“ศักดิ์สยาม” สั่ง รฟท.ทบทวนแผนเดินรถไฟเหลือ 22 ขบวน เข้าสถานีหัวลำโพง

22 พ.ย. 2564 | 10:32 น.

“ศักดิ์สยาม” จี้ รฟท.ทบทวนแผนเดินรถไฟเหลือ 22 ขบวน เข้าสถานีหัวลำโพง เล็งเปิดรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน แก้ปัญหาทุกมิติ ดึงแผนพัฒนาหัวลำโพงช่วยประโยชน์ส่วนรวม

นายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  เปิดเผยว่า กรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะปิดให้บริการรถไฟสถานีหัวลำโพงที่จะส่งผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชนนั้น  เบื้องต้นทางกระทรวงและรฟท.ได้มีการบูรณาการร่วมกัน โดยเตรียมรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (ขสมก.) วิ่งให้บริการจากสถานีกลางบางซื่อ-สถานีรถไฟหัวลำโพง เพื่อรองรับระบบฟีดเดอร์ ขณะเดียวกันได้ประสานงานร่วมกับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด  (BEM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินว่ามีแนวทางอย่างไรบ้าง เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้แก่ประชาชน 

 

 

 


“เราต้องการดำเนินการใช้ประโยชน์จากสถานีกลางบางซื่อ ปัจจุบันพบว่าการจราจรติดขัดภายในกรุงเทพฯถือเป็นปัญหาใหญ่ ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น ทางกระทรวงจะพิจารณาร่วมกับรฟท.ด้วย ไม่มีหรอกที่กระทรวงคมนาคมและรัฐบาลจะทิ้งใครไว้ แต่ต้องหารวิธีการที่เหมาะสม สิ่งที่เราดำเนินการเป็นเรื่องการพัฒนาประเทศ ถ้าเราไม่สามารถหาแบบร่วมกันได้ระหว่างสิ่งที่เป็นประวัติศาสตร์และการพัฒนาประเทศ แต่เราหยุดอยู่กับที่ นั่นคือความเสียโอกาสของเรา ในอดีตเราเคยเป็น 1 ใน 5 เสือของทวีปเอเชีย  แต่ปัจจุบันหลายประเทศนำหน้าเราไปไกล เพียงเพราะเราไม่กล้าตัดสินใจหาแบบการพัฒนาประเทศที่นำไปสู่โลกสมัยใหม่ ซึ่งจะต้องประเมินว่าสิ่งใดที่เป็นประโยชน์สูงสุดและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ” 

นายศักดิ์สยาม  กล่าวต่อว่า  ได้มีข้อสั่งการถึงการให้บริการเดินรถเข้าสู่สถานีหัวลำโพงทั้ง 22 ขบวนต่อวัน เบื้องต้นให้ รฟท. ทบทวนข้อมูลแผนการเดินรถให้รอบด้าน โดยพิจารณาให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งมิติการบริหารจราจร และมิติการให้บริการประชาชน โดยพิจารณาการปรับรูปแบบ และจำนวนรถไฟให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน รวมถึงความเป็นไปได้ในการปรับให้ขบวนรถไฟวิ่งนอกชั่วโมงเร่งด่วน เป็นต้น  ทั้งนี้ได้มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเวทีสาธารณะชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และจัดทำข้อมูลให้ชัดเจนในประเด็นนี้ เพื่อหาข้อยุติและแก้ปัญหาให้ได้ทุกมิติ รวมถึงมาตรการเยียวยาต่าง ๆ รวมถึงการให้ข้อมูลด้านการพัฒนาหัวลำโพงให้เห็นภาพรวมทุกประเด็น ทั้งการอนุรักษ์อาคาร และการพัฒนาเชิงพาณิชย์ รวมถึงการบริหารสถานีกลางบางซื่อ โดยให้พิจารณาข้อมูลการศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเน้นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

 

 


ส่วนการปรับขบวนรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพงนั้น เบื้องต้นรฟท.มีการปรับขบวนรถไฟทางไกลเหลือ 22 ขบวนต่อวัน จากเดิมที่มีขบวนรถไฟทั้งหมด 118 ขบวนต่อวัน ทั้งนี้จะมีการปรับเวลาการเดินรถไฟอีกครั้ง หากการให้บริการเดินรถไฟทั้ง 22 ขบวนต่อวัน ไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายของรฟท.อาจจะส่งผลให้เป็นภาระแก่รฟท.ขาดทุนต่อเนื่อง
 

“การปิดสถานีหัวลำโพงมีการดำเนินการวางแผนมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งปิดให้บริการ เนื่องจากพบว่าปัญหาการเดินรถไฟที่เดินทางเข้ามาใจกลางเมือง โดยภาครัฐต้องการสร้างสถานีกลางบางซื่อให้เป็นศูนย์กลางในการเดินรถ โดยการให้บริการเดินรถภายในสถานีกลางบางซื่อมี 4 รูปแบบ ประกอบด้วย รถไฟสายสีแดง,รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน,รถไฟทางไกล,รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ,รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ในอนาคตรถไฟสายสีแดงจะดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายโดยใช้แนวรางรถไฟที่สถานีหัวลำโพง ซึ่งเป็นการพัฒนาลงใต้ดิน โดยไม่มีจุดตัดรถไฟเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด”

 

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า นโยบายปรับการเดินรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพงตามที่ รฟท.ศึกษาความเหมาะสมจะปรับขบวนเดินรถจาก 118 ขบวนต่อวัน เหลือเพียง 22 ขบวนต่อวัน ยังคงเป็นไปตามแผน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้ รฟท.ศึกษาความต้องการของประชาชนให้รอบคอบ จำนวนรถให้บริการเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ อีกทั้งจะส่งผลกระทบต่อปัญหาการจราจรติดขัดอย่างไร และ รฟท.คุ้มค่าหรือไม่ หากเทียบกับต้นทุนจากการบริหารการเดินรถ พร้อมทั้งให้เปิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง