โวยถูกตัดสิทธิชิงโรงไฟฟ้าชุมชนฯ นักลงทุนอุดรฯขู่ฟ้องศาลเพิกถอน

29 ต.ค. 2564 | 07:54 น.

5 SMEs อุดรธานีร้อง “สุพัฒนพงษ์” ถูกกกพ.ตัดสิทธิ์ร่วมชิงโรงไฟฟ้าชุมชนชีวมวลไม่เป็นธรรม ทั้งที่เสนอราคาต่ำสุดและยื่นเอกสารถูกต้องตามประกาศทุกอย่าง ขู่ไม่เป็นผลจะฟ้องศาลสั่งเพิกถอน ด้านเลขาฯกกพ.ยันเอกสารไม่ครบ หนุนให้ศาลตัดสินเป็นบรรทัดฐาน

นายอนุพงค์ มกรานุรักษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี และกรรมการผู้จัดการบริษัท โรงไฟฟ้าชุมชนอุตสาหกรรมอุดรธานีบ้านกูดนาค้อตาดทอง จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรณีที่บริษัทฯ ถูกคณะอนุกรรมการพิจารณาคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านราคา โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการกำกับกิจการการพลังงาน (กกพ.) ตัดชื่อบริษัทฯ และผู้เสนอราคาอีก 4 ราย ออกจากรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติการเสนอราคา เมื่อ 23 ก.ย.2564 ทั้งที่บริษัทฯเสนอราคาต่ำสุด ทำให้ได้รับความเสียหาย
  นายอนุพงค์ มกรานุรักษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี และกรรมการผู้จัดการบริษัท โรงไฟฟ้าชุมชนอุตสาหกรรมอุดรธานีบ้านกูดนาค้อตาดทอง จำกัด

“ทั้งที่ได้ทำตามเงื่อนไขขั้นตอนที่กกพ.ประกาศไว้ทุกประการ ผลเสียยังตกไปถึงวิสาหกิจชุมชนเครือข่าย ผู้ปลูกพืชพลังงานป้อนโครงการของบริษัทด้วย จึงยื่นอุทธรณ์ไปเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2564 แล้ว ยังไม่ได้รับแจ้งผลการอุทธรณ์ ล่าสุด จึงยื่นหนังสือร้องเรียนและขอความเป็นธรรมต่อรองนายกรัฐมนตรี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ระหว่างเดินทางมาปฏิบัติราชการที่จังหวัดหนองคายด้วย”

 

ผู้ถูกตัดสิทธิ์นอกจากบริษัทฯแล้ว อีก 4 รายมีบริษัท โรงไฟฟ้าชุมชนอุตสาหกรรมอุดรธานีบุ่งแก้ว จำกัด บริษัท โรงไฟฟ้าชุมชนโพนงามไทยโก้ จำกัด บริษัท โรงไฟฟ้าชุมชนเพลดับเบิ้ลวิทย์ จำกัด และบริษัท โรงไฟฟ้าชุมชนห้วยโจดไทยโก้ จำกัด เกิดจากสมาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับนักธุรกิจ SMEs ในพื้นที่ ร่วมจัดตั้งและยื่นขอผลิตไฟฟ้าไว้ที่แห่งละ 2.7 เมกกะวัตต์ 

นายอนุพงค์ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับข้ออ้างของกกพ. ที่ว่าผู้เสนอราคาฯไม่ได้แนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาหนังสือรับรองบริษัทฯ บรรจุในซองเสนอราคา เนื่องจากไม่ได้ระบุในประกาศไว้ก่อน ว่าต้องมีเอกสาร 2 รายการนี้รวมในซองใบเสนอราคาอีกชุด

โดยสำเนาเอกสาร 2 รายการนี้มีรวมอยู่ในเอกสารทั้งหมดแล้ว และตอนยื่นซองเสนอราคา ทางกกพ.ได้ตรวจสอบความเรียบร้อยแล้วก่อนรับ จึงไม่เห็นด้วยกับข้อคัดค้าน และการใช้ดุลยพินิจของคณะอนุกรรมการฯ ถือเป็นการปิดโอกาสของนักลงทุนในส่วนท้องถิ่น และวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ ในการจะเข้าร่วมลงทุนในโครงการของรัฐบาล

 “ในฐานะของผู้ประกอบการเสนอตัวลงทุนโครงการฯดังกล่าว หากว่าการอุทธรณ์ของผู้ลงทุนไม่เป็นผล ก็จะนำไปสู่การฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้ยกเลิกประกาศที่ไม่ชอบดังกล่าวต่อไป” นายอนุพงค์ ย้ำ

ด้านนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวเกิดจากกระบวน การพิจารณาของอนุกรรมการและกกพ.

ซึ่งตามขั้นตอนจะมีการแยกซองออกเป็น 2 ส่วนได้แก่ ซองเทคนิค ซึ่งจะถูกส่งไปที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และซองราคาจะถูกส่งมาที่เรคกูเรเตอร์
 โดยขั้นตอนทางเทคนิคไม่ได้เป็นปัญหา แต่ขั้นตอนกระบวนการทางการประกวดราคาเอกสารไม่ครบ จึงไม่ถูกพิจารณาตามกฎระเบียบ ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนตามขั้นตอน โดยไม่สนใจว่าจะนำเสนอราคามาที่เท่าไหร่ ซึ่งกกพ.ได้ชี้แจงอย่างชัดเจนแล้ว หลังจากที่ได้มีการประกาศรายชื่อออกไป เพื่อให้เข้ามาสอบถามด้วยวาจา

“เป็นสิทธิ์ของผู้ที่ได้รับความเสียหายที่จะนำเรื่องไปฟ้องศาล ซึ่งตนก็สนับสนุนเพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยมองว่าน่าจะเป็นการดีกว่าที่จะร้องกันไปมา หากคิดว่าตนเองทำทุกอย่างตามขั้นตอนถูกต้อง เพื่อให้ศาลเป็นผู้
ชี้ขาด ซึ่งหากศาลพิจารณาว่าผู้ฟ้องถูก กกพ. ก็พร้อมที่จะพิจารณาคืนสิทธิ์ให้ตามคำสั่งของศาล”