บิ๊กซีพี” ร่วมประชุมเวทีคู่ขนาน COP26 ประกาศเป็นผู้นำเอกชนลดปล่อยคาร์บอน

09 พ.ย. 2564 | 09:29 น.

“ศุภชัย เจียรวนนท์” ซีอีโอเครือซีพีร่วมประชุมเวทีคู่ขนาน COP26 ประกาศนำ “ซีพี” ก้าวสู่องค์กรปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ พร้อมปลุกภาคเอกชนไทยเดินหน้าลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีลดโลกร้อน

 

ในการประชุม รัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26)  เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ประเทศไทยได้มีการจัดกิจกรรมคู่ขนาน Climate Action Leader Forum 2021 ผ่านระบบออนไลน์ ณ ศาลาไทย (Thai Pavilion) บนเวที Thailand Minister’s Climate Talk and Business Leaders to Share Vision and Experiences on Net-zero Transformation

 

ทั้งนี้ได้ระดมความคิดผู้นำในองค์กรชั้นนำของประเทศไทยทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันต่าง ๆ เกี่ยวกับการสานต่อเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส รวมไปถึงความมุ่งมั่นสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero)  ในการนี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ“Business Leaders to Share Vision and Experiences on Net-zero Transformation” หรือ “การแบ่งปันวิสัยทัศน์และประสบการณ์ของผู้นำเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์”

 

 

ขณะที่นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ร่วมแบ่งปันมุมมองความเห็นและประสบการณ์ในหัวข้อ “Thailand Carbon Neutral Network: Climate Action Partnership towards Carbon Neutrality” หรือ “เครือข่ายคาร์บอนกลางประเทศไทย  : ความร่วมมือด้านเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน”

 

รายงานข่าวเผยว่านายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือซีพี ได้ประกาศถึงความมุ่งมั่นของเครือที่มีต่อภารกิจสำคัญของโลกในการร่วมลดโลกร้อน โดยกล่าวว่า ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมกำลังอยู่ในจุดที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบต่าง ๆ ที่มาจากภาวะโลกร้อนจะส่งผลต่อกระบวนการผลิตเพื่อบริโภคท่ามกลางจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อัตราของเสียจากกระบวนการผลิตและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น แนวโน้มที่รอไม่ได้นี้ส่งผลให้ภาคธุรกิจและทุกอุตสาหกรรมต้องเร่งร่วมมือกันรับผิดชอบในการสร้างความยั่งยืน ดำเนินการและมุ่งมั่นสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้

 

ในฐานะที่เครือซีพีเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์กรผู้นำด้านความยั่งยืนโลก  (UN Global Compact Lead) จากสหประชาชาติ ได้กำหนดเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่องค์กร Zero food Waste และ Zero Emission ภายในปี 2030 โดยขณะนี้ได้เตรียมทุกอย่างที่ทำได้เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว  รวมถึงการก้าวเข้าสู่โอกาสใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนด้วย โดยธุรกิจของเครือซีพีได้เปลี่ยนแปลงและปรับตัวสู่รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนในหลายมิติ ทั้งในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก โทรคมนาคม ตลอดจนการดำเนินธุรกิจใน 21 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ สำหรับอุตสาหกรรมด้านการเกษตร ซีพีได้ปรับตัวสู่การดำเนินการบนความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทานที่จะต้องสร้างความร่วมมือให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักรู้และมีแรงจูงใจในการพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืนไปด้วยกัน

 

​ซีอีโอเครือซีพี กล่าวอีกว่า ภาคธุรกิจจำนวนมากต่างพยายามที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ จะมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยจัดการในเรื่องเศรษฐกิจและความยั่งยืนได้มากขึ้น เช่น การทำฟาร์มอัจฉริยะ การใช้ระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิต การใช้พลังงานหมุนเวียน ตลอดจนการพัฒนาแพลตฟอร์มและโซลูชั่นต่าง ๆ ถือเป็นโอกาสที่จะช่วยพลิกวิกฤติครั้งนี้ให้เป็นโอกาสได้ แม้จะตั้งคำถามถึงสิ่งที่ทำวันนี้ว่ายังไม่เห็นผลชัดเจน แต่การทำในสิ่งที่ถูกต้องไม่จำเป็นต้องหาตัวเลขต่าง ๆ มาบอกเรา ในเมื่อวันนี้วิถีที่มนุษย์บริโภค การใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ได้สร้างก๊าซเรือนกระจกและของเสียออกมาซึ่งทั้งหมดไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืน

 

​" ในวิกฤติด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศนี้จะทำให้เราได้มีโอกาสสร้างความยั่งยืน จัดการกับผลกระทบที่มีต่อโลกได้ ดังน้ันภาคธุรกิจควรลงทุนอย่างจริงจัง ไม่เพียงแต่ลงทุนในเรื่องพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น แต่ยังมีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่เราต้องลงทุนต่อไปเพื่อดำเนินการและรับผิดชอบว่าภาคธุรกิจจะไม่ปล่อยมลพิษมากขึ้น รวมทั้งมุ่งสู่ Net Zero ได้สำเร็จบนพื้นฐานที่จะพัฒนาและเรียนรู้ตลอดเวลา เครือซีพีหวังว่าจะสามารถแบ่งปันทั้งบทเรียนและความสำเร็จในการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่อไป"   

 

นพปฎล  เดชอุดม

 

​ด้าน นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวบนเวทีคู่ขนาน COP26 ระบุว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์ในฐานะองค์กรภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจมาครบ 100 ปี ได้ตั้งเป้าหมายการเป็นองค์การที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2030 ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกบริษัทในเครือฯ ที่จะร่วมกันรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ในแต่ละกลุ่มธุรกิจในเครือฯ ได้ดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่การผลิตอย่างเป็นรูปธรรม  ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การปลูกพืชโดยใช้เทคโนโลยีแบบแม่นยำ การใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานหมุนเวียน ไปจนถึงการนำของเสียกับมาเป็นพลังงาน จากการดำเนินการดังกล่าวทำให้ธุรกิจของเครือซีพีปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมทั่วโลก

 

​ เครือซีพียังได้กำหนดสูตรสำเร็จในการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน 5 ข้อ ตามแนวทางของนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารของเครือฯ ได้แก่ 1.ความมุ่งมั่นของผู้นำ ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนและทำให้ทุกคนเข้าใจว่าประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งมือกันช่วยโลกใบนี้ 2. ต้องมีการรายงานผลการปฏิบัติการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่โปร่งใสต่อสาธารณชน 3.การใช้กลไกตลาดเป็นแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กลุ่มธุรกิจและผู้บริโภค 4. นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจทั้งการนำมาใช้เพื่อสร้างพลังงานหมุนเวียน รวมไปถึงการนำมาช่วยในการดักจับและกักเก็บคาร์บอน และ5.สร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการร่วมกันหาแนวทางรับมือสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่จะทำให้คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์