ต่างด้าวหอบเงินลงทุนในไทย 8 เดือนแรกเกือบหมื่นล้าน

20 ก.ย. 2564 | 05:29 น.

 ไทยยังเนื้อหอม ต่างชาติแห่ขออนุญาตลงทุน 8 เดือนแรกเกือบ 1 หมื่นล้าน เฉพาะเดือน ส.ค.มูลค่ากว่า 900 ล้าน ญี่ปุ่น สิงคโปร์  และอิตาลี ครอง 3 อันดับแรก รุกหนักยานยนต์และการให้บริการ  ด้านหอต่างประเทศเตรียมจัดฟอรั่มดึงนักลงทุนเข้าไทย สร้างเชื่อมั่นรอบใหม่

 ไทยยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าลงทุนของต่างชาติอย่างต่อเนื่อง แม้เวลานี้จะยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา แต่ไทยยังเป็นประเทศที่น่าลงทุน เห็นได้จากการขออนุญาตลงทุนในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 ไทยมีการอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 132 ราย เม็ด เงินลงทุนรวม 9,383 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐและการถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยี

ต่างด้าวหอบเงินลงทุนในไทย  8 เดือนแรกเกือบหมื่นล้าน

 นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า  ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  ไทยยังต้องการเทคโนโลยีที่ทันสมัยและองค์ความรู้ที่ยังไม่มีความชำนาญ ซึ่งการอนุญาตให้ต่างชาติประกอบธุรกิจจะช่วยให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานแบตเตอรี่ ความรู้เกี่ยวกับระบบรถไฟความเร็วสูง เทคนิคการเดินรถไฟความเร็วสูง ความรู้เกี่ยวกับการขนย้ายและติดตั้งแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม เป็นต้น  ถือเป็นการสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศด้วย

ต่างด้าวหอบเงินลงทุนในไทย  8 เดือนแรกเกือบหมื่นล้าน

ในเดือนสิงหาคมล่าสุดคณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้ต่างชาติ 24 ราย ประกอบธุรกิจในไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติ จากสิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ และโปแลนด์ ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 908 ล้านบาท เพิ่มการจ้างงานคนไทย 636 คน รวมถึงจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน 

 สำหรับธุรกิจที่ได้รับอนุญาตประกอบด้วย ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 12 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น เงินลงทุน 442 ล้านบาท รองลงมาจากสิงคโปร์ เงินลงทุน 346 ล้านบาท และอิตาลี เงินลงทุน 82 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุน เช่น บริการสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน บริการให้เช่าซื้อและให้เช่าแบบลีสซิ่งสินค้าประเภทอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (Drone) ที่ใช้เพื่อการเกษตร และบริการที่เกี่ยวเนื่อง เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ ที่มีการขออนุญาตเข้ามา 6 รายเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น มีเงินลงทุน  62 ล้านบาท ธุรกิจบริการโดยเป็นคู่สัญญากับเอกชน จำนวน 3 ราย เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น และอิตาลี มีเงินลงทุน 244 ล้านบาท และธุรกิจนายหน้า/ค้าปลีก/ค้าส่งสินค้าสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม จำนวน 3 ราย เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น และสิงคโปร์  มีเงินลงทุน 144 ล้านบาท

 ด้านนายสแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย เผยว่า หอการค้าฝรั่งเศส-ไทย หอการค้าเนเธอร์แลนด์-ไทย หอการค้าเบลเยียม-ลักเซมเบิร์ก-ไทย ภายใต้หอการค้าร่วมต่างประเทศฯ เตรียมจัดงานฟอรั่มธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ Khon Kaen Business Forum-The VIRTUAL Event ระหว่างวันที่ 23-24 กันยายนนี้ มั่นใจว่านักลงทุนต่างชาติยังคงสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงจากโรคโควิด-19 ก็ตาม โดยนักลงทุนยังมองว่าไทยยังเป็นฐานการผลิตที่ดี โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานที่จะเป็นประตูสู่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเชื่อมโยงนักธุรกิจต่างชาติ กับนักธุรกิจท้องถิ่น

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,715 วันที่ 19 - 22 กันยายน พ.ศ. 2564