโตจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่หลังเปิดประเทศ ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรม ปัจจุบันการแพร่ระบาดดังกล่าวยังไม่มีความพร้อมมากนักในการป้องกัน แต่ไทยมีการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นคงทางสาธารณสุขและส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ที่ผ่านมามีการปิดประเทศมานานพอสมควร รวมทั้งยังพบว่ายังมีเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์จากแอฟริกา ซึ่งรัฐบาลมีการดูแลอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันคนไทยได้มีการเข้าถึงการฉีดวัคซีนมากขั้น

 

 

 

 “เราได้มีโอกาสเข้ามาทำงานในบริษัท 2 ปี ทำให้ได้เห็นภาพธุรกิจการก่อสร้างและระบบโทรคมนาคมที่ต้องเปลี่ยนแปลงอีกเยอะ สมัยก่อนที่จะอำนวยสินเชื่อให้แก่บริษัทก่อสร้าง มีหลายๆธุรกิจก่อสร้างที่น่ากังวล เนื่องจากบางบริษัทพบว่ามีการบริหารจัดการได้ไม่ดี เช่น ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเกินกว่าที่ควรจะเป็น ,การบริหารก่อสร้างโครงการล่าช้า,การตรวจรับงาน,การปรับค่างวดงาน ที่ส่งผลกระทบต่อการชำระเงินให้แก่สถาบันการเงิน แต่เชื่อว่าบริษัทฯจะบริหารงานก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและดูแลด้านระบบการเงิน สังคม และสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ในปี 2565 บริษัทฯจะเป็นกำลังสำคัญธุรกิจก่อสร้างของไทยได้”

 

 

 

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ส่วนการเติบโตของธุรกิจอุตสาหกรรม บริษัทคาดการณ์แนวโน้มอุตสาหกรรมการก่อสร้างในปี 2565 การก่อสร้างภาครัฐมีมูลค่าอยู่ที่ 858,000 ล้านบาท ส่งผลให้เติบโต 6% ที่ผ่านมาประสบการณ์ของบริษัทฯเน้นธุรกิจการก่อสร้าง ขณะเดียวกันไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น โดยเฉพาะคนบางกลุ่มที่มีกำลังซื้อและมีศักยภาพในการดำเนินการอย่างเหมาะสม หากสามารถควบคุมการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ ทำให้ไทยเป็นเป้าหมายในการเดินทางของกลุ่มผู้สูงอายุ และทำให้งานก่อสร้างเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องภายในประเทศ ซึ่งการกระจายความเจริญไม่ได้อยู่ในพื้นที่เมืองใหญ่แต่จะเข้าไปในพื้นที่เมืองรองด้วย ถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการขยายตัวโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม หากปรับตัวได้ดี บริษัทจะกลายเป็นฮับด้านสุขภาพที่ดีแห่งหนึ่ง ที่สามารถพัฒนาจากเมืองหลักสู่เมืองรอง พร้อมรับการเติบโตทั้งด้านเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตลอดจนเขตเศรษฐกิจชายแดนต่อไป

“เราจะนำเทคโนโลยีมาสร้างความแตกต่าง ไม่ใช่เฉพาะประสิทธิภาพด้านการก่อสร้างเท่านั้น แต่สามารถควบคุมต้นทุนให้มีคุณภาพ ซึ่งในอนาคตอาจจะมีแผนการก่อสร้างโรงพยาบาล,อาคารดูแลผู้สูงอายุ เป็นอีกภาคธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืน เชื่อว่าการก่อสร้างภาครัฐยังเติบโตได้ แต่ในกลุ่มธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์อาจต้องมีการปรับตัว หากเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงการผู้สูงอายุ เชื่อว่าบริษัทจะเป็นแถวหน้าที่จะเข้าไปดำเนินการก่อสร้างเพื่อดูแลกลุ่มผู้สูงอายุด้วย”

 

 

 

 นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL กล่าวว่า สำหรับข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของบริษัทที่ทำให้ประสบความสำเร็จนั้น คือ การที่บริษัทสามารถดูแลต้นทุนมีราคาถูกที่สุดจะเป็นผู้ชนะจะได้เปรียบ แต่การได้มาจากความสามารถในการได้ต้นทุนที่ถูกไม่ใช่เพราะเป็นการเอาเปรียบผู้อื่น แต่เกิดจากหลายปัจจัย เช่น บริษัทมีการดูแลซับคอนแทคและพาทเนอร์เป็นอย่างดีสร้างความแข็งแกร่ง ปัจจุบันบริษัทมีระบบการเงินที่สามารถควบคุมและดำเนินการจ่ายค่างานได้เร็วโดยความคล่องตัวและมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ การเป็นเจ้าของโรงงานวัสดุก่อสร้าง ทำให้ต้นทุนมีราคา และการพัฒนาความรู้คนในองค์กรให้เติบโตแบบมืออาชีพอย่างต่อเนื่อง โดบอาศัยหลักการทางวิศวกรรมที่ดีและการบริหารจัดการที่ดี รวมทั้งการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในการดำเนินการอย่างเหมาะสม

 

 

 

 นายปิยะดิษฐ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างหลายโครงการ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สัญญา 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก และสัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ,โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร,โครงการทางด่วนพระราม ตอนที่ 1 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่ประมูลในนามกิจการร่วมค้า ยูเอ็น-ซีซี ร่วมกับ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น ,โครงการทางด่วนพระราม 2 ตอน 8 ,Sky Walk รถไฟฟ้าสายสีเขียวเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จากโครงการเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าตลอด 50 ปี บริษัทเป็น 1 ในผู้นำด้านการก่อสร้างของประเทศ

“สำหรับสัดส่วนการลงทุนธุรกิจของบริษัท แบ่งเป็น การลงทุนภาครัฐ 95% และการลงทุนเอกชน 5% โดยแบ่งการลงทุนออกเป็น 3 ธุรกิจ 1.ธุรกิจการก่อสร้าง 2.ธุรกิจขายวัสดุการก่อสร้าง 3.ธุรกิจการเช่าอสังหาริมทรัพย์และเครื่องมือก่อสร้าง คาดว่าในอนาคตจะมีสัดส่วนการลงทุนในภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ปัจจุบันโครงการขนาดใหญ่ในปี 2565 ที่บริษัทให้ความสนใจนั้น บริษัทเล็งเห็นโอกาสในการลงทุนโดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของภาครัฐ เช่น โครงการสนามบินอู่ตะเภา  โครงการท่าเรือมาบตาพุด  โครงการ่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวิทวงศ์)  ฯลฯ รวมทั้งสภาพหนี้ของภาครัฐใกล้จะถึงเกณฑ์ที่กำหนด เราจะทำอย่างไรให้ภาคเอกชนเติบโตได้นั่นคือ การลงทุนในรูปแบบ PPP  ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโอกาสของบริษัทที่อยากดำเนินการต่อไปในอนาคต”

 

 


ทั้งนี้จากราคาวัสดุการก่อสร้างที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นนั้น ปัจจุบันสถานการณ์โลกมีความผันผวนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับซับพลายเชน รวมทั้งสหรัฐอเมริกาทที่มีการออกอินฟราสตรัคเจอร์บิว ทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างสูงต่อเนื่อง ทางบริษัทมีการประสานงานร่วมกันบซัพพลายเออร์และซับคอนแทรคเตอร์อย่างใกล้ชิด หากสามารถวางแผนการทำงานล่วงหน้าและสื่อสารอย่างถูกต้อง จะทำให้บริษัทสามารถปรับตัวได้เร็วและเปลี่ยนผ่านด้านความผันผวนของราคาได้