กมธ.การพลังงาน ร่วม จ.ลำปาง เร่งหาทางออกปัญหาแม่เมาะ หลังยืดเยื้อมา 7 ปี

08 ก.ย. 2564 | 08:15 น.

เริ่มแล้วอพยพชาวบ้านพ้นเหมืองแม่เมาะ หลังรอมานานกว่า 7 ปี “กิตติกร” นำ กมธ.การพลังงาน ลงพื้นที่ “ถก” จังหวัดลำปาง สางปัญหา เตรียมให้ราษฎรชุดแรก 963 ครัวเรือนจับฉลากวัดดวงได้รับที่จัดสรรครัวเรือนละ 1 ไร่ 20-21 ก.ย.นี้ ด้าน กฟผ. เตรียมงบกว่า 2.9 พันล้านจ่ายค่าย้าย-ชดเชย

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกิตติกร โล่ห์สุนทร ประธานกรรมาธิการ (กมธ.)การพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร นายธารา ปิตุเตชะ รองประธานกรรมาธิการฯ และคณะได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับจังหวัดลำปาง โดยนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ในการแก้ไขปัญหาการอพยพชาวบ้านในพื้นที่เหมืองแม่เมาะครั้งที่ 7 ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 15 ต.ค.2556 ที่มีความล่าช้ากว่า 7 ปี  

 

ทั้งนี้ปัญหาการอพยพประชาชน ในเขตพื้นที่เหมืองแม่เมาะ ที่ผ่านการอพยพราษฎรที่ประสบปัญหาตั้งแต่ปี 2521 – 2549 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้มีการอพยพราษฎรทั้งหมด 6 ครั้ง รวม 3,195 ครัวเรือน โดยครั้งที่ 1-4  เป็นการอพยพ จากการใช้พื้นที่สำหรับการขยายเหมือง และการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำของ กฟผ. และครั้งที่ 5-6 เป็นการอพยพตามความสมัครใจของราษฎร

 

กิตติกร  โล่ห์สุนทร

 

สำหรับการอพยพครั้งที่ 7 ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2556 นั้น ครม. มีมติเห็นชอบให้อพยพราษฎร 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านห้วยคิง ต.แม่เมาะ และ 4 หมู่บ้าน ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง รวมราษฎร 1,458 ครัวเรือน โดยให้ กฟผ. รับผิดชอบด้านงบประมาณจำนวน 2,970.5 ล้านบาท แบ่งเป็นค่ารื้อย้ายบ้านพักอาศัย / ค่าชดเชยที่ดิน ต้นไม้ 2,138 ล้านบาท ค่าก่อสร้างที่จัดสรรและสาธารณูปโภคในพื้นที่รองรับการอพยพราษฎร 2 พื้นที่ 832.5 ล้านบาท   

 

 

กมธ.การพลังงาน ร่วม จ.ลำปาง เร่งหาทางออกปัญหาแม่เมาะ หลังยืดเยื้อมา 7 ปี

 

นอกจากนี้มติ ครม. วันที่ 15 ต.ค.2556 ยังมีสาระสำคัญ โดยให้กระทรวงพลังงานแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้อง การจ่ายค่ารื้อย้าย/ชดเชย ให้ใช้ราคาตามมาตรฐานของกรมชลประทาน โดยใช้งบประมาณ กฟผ. และให้ทำการก่อสร้างสาธารณูปโภคสาธารณูปการในพื้นที่รองรับการอพยพของราษฎร โดยจัดสรรที่ดินให้ครอบครัวละไม่เกิน 1 ไร่ ตามที่ กรมป่าไม้อนุญาตให้ใช้ประโยชน์เป็นกรณีพิเศษ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติการให้บริการระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการพื้นฐาน เพื่อป้องกันการย้ายกลับพื้นที่เดิม ส่วนราษฎรที่ไม่ต้องย้ายให้ กฟผ.จัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างกับราษฎรผู้ไม่อพยพ

 

ส่วนความคืบหน้าการอพยพราษฎรตามมติ ครม. 15 ตุลาคม 2556 นั้น อำเภอแม่เมาะส่งหนังสือไปยังกรมการปกครองเพื่อหารือแนวทางการจัดตั้งหมู่บ้านใหม่ เพื่อกรมการปกครองจะได้แจ้งแนวทางการตั้งหมู่บ้านเป็นกรณีพิเศษมายังจังหวัดให้ดำเนินการ และกรมการปกครอง มีหนังสือที่ มท 0310.1/15219 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2564 เรื่องหารือแนวทางการจัดตั้งหมู่บ้านใหม่ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 เรียนผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง โดยแจ้งให้จังหวัดดำเนินการตามหนังสือกรมการปกครองที่ มท 0310.1/ว 56 ลงวันที่ 2 มกราคม 2557

 

เรื่องแนวทางการปฏิบัติการจัดตั้งหมู่บ้านใหม่ และการขอเปลี่ยนแปลงชื่อหมู่บ้าน โดยให้รวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง จัดส่งให้กรมการปกครองเพื่อดำเนินการ ซึ่งจังหวัดลำปางได้มีหนังสือที่ ลป 018.1/15826 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2564  แจ้งให้อำเภอแม่เมาะดำเนินการต่อไป โดยมอบหมายให้ที่ทำการปกครองจังหวัดลำปาง ดำเนินการ

 

กมธ.การพลังงาน ร่วม จ.ลำปาง เร่งหาทางออกปัญหาแม่เมาะ หลังยืดเยื้อมา 7 ปี

 

ด้านปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานการอพยพราษฎร 5 หมู่บ้าน ตามมติ ครม. ที่มีความล่ามานานกว่า 7 ปีนั้น มีปัญหาเกิดขึ้นหลายอย่าง ไม่ว่าจะเรื่องการอนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนสำหรับเป็นพื้นที่รองรับการอพยพ ผู้รับจ้างงานสำรวจที่ดินทรัพย์สินที่ใช้รองรับการอพยพ ทิ้งงาน และมีการร้องอุทธรณ์ของผู้เสนอราคางานก่อสร้างตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ทั้งยังติดขัดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมทั้งประชาชนที่อยู่ในพื้นที่อพยพนำแปลงที่ดินที่เคยอพยพแล้วนำกลับมายื่นใหม่ และยังมีการขายที่ดินให้ราษฎรรายใหม่ปลูกบ้านอยู่อาศัย รวมถึงราษฎรบางรายเปลี่ยนใจไม่อพยพ  

 

ด้านปัญหาราษฎรจำนวน 63 ราย ครอบครองพื้นที่รองรับการอพยพบ้านห้วยคิง หมู่ที่ 6 ต.แม่เมาะนั้น ครม.ได้มี มติไปเมื่อ วันที่ 30 เมษายน 2562 มอบหมายให้ กระทรวงพลังงาน (โดยกฟผ.) จ่ายค่าชดเชยเยียวยาที่ดิน ต้นไม้และสิ่งปลูกสร้างแก่ราษฎรผู้ครอบครองพื้นที่รองรับการอพยพบ้านห้วยคิง จำนวน 63 ราย และให้ออกจากพื้นที่ ซึ่งในเรื่องนี้ กฟผ. อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการ

 

จากปัญหาอุปสรรค์ที่เกิดขึ้นในการอพยพราษฎร นั้น ทางจังหวัดลำปางได้ดำเนินการแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับราษฎร  4 หมู่บ้านที่จะทำการอพยพ และคณะกรรมการได้ทำการตรวจสอบ เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ทางจังหวัดได้ทำการประกาศผู้มีสิทธิ์ได้รับแปลงที่จัดสรร จำนวน 963 ครอบครัว โดยจะทำการจับฉลากในวันที่ 20–21 กันยายน 2564 ที่ทำการ อบต.บ้านดง

 

กมธ.การพลังงาน ร่วม จ.ลำปาง เร่งหาทางออกปัญหาแม่เมาะ หลังยืดเยื้อมา 7 ปี

 

นายชูศักดิ์ วงศ์สวัสดิ์ อดีตนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการการพลังงาน ให้ความเห็นเรื่องการอพยพในครั้งนี้ว่า ประเด็นปัญหาจะเกิดขึ้นตามมา ถ้าไม่เข้าไปกำกับดูแลตั้งแต่ต้น จะทำให้มีความเสียหายต่อสาธารณูปโภค ในกรณีของราษฎร 63 รายที่มีการครอบครองพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้สำหรับการอพยพบ้านห้วยคิงนั้น จากการตรวจสอบมติ ครม. เมื่อปี 2556 และปี 2562 ได้กำหนดให้ กระทรวงพลังงานร่วมกับ กฟผ.เป็นผู้พิจารณาแนวทางและวิธีการจ่ายเงินค่าชดเชยเพื่อการเยียวยาให้กับราษฎรโดยให้นำข้อสังเกตของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาประกอบการพิจารณาด้วยนั้น

 

ในกรณีที่กลุ่มราษฎรดังกล่าวเคยได้รับเงินค่าทดแทนไปแล้วนั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันกระทรวงพลังงานยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการจ่ายเงินค่าชดเชยเยียวยาซึ่งต้องคำนึงถึงความสุจริต ยุติธรรม ความได้สัดส่วนจองเงินชดเชยเยียวยาความเสียหายที่ได้รับ  กรณีนี้ควรที่กระทรวงพลังงานต้องหาทางแก้ไขโดยเร็วหากพบปัญหาอุปสรรคที่มีประเด็นที่กระทรวงไม่วามารถพิจารณาได้ ก็ควรเสนอข้อเท็จจริงให้ ครม. พิจารณา

 

ทั้งนี้แนวทางการเยียวยาจะต้องเป็นการบรรเทาความเสียหายเท่านั้นไม่ควรให้หรือได้รับผลประโยชน์จากกรณีเข้าครอบครองที่ดินเนื่องจาก ในอนาคตจะเกิดปัญหาการบุกรุกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อไปในอนาคตได้  ดังนั้นควรช่วยเหลือในลักษณะของมนุษยธรรมคือเสียหายเท่าไหร่หากพิสูจน์ได้ก็ควรจ่ายให้เท่านั้น โดยคำนึงถึงความได้สัดส่วนของเงินเยียวยากับความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากราษฎรดังกล่าวเคยได้รับเงินค่าทดแทนจากภาครัฐมาก่อนแล้ว ควรนำเจตนาของผู้ครอบครองที่ดินมาประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งนี้เพื่อสามารถให้คำตอบกับสังคมได้ เนื่องจากเงินที่ใช้จ่ายเป็นเงินของแผ่นดิน