ไทยรับไม้ต่อนิวซีแลนด์เจ้าภาพเอเปคปี 2565 จากไม้พายวากะสู่ชะลอม

13 พ.ย. 2564 | 05:29 น.

ไทยรับไม้ต่อนิวซีแลนด์เจ้าภาพเอเปคปี 2565 พร้อมเปิดตัวตราสัญลักษณ์ "ชะลอม"ขับเคลื่อนเอเปคภายใต้แนวคิด Open. Connect. Balance “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders Meeting) ซึ่งนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น โดยในช่วงพิธีส่งมอบตำแหน่งเจ้าภาพเอเปคจากนิวซีแลนด์ให้ไทย นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณทีมเอเปคนิวซีแลนด์ที่ได้ขับเคลื่อนเอเปค ท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ ของโลก โดยไทยพร้อมทำหน้าที่เจ้าภาพเอเปคปี 2565 ต่อจากนิวซีแลนด์ 

 

การรับมอบไม้พายวากะ (Waka Paddle) เปรียบเสมือนการขับเคลื่อนเรือเอเปคไปข้างหน้า โดยไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปค  ปี 2565 จะผลักดันการพัฒนาภูมิภาคไปสู่การเจริญเติบโตอย่างครอบคลุม พร้อมทั้งขับเคลื่อนเอเปคเข้าสู่โลกยุคหลังโควิด-19 ที่ยั่งยืนและสมดุลผ่านแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy Model 

 

ไทยรับไม้ต่อนิวซีแลนด์เจ้าภาพเอเปคปี 2565 จากไม้พายวากะสู่ชะลอม


เชิญชวนประชาชนทุกภาคส่วนร่วมกันสานความเข้มแข็งและความมุ่งมั่นในการสร้างประชาคมเอเชีย-แปซิฟิก ภายใต้แนวคิด “Open. Connect. Balance.” หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” 

 

พร้อมเปิดตัวตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2565 ของไทยซึ่งเป็นผลงานของนายชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากชะลอมซึ่งเป็นเครื่องจักสานไทยที่ใช้ใส่สิ่งของในการเดินทางหรือนำไปมอบกับบุคคลที่เคารพของไทยจากรุ่นสู่รุ่น ใช้เส้นตอกไม้ไผ่สอดประสานกันอย่างเหนียวแน่น คงทน เช่นเดียวกับความร่วมมือของสมาชิกเอเปค

 

"ชะลอม" เป็นตราสัญลักษณ์สื่อถึงประเพณีและวิถีชีวิตชุมชนไทย การออกแบบและหัตถศิลป์สะท้อนภูมิปัญญาชาวบ้านในการนำวัตถุดิบมาแปลงสภาพเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานได้สะดวก มีนวัตกรรม ทนทาน และร่วมสมัยจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังสื่อถึงการร่วมสานพลังและจุดแข็งที่หลากหลาย ร่วมมือเพื่อสร้างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น ครอบคลุม และยั่งยืน สำหรับประชาชนรุ่นหลัง นอกจากนี้ ชะลอมยังเป็นสัญลักษณ์ของการค้า การเดินทาง ความเชื่อมโยงในภูมิภาค ซึ่งเป็นหัวใจของเอเปค

 

สัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2565

ทั้งนี้เครื่องแต่งกายนายกรัฐมนตรีในการรับมอบตำแหน่งเจ้าภาพ APEC
จากนิวซีแลนด์ ปี 2564 สู่ ประเทศไทย ปี 2565

 

1. ไม้พาย “วากา” (Waka / Paddle)
 

  • ทำจากไม้สนแดงโททาร่า (Totara)ของนิวซีแลนด์
  • ชาวเมารีใช้สำหรับพายเรือแคนูและใช้เป็นอาวุธในยามสงคราม
  • ไม้พายที่แกะสลักลวดลายสวยงามจะเป็นของผู้นำเท่านั้น

 

2. สร้อยจี้หยก (Koru Pounamu)

  • ทำจากหยกนิวซีแลนด์ ภาษาเมารีเรียกว่า “พูนามู” (Pounamu)เปรียบเสมือนผู้พิทักษ์รักษาความสงบทางจิตวิญญาณ ให้พลังและอำนาจแก่ผู้นำ
  • สีเขียวของหยก คือ สีต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิต ความอุดมสมบูรณ์
  • ลักษณะขดม้วนของหยก เรียกว่า “โครู” (Koru) มาจากยอดอ่อนใบเฟิร์น แสดงถึงความเจริญงอกงาม
  • จี้หยกนี้เป็นสัญลักษณ์ของการเจริญเติบโตและฟื้นฟูของเอเปค

 

3. ผ้าคลุมไหล่ (Garment)

  • ได้รับแรงบันดาลใจจากเสื้อคลุมของชนเผ่าเมารีที่เรียกว่า kakahu / korowai เป็นสัญลักษณ์ของผู้นำ
  • ลวดลายบนผืนผ้า หมายถึง การถักทอร่วมกันของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติทั่วมหาสมุทรแปซิฟิกอันทรงพลัง

 

เครื่องแต่งกายนายกรัฐมนตรีในการรับมอบตำแหน่งเจ้าภาพ APEC จากนิวซีแลนด์ ปี 2564 สู่ ประเทศไทย ปี 2565

 

ส่วนชะลอม ตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปค ปี 2565 ของไทย

 

ชะลอมเป็นเครื่องจักสานของไทย ใช้เป็นภาชนะใส่สิ่งของต่างๆ และเป็นสิ่งของสัญลักษณ์การค้าขายของไทยมาแต่โบราณ เส้นตอกไม้ไผ่ที่สอดประสานกันทั้งแข็งแรงและยืดหยุ่น เหนียวแน่นและคงทน โอบอุ้มเศรษฐกิจภูมิภาคให้ “มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” เส้นตอกไม้ไผ่สานกันเป็นชะลอม 21 ช่อง สื่อถึง 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค ชะลอมสื่อหัวข้อหลัก “OPEN, CONNECT, BALANCE” ของการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2564ของไทย ได้แก่

 

ไทยรับไม้ต่อนิวซีแลนด์เจ้าภาพเอเปคปี 2565 จากไม้พายวากะสู่ชะลอม

 

  • OPEN - ชะลอมสื่อถึงการค้าที่เปิดกว้าง 
  • CONNECT - ชะลอมเป็นสิ่งบรรจุสินค้าหรือส่งของสำหรับใช้ในการเดินทาง และสื่อถึงความเชื่อมโยง 
  •  BALANCE – ชะลอมทำจากวัสดุธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy- BCG) สีเส้นตอก 3 สี ได้แก่ สีน้ำเงิน สื่อถึง OPEN การเปิดกว้าง สีชมพู สื่อถึง CONNECT การสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยง และสีเขียว สื่อถึง BALANCE ความสมดุล