กมธ.ติงกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ พิจารณาเหลื่อมล้ำ กระจุกแน่นภาคอีสาน

05 พ.ย. 2564 | 10:00 น.

กมธ.การพลังงานติง กองทุนเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานฯ พิจารณาโครงการขอรับสนันสนุนยังเหลื่อมล้ำ แต่ละภาคงบกระจายไม่ทั่วถึง กระจุกแน่นภาคอีสาน แนะ “พลังงานจังหวัด” เร่งทำความเข้าใจประชาชนถึงระเบียบการเสนอ ระบุโครงการปี 64 พบปัญหาอื้อ

 

รายงานข่าว เผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายกิตติกร โล่ห์สุนทร ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร, นายธารา ปิตุเตชะ รองประธานฯ, นายสมเกียรติ วอนเพียร รองประธานฯ นายชัยยันต์ ผลสุวรรณ์ เลขานุการคณะกรรมาธิการ และคณะกรรมาธิการ ประชุมคณะกรรมาธิการ ครั้งที่ 69 ได้ทำการพิจารณาเรื่อง ความคืบหน้าผลการดำเนินงานของการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

 

ทั้งนี้ได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ในส่วนของกลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก ภายใต้กรอบวงเงินจังหวัดละ 25 ล้านบาท นั้น ปรากฏว่ามีหนึ่งจังหวัดที่ไม่ได้เสนอขอรับงบประมาณมาเลย และหลายจังหวัดเสนอขอรับงบประมาณน้อยกว่ากรอบวงเงินงบประมาณ  25 ล้านบาท ที่กองทุนฯ กำหนดให้ไว้

 

กมธ.ติงกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ พิจารณาเหลื่อมล้ำ กระจุกแน่นภาคอีสาน

 

สำหรับในปีงบประมาณ 2564 มีการเสนอโครงการเข้ามารวมทั้งประเทศ 939 โครงการ มูลค่า 1,099.90 ล้านบาท จากกรอบวงเงิน 1,900 ล้านบาท มีโครงการที่คาดว่าจะได้รับการสนับสนุน จำนวน 716 โครงการ คิดเป็นวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 667.71 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงการสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่ไม่ทั่วถึ่ง และกองทุนฯ ยังไม่ให้โอกาส จังหวัดพิจารณาส่งโครงการเพิ่มให้เต็มตามจำนวนที่ได้รับจัดสรร

 

ในส่วนของกรอบวงเงิน 500 ล้านบาทที่เป็นโครงการส่วนกลางนั้น มีโครงการที่ขอรับการสนับสนุน 461โครงการ คิดเป็นงบประมาณทั้งสิ้น 671.61 ล้านบาท โดยมีโครงการที่ควรได้รับการสนับสนุน จำนวน 372 โครงการ คิดเป็นงบประมาณทั้งสิ้น 503.37 ล้านบาท โครงการเกือบทั้งหมดมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยไม่มีแม้แต่โครงการเดียวที่มาจากภาคเหนือ แสดงให้เห็นถึงการกระจายตัวของโครงการที่ผิดปกติ เสมือนมีการล็อก โครงการให้อยู่ในพื้นที่ที่ต้องการ

 

กมธ.ติงกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ พิจารณาเหลื่อมล้ำ กระจุกแน่นภาคอีสาน

 

ในข้อเท็จจริง การจัดสรรเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการการอนุรักษ์พลังงานควรมีการจัดสรรงบประมาณให้ครอบคลุมทุกจังหวัดเพื่อให้เกิดการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การกำหนดเงื่อนไขในการขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนฯดังกล่าว ควรตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในแต่ละภาค เพื่อให้โครงการที่ขอรับการสนับสนุนเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

 

ดังนั้นกระทรวงพลังงาน และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานควรมีการประชาสัมพันธ์ ให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบถึงการส่งเสริมสนับสนุนงบประมาณในส่วนนี้ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ต้องทำโครงการเพื่อเสนอรับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนฯ พลังงานจังหวัดต่าง ๆ ถือว่าเป็นหน่วยหลักหลักที่ต้องให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจให้ประชาชน ให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ กฎระเบียบ เงื่อนไขของโครงการที่เสนอมาในกรอบของกฎระเบียบที่กองทุนกำหนด  

 

ในรายละเอียดการประชุมครั้งนี้กมธ.พลังงานได้เชิญผู้แทน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และผู้แทนสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 และแผนการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 6,305 ล้านบาท ประกอบด้วย  กลุ่มงาน ได้แก่ กลุ่มงานตามกฎหมาย งบประมาณ 200 ล้านบาท, กลุ่มงานสนับสนุนนโยบายอนุรักษ์พลังงานทดแทน งบประมาณ 500 ล้านบาท

 

กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย นวัตกรรม และสาธิตต้นแบบ งบประมาณ 355 ล้านบาท, กลุ่มงานสื่อสาร และข้อมูลข่าวสาร งบประมาณ 200 ล้านบาท, กลุ่มงานพัฒนาบุคลากร งบประมาณ 450 ล้านบาท, กลุ่มงานส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมขนาดเล็ก (SMEs) อาคารบ้านอยู่อาศัย ภาคขนส่ง ธุรกิจฟาร์มเกษตรสมัยใหม่ และพื้นที่พิเศษงบประมาณ 2,200 ล้านบาท และกลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก งบประมาณ 2,400 ล้านบาท

 

กมธ.ติงกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ พิจารณาเหลื่อมล้ำ กระจุกแน่นภาคอีสาน

 

ผลการพิจารณาโครงการ ในส่วนของกลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณจังหวัดละ 25 ล้านบาท กรอบวงเงิน 1,900 ล้านบาท มีโครงการที่ขอรับการสนับสนุน จำนวน 939 โครงการ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ คิดเป็นวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 1,099.90 ล้านบาท และมีโครงการที่คาดว่าจะได้รับการสนับสนุน จำนวน 716 โครงการ คิดเป็นวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 667.71 ล้านบาท

 

กลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก ภายใต้กรอบวงเงิน 500 ล้านบาท จำนวน  461โครงการ ประกอบด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ มีโครงการที่ขอรับการสนับสนุน คิดเป็นงบประมาณทั้งสิ้น 671.61 ล้านบาท มีโครงการที่ควรได้รับการสนับสนุน จำนวน 372 โครงการ คิดเป็นงบประมาณทั้งสิ้น 503.37 ล้านบาท

 

กมธ.ติงกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ พิจารณาเหลื่อมล้ำ กระจุกแน่นภาคอีสาน

โดยการดำเนินงานการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 พบปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินงาน ดังนี้

1.ชื่อหน่วยงานผู้ขอรับการสนับสนุนที่คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.) แจ้งมายังกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานไม่ตรงกับหน่วยงานที่ยื่นข้อเสนอโครงการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

2.หน่วยงานที่ยื่นข้อเสนอโครงการใช้ชื่อโครงการไม่ตรงกับที่คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการแจ้งมายังกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

 

3.หน่วยงานที่ยื่นข้อเสนอโครงการโดยแยกเป็นระบบ/เทคโนโลยี ในขณะที่คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการรวมระบบ/เทคโนโลยี เพื่อให้หน่วยงานใช้ในการยื่นข้อเสนอโครงการ
ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพียง 1 โครงการ

4.หน่วยงานที่ยื่นข้อเสนอโครงการโดยรวมระบบ/เทคโนโลยี ในขณะที่คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการแยกระบบ/เทคโนโลยีเพื่อให้หน่วยงานใช้ในการยื่นข้อเสนอโครงการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

 

5.หน่วยงานยื่นข้อเสนอโครงการโดยแสดงงบประมาณไม่ตรงกับที่คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการแจ้งมายังกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

6.หน่วยงานยื่นข้อเสนอโครงการโดยเพิ่มระบบและวงเงินที่ขอรับการสนับสนุนเกินกว่าที่คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการแจ้งมายังกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

 

7.หน่วยงานยื่นข้อเสนอโครงการโดยเพิ่มเทคโนโลยีและวงเงินที่ขอรับการสนับสนุนเกินกว่าที่คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการแจ้งมายังกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

8.หน่วยงานยื่นข้อเสนอโครงการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ซ้ำกันหลายครั้ง

9.ในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนไม่สามารถมาลงนามในหนังสือยืนยันได้โดยตรงกับสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) ทำให้เกิดความล่าช้าในการลงนาม