จัดการกากอุตสาหกรรมอย่างไร ไม่ให้กระทบสิ่งแวดล้อม

01 พ.ย. 2564 | 06:06 น.

จัดการกากอุตสาหกรรมอย่างไร ไม่ให้กระทบสิ่งแวดล้อม  คพ. เปิดเวทีเสวนาการจัดการกากอุตสาหกรรม เสนอปรับปรุงการทำงานให้ประชาชนมีความมั่นใจ

 

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า คพ. ได้จัดเสวนา เรื่อง บริหารจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างไร ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมาเพื่อระดมความคิดเห็นหาแนวทางและกลไกในการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทางแอปพลิเคชัน ZOOM

โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. เป็นประธานเปิดการเสวนาฯ ซึ่งมีคณะวิทยากรได้แก่ ผศ. ดร.บุญส่ง ไข่เกษ สมาชิกวุฒิสภา นายพฤกษ์ ศิโรรัตนเศรษฐ์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม นายธีระพล ติรวศิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายครรชิต เข็มเฉลิม เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน จังหวัดฉะเชิงเทรา และนางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ โดยมีภาคส่วนต่างๆผู้เข้าร่วมเสวนาฯประมาณ 500 คน

จัดการกากอุตสาหกรรมอย่างไร ไม่ให้กระทบสิ่งแวดล้อม

นายอรรถพล กล่าวว่า การเสวนาฯ ได้มีการบรรยายพร้อมการอภิปรายในประเด็นต่างๆ และผู้เข้าร่วมการเสวนาฯ ได้เสนอแนะแนวทางการพัฒนาและปรับปรุงการจัดการกากอุตสาหกรรม อาทิ


 

1. ควรมีข้อมูลปริมาณกากอุตสาหกรรมที่มีความชัดเจนและถูกต้องและสามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้มีระบบการกำกับตรวจสอบโรงงานที่เข้มงวด และควรมีการใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมในการบ่งชี้ผู้ก่อกำเนิด และควรมีการเพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นรวมถึงเครือข่ายในการติดตามตรวจสอบการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม

2. ควรปรับปรุงกฎระเบียบที่ควบคุมกากอุตสาหกรรมและการพัฒนาระบบการกำกับดูแลทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยให้สามารถกำกับ ติดตาม ตั้งแต่ผู้กำเนิดกากอุตสาหกรรม ผู้ขนส่ง และผู้บำบัด/กำจัดกากอุตสาหกรรม (ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ)

3. ควรมีระบบการตรวจสอบเป็นลักษณะ Real time และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากผู้ขนส่งกากของเสียอุตสาหกรรมจนถึงผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรม

4. ควรมีระบบการเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยของเสียที่ต้นทาง และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาพิจารณ์อย่างทั่วถึงและครอบคลุม เพื่อแก้ไขปัญหาภาระของประชาชนและหน่วยงานภาครัฐในการสืบหาแหล่งที่มาของการปนเปื้อน โดยการสนับสนุนให้มีกฎหมาย PRTR เพื่อทำให้ประเทศมีระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ทุกภาคส่วนเข้าถึงข้อมูลได้

5. การใช้ข้อมูลในระบบศูนย์ข้อมูลสารเคมีและวัตถุอันตรายแห่งชาติ โดยให้เพิ่มหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลในระบบได้ และหน่วยงานภาครัฐต้องร่วมมือกันในการติดตาม/สอดส่อง/เฝ้าระวัง/แก้ปัญหา และ

6. ควรมีความชัดเจนของนโยบายและมาตรการในการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อจะได้วางแผนแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและมีระยะเวลาที่ชุดเจน เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในภาครัฐที่จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

จัดการกากอุตสาหกรรมอย่างไร ไม่ให้กระทบสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ปลัด ทส. ยังได้ให้แนวทางการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น ภาครัฐต้องมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน และผลักดันหรือปรับแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้กับสาธารณะ การสนับสนุนด้านการเงินและการลงทุน ต้องมุ่งที่สถานประกอบการที่มีธรรมาภิบาล มีการประกอบการอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเทคโนโลยีการกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ทันสมัยและถูกต้อง สร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม ซึ่ง คพ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องนำข้อเสนอแนะจากการเสวนาไปปรับปรุงการทำงานต่อไป นายอรรถพล กล่าว

จัดการกากอุตสาหกรรมอย่างไร ไม่ให้กระทบสิ่งแวดล้อม