ติดเชื้อโควิดในโรงงานพุ่ง 6.7 หมื่นราย ศบค.อก. เร่งทำ BBS รับคลายล็อกดาวน์

14 ก.ย. 2564 | 08:09 น.

กระทรวงอุตสาหกรรมเผยยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในโรงงานพุ่ง 6.7 หมื่นราย ศบค.อก. เร่งขับเคลื่อนมาตรการ Bubble&Seal รับคลายล็อกดาวน์

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการและโรงงานอุตสาหกรรม (ศบค.อก.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลของ ศบค.อก. วันที่ 13 กันยายน 2564 พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในสถานประกอบกิจการโรงงานทั้งสิ้น 67,281 คน รักษาหายแล้ว 26,139 คน จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ เพชรบุรี, สมุทรปราการ, ฉะเชิงเทรา, สระบุรี, และสมุทรสาคร โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร, อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องนุ่งห่ม, โลหะ และพลาสติก 
ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการ ศบค.อก. ที่ผ่านมาได้พิจารณาแนวทางดำเนินงาน 2 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1.สถานประกอบกิจการและโรงงานฯ เป้าหมายที่ศูนย์ฯ จะเข้าไปดูแล และ 2. การกำหนดหลักเกณฑ์ฯ และแนวทางขับเคลื่อนมาตรการป้องกันควบคุมในพื้นที่เฉพาะ หรือ Bubble & Seal (BBS) มาประยุกต์ใช้กับสถานประกอบกิจการและโรงงานฯ เพื่อรองรับการผ่อนคลายมาตรการของภาครัฐ เพื่อให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมเปิดดำเนินกิจการได้โดยไม่เกิดการระบาดสู่ชุมชน รวมทั้งเป็นการเตรียมพร้อมรองรับระบบรับรองบุคคลเพื่อผ่านเข้ากิจการ หรือกิจกรรม ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการฉีดวัคซีนและการใช้ชุดตรวจโควิด ATK (Antigen Test Kit)

สำหรับสถานประกอบการและโรงงานฯ เป้าหมายที่ ศบค.อก.จะกำกับควบคุม คือ 1. โรงงานอุตสาหกรรม ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 มีประมาณ 70,000 โรงงาน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมดูแลอยู่ในขณะนี้

2. สถานประกอบกิจการผลิตที่ไม่ใช่โรงงาน ใช้เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า ที่เดิมยังไม่มีใครเป็นเจ้าภาพ กลุ่มนี้มีประมาณ 70,000 โรงงาน ที่ประชุมได้มอบหมายกระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานครดูแล

และ 3. แคมป์คนงาน ข้อมูลในเบื้องต้นเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีประมาณ 1,317 แคมป์ ที่ประชุมได้มอบหมายกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงานดูแล ทั้ง 3 กลุ่มสามารถจะนำมาตรการ BBS ไปประยุกต์ใช้ได้ และทุกหน่วยจะต้องทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ จะมีการจัดทำและเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ติดเชื้อระหว่างกัน เพื่อประโยชน์ในการติดตามสถานการณ์ฯ อันจะช่วยป้องกันและลดจำนวนผู้ติดเชื้อ

การประชุมคณะกรรมการ ศบค.อก.
ส่วนเป้าหมายดำเนินการของ ศบค.อก.ได้กำหนดให้สถานประกอบการทั้ง 3 กลุ่มมีระดับผลผลิต (Output) ได้รับความรู้ความเข้าใจมาตรการ BBS ประมาณ 140,000 โรงงาน การได้รับคำปรึกษาแนะนำแบบ coaching/Onsite ประมาณ 30,000 โรงงาน และการเข้าร่วมดำเนินการมาตรการ BBS เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10% ต่อเดือนหรือ 3,000 โรงงาน

ระดับผลลัพธ์ (Outcome) คือ สถานประกอบการและโรงงานมีการติดเชื้อโควิด-19 ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จะมีสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด 76 แห่ง และสำนักงานป้องกันควบคุมโรค 12 เขตเข้าไปเป็นวิทยากรแนะนำ ไม่ว่าจะเป็น 1) การทำ BBS 2) การจัดการสภาพแวดล้อม 3) มีการจัดการกิจกรรม/จุดที่มีความเสี่ยงสูง 4) จัดการสภาพการทำงานและการเดินทางที่ปลอดภัย คัดกรองด้วย ATK และ 5) จัดกิจกรรมและสถานที่ไม่ให้มีความแออัด

"การเข้าไปดูแลของ ศบค.อก.สอดคล้องกับข้อมูลการติดเชื้อของสถานประกอบกิจการที่ผ่านมา และเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มการติดเชื้อสูง หาก ศบค.ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ" 
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะทำงานฯ อีก 2 ชุดเพื่อสนับสนุน ศบค.อก. ได้แก่ คณะทำงานภายในกระทรวงฯ รับผิดชอบดูแลโรงงานอุตสาหกรรม และคณะทำงานที่มีรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบดูแลสถานประกอบกิจการผลิตที่ไม่ใช่โรงงาน ตลอดจนแคมป์ก่อสร้าง และรับข้อเสนอของเอกชนมาผลักดันนำเสนอรัฐบาลต่อไป สำหรับความต้องการขอรับความช่วยเหลือจากรัฐที่ได้รับในเบื้องต้น คือ 1.คำแนะนำ/แนวทาง Bubble & Seal ,2.การสนับสนุนวัคซีนและชุดตรวจ ATK และ3.ด้านค่าใช้จ่ายในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19