ไม่ถอย กทพ.จ่อถก ม.เกษตร สร้าง “ทางด่วนขั้น 3”

28 ต.ค. 2564 | 02:21 น.

กทพ.เดินหน้าชงครม.ไฟเขียวสร้างทางด่วนขั้น3 เล็งเปิดประมูลช่วงเม.ย.-ก.ค.65 เริ่มก่อสร้างพ.ย.65 เปิดให้บริการ ปี 68 เตรียมจ้างที่ปรึกษาเจาะเส้นทางใหม่ หวังม.เกษตรฯ เปิดทาง

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)มีแผนขยายโครงข่ายเชื่อมการเดินทางลดปัญหาจราจรติดขัดในเขตเมือง แต่เนื่องจาก หลายเส้นทางต้องตัดผ่านชุมชนขนาดใหญ่ ทำให้การพัฒนาย่อมมีปัญหาอุปสรรคอย่างระบบทางด่วนขั้นที่3

 

รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ช่วงทดแทน N1 (แคราย-ม.เกษตรฯ) และช่วงทดแทน N2 (เกษตร – นวมินทร์ - ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก) ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนรอบรรจุเข้าวาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าครม.จะพิจารณาได้ไม่เกินเดือนธันวาคมนี้ หากผ่านความเห็บชอบแล้ว หลังจากนั้นกทพ.จะดำเนินการเปิดประมูลในช่วงทดแทน N2 (เกษตร-นวมินทร์) วงเงิน 16,960 ล้านบาท โดยประสานขอรายชื่อผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม เพื่อพิจารณารายละเอียดการแบ่งสัญญาและจัดทำราคากลางขออนุมัติเพื่อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ภายในเดือนมกราคม-เมษายน 2565 หลังจากนั้นจะประกาศประกวดราคา ในช่วงปลายเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2565 โดยเปิดให้เอกชนซื้อซองและยื่นข้อเสนอในช่วงเดือนมิถุนายน 2565 คาดลงนามสัญญาได้ตัวผู้รับจ้างภายในเดือนกันยายน 2565

 

 

ขณะเดียวกันในช่วงที่จะดำเนินการก่อสร้างช่วงทดแทนN2 นั้น กทพ.จะดำเนินการประสานงานเกี่ยวกับแบบการก่อสร้างฐานรากตอม่อที่ใช้ร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี โดยไม่ให้เป็นอุปสรรคในช่วงการทำงานร่วมกัน เบื้องต้นจะดูวิธีการก่อสร้างและสิ่งปลูกสร้างจะขวางกันหรือไม่ ซึ่งจะดำเนินการคู่ขนานไปด้วย หากประกวดราคาแล้วเสร็จจะต้องหารือกับเอกชนผู้ชนะการประมูลเพื่อดำเนินการเข้าพื้นที่ก่อสร้าง โดยประสานงานร่วมกับกรมทางหลวง (ทล.) และกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) เพื่อขอใช้พื้นที่ภายในเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2565 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการภายในเดือนตุลาคม 2568

 

 

 

ทั้งนี้โครงการทางด่วนสายนี้ เป็นโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (TFF) ซึ่งมีการจัดสรรวงเงินมาแล้วราว 2 ปี แต่เนื่องจากยังไม่มีการประกวดราคา และเริ่มเบิกจ่ายงบประมาณเริ่มก่อสร้าง ส่งผลให้ กทพ.ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยราว 1.3 พันล้านต่อปี

สำหรับแนวเส้นทางช่วงทดแทน N2 มีจุดเริ่มต้นโครงการ ทางขึ้น-ลงแห่งที่ 1 อยู่บริเวณถนนเกษตร-นวมินทร์ เลยทางลอดอุโมงค์เกษตรปัจจุบันมาราว 200 เมตร หรืออยู่ช่วงก่อนถึงตึก RS หลังจากนั้นแนวเส้นทางจะคร่อมไปตามถนนเกษตร-นวมินทร์ ก่อนเป็นทางแยกเชื่อมไปยังทางต่างระดับฉลองรัช และไปสิ้นสุดโครงการเชื่อมเข้าสู่มอเตอร์เวย์ สาย 9 โดยทางด่วนเส้นทางดังกล่าวจะเชื่อมต่อการเดินทางฝั่งตะวันออก และตะวันตกของกรุงเทพฯ

 

 

ขณะที่ความคืบหน้าช่วงทดแทนN1 (แคราย-ม.เกษตรฯ) ที่ผ่านมา ม.เกษตรฯ คัดค้านการก่อสร้างช่วงดังกล่าวมาโดยตลอด เพราะกังวลจะได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางอากาศและอุบัติเหตุการจราจรบนทางด่วน หากเปิดให้บริการ รวมทั้งกังวลในกรณีที่กทพ.ขอใช้พื้นที่ เนื่องจากเขตทางบริเวณนี้ค่อนข้างจำกัด และพื้นถนนไม่มีพื้นที่สร้างฐานราก ทำให้ปัจจุบันกทพ.อยู่ระหว่างดำเนินการเตรียมจ้างที่ปรึกษาจัดทำผลการศึกษาแนวเส้นทางใหม่อีกครั้ง คาดว่าได้ตัวผู้รับจ้างศึกษาแผนในช่วงต้นปี 2565 ระยะเวลา 1 ปี หลังจากนั้นจะดำเนินการเจรจากับม.เกษตรฯ ต่อไป

 

“การศึกษาแนวเส้นทางในครั้งนี้คงต้องดูรายละเอียดให้ชัดเจนอีกที หากก่อสร้างบริเวณด้านหน้าม.เกษตรฯไม่ได้ อาจจะเปลี่ยนแนวเส้นทางบริเวณด้านหลังของม.เกษตรฯ แทน หรือเปลี่ยนแนวเส้นทางเป็นทางเบี่ยง ยืนยันว่าทางด่วนเส้นทางนี้คงต้องเดินหน้าต่อ ไม่สามารถหยุดกลางคันได้ เพราะเราต้องการให้ทางด่วนสายนี้เชื่อมต่อเป็นระบบโครงข่ายเดียวกัน”

 

 

 ที่ผ่านมากทพ.ได้ศึกษาแนวเส้นทางทดแทนทางด่วนช่วง N1 เบื้องต้นออกแบบไว้ 3 แนวทาง คือ 1. ทางยกระดับผ่านหน้า ม.เกษตรฯ แบบเดิม โดยใช้แนวถนนงามวงศ์วาน มาทางคลองเปรมประชากร-ทางด่วนศรีรัช ขอใช้พื้นที่ใน ม.เกษตรฯ ประมาณ 180 ตารางเมตร 2. อุโมงค์ทางด่วน จากแยกรัชวิภาผ่านหลังเมเจอร์รัชโยธินเชื่อมต่อโครงการ Missing Link สิ้นสุดที่แยกเกษตร และ 3. อุโมงค์ทางด่วนผ่านหน้า ม.เกษตรฯ บริเวณแยกบางเขน สิ้นสุดแยกประชาชื่น

นายภคพงศ์   ศิริกันทรมาศ  ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)  กล่าวว่า  ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี  ปัจจุบันในส่วนของการก่อสร้างฐานรากตอม่อร่วมกับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ช่วงทดแทน N1 (แคราย-ม.เกษตรฯ) และช่วงทดแทน N2  (เกษตร – นวมินทร์ - ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก) ที่อยู่ระหว่างรอแผนงานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เนื่องจากกทพ.ติดปัญหาการก่อสร้างทางด่วนช่วงเกษตรศาสตร์ ทำให้ไม่สามารถเสนอโครงการต่อได้ 

 


“ขณะเดียวกันการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลนั้น เบื้องต้นแบบการก่อสร้างของเรามีพร้อมอยู่แล้ว คงต้องรอกทพ.พิจารณาแนวเส้นทางในการก่อสร้างเพื่อหาข้อสรุปก่อนว่าเป็นอย่างไร ส่วนการเปิดประมูลจะเริ่มดำเนินการได้เมื่อไรนั้นขึ้นอยู่กับกทพ. เนื่องจากการประมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลของรฟม.จะต้องเปิดประมูลร่วมกับทางด่วนขั้นที่ 2 ของกทพ.  รวมทั้งการก่อสร้างโครงการฯจะต้องหาเอกชนผู้รับจ้างรายเดียวกันด้วย”