"ระยอง"ทดสอบรถไฟสินค้ามาบตาพุด-ท่านาแล้งเชื่อมไทย-ลาว-จีน

16 พ.ย. 2564 | 04:20 น.

ผู้ประกอบการขนส่งภาคเอกชนจังหวัดระยอง จับมือการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดขบวนรถไฟทดลองขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ระบบราง เส้นทางมาบตาพุด(ระยอง) ถึงสถานีท่านาแล้ง สปป.ลาว พร้อมเตรียมขยายต่อไปจีน และดันเปิดขบวนท่องเที่ยวระยอง-ลาว-จีน ในอนาคต 

วันที่ 15 พ.ย.2564 เมื่อเวลา 09.09 น.ที่สถานีรถไฟมาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีพิธีปล่อยขบวนรถไฟทดลองขนส่งสินค้า ประเภทเม็ดพลาสติก ระบบรางทางรถไฟ เส้นทางจากสถานีมาบตาพุด(ระยอง)ถึงสถานีท่านาแล้ง สปป.ลาว เป็นขบวนปฐมฤกษ์ 

กิจกรรมดังกล่าว มีนายปัญญา ปะพุธสะโร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เก้าเจริญ ทรานสปอร์ต จำกัด นายณรงค์ ชูสลับ นายสถานีรถไฟมาบตาพุด พล.ต.ต.เสถียร บุญค้ำ ผู้บังคับการศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 2 ที่ปรึกษา บริษัทเก้าเจริญฯ และนายชัยยุทธ มณีรัตน์ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป บริษัทอินโดรามา จำกัด เข้าร่วม

พิธีปล่อยขบวนรถไฟสินค้าจากมาบตาพุดไปสถานีหนองคาย ต่อเข้าเวียงจันทน์เชื่อมเข้าระบบรถไฟจีน-ลาว

"ระยอง"ทดสอบรถไฟสินค้ามาบตาพุด-ท่านาแล้งเชื่อมไทย-ลาว-จีน

นายปัญญา ปะพุธสะโร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเก้าเจริญทรานสปอร์ต จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าคอนเทรนเนอร์ระบบราง ตั้งแต่ปี 2562  ต่อมาในปี 2564 บริษัทฯ ได้รับการพิจารณาอนุมัติให้เป็นผู้ขอถ่ายลำและผู้ขอผ่านแดนทางรถไฟ จากกรมศุลกากร และการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)

จากนั้นเริ่มให้บริการขนส่งสินค้าผ่านแดนทางรถไฟ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา โดยขนส่งตู้สินค้าที่เข้ามาทางท่าเรือแหลมฉบัง และส่งต่อไปยัง สปป.ลาว เส้นทางจากท่าเรือแหลมฉบังถึงสถานีหนองคาย ระยะทาง 718 กม.ใช้เวลา 14 ชม. และการรถไฟฯ จะเดินขบวนส่งสินค้าข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ระยะทางอีก 3.5 กม.ใช้เวลา 15 นาที ถึงที่หมาย

"ระยอง"ทดสอบรถไฟสินค้ามาบตาพุด-ท่านาแล้งเชื่อมไทย-ลาว-จีน

นายปัญญา กล่าวต่อว่า การเปิดขบวนรถพิเศษเพื่อทดลองเดินขบวนรถส่งสินค้า จากสถานีมาบตาพุดถึงสถานีท่านาแล้งในครั้งนี้ จะใช้ระยะทาง 780 กม.ใช้เวลาเดินทาง 15 ชม. จะช่วยในเรื่องของการลดต้นทุนค่าขนส่ง และการขนส่งทางรางใช้เวลาเพียงครึ่งวันหรือหนึ่งวันครึ่งเท่านั้น เร็วกว่าทางถนนที่ใช้เวลา 2-3 วัน และทางทะเล 5-7 วัน และยังช่วยลดการแพร่ระบาดโควิด-19 ลดมลพิษและอุบัติเหตุทางถนนด้วย 

ทั้งนี้ ทางบริษัทฯ มีแผนที่จะขยายการขนส่งสินค้าทางรางต่อไปยังประเทศจีนด้วย จากโครงการรถไฟลาว-จีน จาก สปป.ลาว เชื่อมต่อจากนครหลวงเวียงจันทร์กับคุนหมิง จึงนับว่าเป็นโอกาสของจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ของ EEC ในการพัฒนาระบบราง เพื่อให้เชื่อมต่อไปถึงประเทศจีนได้ และสนับสนุนส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรม การยกระดับให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจชั้นนำของเอเชีย รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงอย่างประสิทธิภาพตามนโยบายของรัฐบาล 

ในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 นี้ ทางบริษัทฯ มีแผนจะให้บริการในฝั่งลาว เชื่อมต่อนครหลวงเวียงจันทน์กับคุนหมิงดังกล่าว โดยขนส่งสินค้าประเภทผลไม้ อาหารทะเลของภาคตะวันออก รวมทั้งเตรียมแผนที่เปิดขบวนท่องเที่ยว ระยอง-ลาว-จีน เพิ่มเติมอีกด้วย 

ด้านนายชัยยุทธ มณีรัตน์ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป บริษัท อินโดรามา จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทฯ ได้ริเริ่มโครงการดังกล่าวร่วมกับบริษัทเก้าเจริญมาตั้งแต่ปี 2559 แล้ว ส่งสินค้าใน 2 เส้นทาง คือ สถานีมาบตาพุด-สถานีบ้านป่าหวาย จ.ลพบุรี และอีกเส้นทางคือ สถานีมาบตาพุด-สถานีวัดงิ้วราย จ.นครปฐม ซึ่งการเปิดทดลองเดินขบวนรถส่งสินค้าดังกล่าว จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ลดปัญหาโลกร้อน ลดถนนพัง และอุบัติเหตุทางถนนด้วย

"ระยอง"ทดสอบรถไฟสินค้ามาบตาพุด-ท่านาแล้งเชื่อมไทย-ลาว-จีน

พล.ต.ต.เสถียร บุญค้ำ ผู้บังคับการศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 2 ที่ปรึกษาบริษัท เก้าเจริญฯ กล่าวเสริมว่า บูรพกษัตริย์ชาติไทยได้มีวิสัยทัศน์วางรากฐานการรถไฟให้คนไทยไว้กว่า 130 ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างโลกจากทุกภูมิภาค

หลังจากนี้จะเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจของภาคเอกชน และผู้ประกอบการขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งทางราง โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)เป็นผู้ดำเนินการรับผิดชอบซึ่งได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบขนส่ง เพื่อให้ได้คุณภาพที่ดี ขนได้ปริมาณที่มากกว่า ประหยัด เที่ยงตรง และเรื่องของความปลอดภัยของอุบัติเหตุ ตามนโยบายของรัฐบาล

"ระยอง"ทดสอบรถไฟสินค้ามาบตาพุด-ท่านาแล้งเชื่อมไทย-ลาว-จีน