รถไฟฟ้าลอดใต้เจ้าพระยา 3 สาย "เกณฑ์ประมูล" ต้อง "เหมือนกัน"

02 พ.ย. 2564 | 03:19 น.

ดร.สามารถ ย้ำเกณฑ์การประมูลรถไฟฟ้า 3 สายต้องเหมือนกัน หลังรฟม.เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลสายส้ม กระทบแผนก่อสร้างล่าช้า

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สำหรับเกณฑ์การประมูลโครงการรถไฟฟ้าลอดใต้เจ้าพระยาสายแรกคือสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายใช้ "เกณฑ์ราคา" ในการประมูล สายที่ 2 ตามแผนของ รฟม. คือสายสีส้มตะวันตก ตามด้วยสายที่ 3 คือสายสีม่วงใต้ ทั้ง 3 สายนี้ใช้เทคนิคการก่อสร้างเหมือนกัน ดังนั้น "เกณฑ์ประมูล" หาผู้รับเหมาหรือผู้ร่วมลงทุนจะต้องเหมือนกัน ! 

 

1. รถไฟฟ้าลอดใต้เจ้าพระยาสายแรก 

 

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงสนามไชย-ท่าพระ เป็นรถไฟฟ้าสายแรกที่ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา การประมูลรถไฟฟ้าสายนี้ รฟม. ใช้ "เกณฑ์ราคา" แต่ผู้ชนะการประมูลจะต้องผ่านเกณฑ์เทคนิคก่อนด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 70% จึงจะได้รับการพิจารณาข้อเสนอด้านราคา ใครเสนอราคาต่ำสุดก็จะชนะการประมูล ปรากฏว่าบริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูล โดยจะต้องทำการออกแบบพร้อมก่อสร้าง (Design & Build) ซึ่ง ช. การช่าง ได้ว่าจ้างให้บริษัท AECOM หรือเออีคอม (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ออกแบบ

 

 

2. สายสีส้มตะวันตกจะลอดใต้เจ้าพระยาเป็นสายที่ 2 ? ตามแผนของ รฟม. รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จะได้รับการก่อสร้างลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสายที่ 2 แต่ถึงเวลานี้มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นแล้ว เนื่องจาก รฟม. ได้ล้มประมูล หลังจากเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลกลางอากาศจาก "เกณฑ์ราคา" เป็น "เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา" ทำให้มีปัญหาจึงถูกฟ้องร้อง ยังเปิดประมูลใหม่ไม่ได้

รถไฟฟ้าลอดใต้เจ้าพระยา 3 สาย "เกณฑ์ประมูล" ต้อง "เหมือนกัน"

เดิม รฟม. ใช้ "เกณฑ์ราคา" ซึ่งผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องผ่านเกณฑ์เทคนิคก่อน โดยต้องได้คะแนนด้านเทคนิคไม่น้อยกว่า 85% จึงจะได้รับการพิจารณาข้อเสนอด้านราคา ใครเสนอเสนอราคาต่ำสุดจะชนะการประมูล

 

 

หลังจากปิดการขายเอกสารประกวดราคา รฟม. ได้เปลี่ยนมาใช้ "เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ ราคา" โดยให้คะแนนด้านเทคนิค 30% และคะแนนด้านราคาหรือผลตอบแทน 70% ใครได้คะแนนรวมสูงสุดจะชนะการประมูล

 

 รฟม.ได้ชี้แจงเหตุผลในการเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลว่ารถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกมีเส้นทางผ่านพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ อีกทั้ง ต้องขุดอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา รฟม. จึงจำเป็นต้องได้ผู้ชนะการประมูลที่มีสมรรถนะและประสบการณ์สูง 

 

ผมได้แย้ง รฟม. ว่าหาก รฟม. ต้องการผู้ชนะการประมูลที่มีคุณสมบัติดังกล่าวจริง รฟม. จะต้องใช้ "เกณฑ์ราคา" เพราะเกณฑ์ราคาให้ความสำคัญต่อคะแนนด้านเทคนิคเต็ม 100% ต่างกับ "เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา" ที่ลดทอนความสำคัญด้านเทคนิคลงเหลือเพียง 30% เท่านั้น อีกทั้ง รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายก็มีเส้นทางผ่านพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์และต้องลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเช่นเดียวกัน แต่ รฟม. ก็ใช้ "เกณฑ์ราคา" ไม่ได้ใช้ "เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา"

ด้วยเหตุนี้ เหตุผลของ รฟม. จึงย้อนแย้งกับข้อเท็จจริง 3. สายสีม่วงใต้จะลอดใต้เจ้าพระยาก่อนหรือหลังสายสีส้มตะวันตก ?

 

ตามแผนรฟม. รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ จะลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสายที่ 3 แต่เพราะความล่าช้าของสายสีส้มตะวันตก อาจเป็นไปได้ที่สายสีม่วงใต้ช่วงลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาจะได้รับการก่อสร้างก่อน ยกเว้น รฟม. เปลี่ยนใจกลับไปใช้ "เกณฑ์ราคา" ในการประมูลสายสีส้มตะวันตก

 

รฟม. อยู่ในกระบวนการประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ หลังจากล้มประมูลไปเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ก่อนล้มประมูล รฟม. ใช้ "เกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา" ด้วยเหตุผลเดียวกับสายสีส้มตะวันตกที่อ้างว่ามีเส้นทางผ่านพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์และต้องลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา แต่ผมไม่เห็นด้วย และเสนอให้ รฟม. ใช้ "เกณฑ์ราคา" เพราะประชาชนและประเทศชาติจะได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งในที่สุด รฟม. กลับมาใช้ "เกณฑ์ราคา" ในการประมูลครั้งใหม่

 

 

 4. สรุป ถึงเวลานี้ รถไฟฟ้าลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยามี 3 สาย เปิดให้บริการแล้ว 1 สาย อีก 2 สาย อยู่ในกระบวนการประมูล รฟม. ใช้ "เกณฑ์ราคา" 2 สาย ประกอบด้วยสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และสายสีม่วงใต้ เหลืออีกเพียงสายเดียวคือสายสีส้มตะวันตกที่ รฟม. ยากจะปฏิเสธการใช้ "เกณฑ์ราคา" ได้

 

 "การอ้างเหตุผลที่ย้อนแย้งมาสนับสนุนความต้องการของตน สุดท้ายจะกลายเป็นคมหอกมาทิ่มแทงตนเอง"

 

ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง