ภาวะโลกรวน เมื่อโลกร้อนขึ้น Net Zero Emission ของไทยไปถึงไหนแล้ว

08 พ.ย. 2564 | 07:00 น.
อัพเดตล่าสุด :08 พ.ย. 2564 | 13:44 น.

ภาวะโลกรวน หรือ Climate change ทำให้โลกร้อนขึ้น หลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับนโยบายลดก๊าซเรือนกระจก เเล้วนโยบาย Net Zero Emission ของไทยไปถึงไหนแล้ว

ภาวะโลกรวน หรือ Climate change คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ที่ดูจะเป็นเรื่องที่ต้องกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่แพ้โควิด 19 เกิดจากการปล่อยมลพิษต่างๆ ออกมาโดยไม่ควบคุม ส่งผลให้เกิด “ภาวะเรือนกระจก” มากขึ้น ทำให้องค์กรต่างๆ เริ่มเดินหน้าแผน “Net Zero”

สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกที่รายงานโดย Climate Watch Data 2018 จัดอันดับไว้ดังนี้ 

อันดับ 1 คือ จีน ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 122355.24 mtCO₂e หรือประมาณ 19% รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อยู่ที่ 6023.62 mtCO₂e หรือประมาณ 18%

ส่วนประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 416.95 mtCO₂e หรือประมาณ 0.8%

ภาวะโลกรวน เมื่อโลกร้อนขึ้น  Net Zero Emission ของไทยไปถึงไหนแล้ว

ความรุนแรงของการสภาพอากศที่แปรปรวนยืนยันอีกเสียงจาก คณะกรรมการขององค์การสหประชาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change)  ออกคำเตือน วิกฤตสภาพอากาศโลกได้เข้าสู่ระดับ ‘สีแดง’

สถานการณ์ปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกร้อนขึ้น ประมาณ 1.1 - 1.2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับปีฐานข้อมูลในปี 1850-1900 โดยอุณหภูมิแผ่นดินร้อนขึ้นเฉลี่ย 1.59 องศาฯ ส่วนอุณหภูมิน้ำทะเลที่ร้อนขึ้น 0.88 องศาฯ

ความร้อนที่มากขึ้นและอุณหภูมิที่แตกต่างกันระหว่างแผ่นดินกับทะเล เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความแปรปรวนทางสภาพอากาศหลายอย่าง

โดยประเมินว่าการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศทุกๆ 1,000 ล้านกิกะตัน จะทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 0.45 องศา (best estimate) อีกทั้ง มีการคาดการณ์อุณหภูมิ "โลกร้อน" แบ่งเป็น 3 ช่วงเวลาด้วยกัน คือ

  • ระยะแรกในอนาคตอันใกล้ คาดว่าโลกจะร้อนขึ้นอีก 1.5 องศาฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  • ระยะสอง คาดการณ์ว่าโลกจะร้อนขึ้น +3 องศาฯ ในช่วงปี 2041-2060
  • ระยะสาม คาดการณ์ว่าโลกจะร้อนขึ้น + 5.7 องศาฯ ในช่วงปี 2081-2100

ภายในปี 2573 อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยจะสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดย การศึกษาของ IPCC ระบุด้วยว่า ผลกระทบที่คาดว่าจะตามมาในไม่ช้านี้ ได้แก่ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะเลวร้ายขึ้นอย่างมาก

จินตนาการไม่ออกเลยว่าหากถึง 1.5 องศา อะไรจะเกิดขึ้น นี่คือสัญญาณธรรมชาติกำลังเอาคืน !!!!

ประเทศไทยเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้ง ถือเป็นสัญญาณที่สะท้อนความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือ “โลกรวน”

ดร.เอ้-ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)  โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว Suchatvee Suwansawat  ระบุว่า อีก 10 ปี ไทยจะเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากโลกร้อนมากที่สุด  ดูได้จากเดือนพฤศจิกายนซึ่งปลายปีแล้วฝนยังตกต่อเนื่องใน กทม. น้ำยังท่วมขังในหลายจังหวัด

หากถึง 1.5 ไม่กล้าจินตนาการความเสียหาย เพราะ ในฤดูฝน ฝนจะตกมากกว่าเดิมอีก 3 เท่า ในฤดูแล้ง จะแล้งมากกว่าเดิม 2-4 เท่า ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น มากกว่าครึ่งเมตร! และไทยเอง จะเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโลกมากที่สุด พิสูจน์ชัด น้ำท่วมปีนี้ ดินโคลนถล่ม แต่สิ่งที่เกิดในปีนี้ จะยิ่งทวีความรุนแรง ฝนตกหนักกว่าเดิม น้ำทะเลสูงขึ้นกว่าเดิม

การป้องกันไม่ให้อุณหภูมิสูงขึ้น โดยเป้าหมายลดคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ยังไงก็ต้องทำ ยังต้องเร่งเตรียมแผนรับมือภัยพิบัติที่เกิดขึ้นแล้ว

ภาวะโลกรวน เมื่อโลกร้อนขึ้น  Net Zero Emission ของไทยไปถึงไหนแล้ว

 “ผมมาพร้อมกับเจตนารมณ์ที่เป็นความท้าทายอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2065 และด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ผมมั่นใจว่าประเทศไทยก็จะสามารถยกระดับ NDC ของเราขึ้นเป็นร้อยละ 40 ได้ ซึ่งจะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของไทยเป็นศูนย์ได้ภายในปี 2050

นี่คือสาระสำคัญจากถ้อยแถลงของ “พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มีต่อที่ประชุมระดับผู้นำ ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา

นั่นหมายความว่าประเทศไทยได้ให้คำมั่นต่อนานาประเทศ ในการยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่

เมื่อกลับมาดูยุทธศาสตร์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวในประเทศไทย ที่ก่อนหน้านั้นมีเพียง แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจก ปี พ.ศ.2564-2573 (Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021-2030)

ซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ 20-25% เท่านั้น ส่วนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580)  มีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกลงเพียง 20% (ตามแผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจก) และใช้พลังงานหมุนเวียน 40% ขณะที่ข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เมื่อปี 2561 พบว่า การใช้พลังงานหมุนเวียนมีอยู่ที่ร้อยละ 7.10

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าแล้วตัวเลขลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 40%  จากถ้อยแถลงของนายกฯ มาจากไหน ????

อย่างไรก็ตามเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ก่อนจะมีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-12 พฤศจิกายน 2564  

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไท เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พร้อมเห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จัดส่งร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว ต่อสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาฯ ในช่วงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-12 พฤศจิกายน 2564

สาระสำคัญของร่างยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทยนั้น จัดทำขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการร่วมมือกับประชาคมโลกในการพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส โดยมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มข้น ตามข้อ 4 วรรค 19 ของความตกลงปารีส

ซึ่งประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายที่จะมีระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ณ ปี 2030 มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยเร็วที่สุดภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้ และมีความพยายามในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี 2065 ซึ่งการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศและการได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงิน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างขีดความสามารถจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายนี้ได้