กระทรวงอุตสาหกรรมผนึกเอกชนสร้างระบบนิเวศดันสตาร์ทอัพไทยสู่ตลาดโลก

08 ก.ย. 2564 | 14:14 น.

กระทรวงอุตสาหกรรมผนึกเอกชนสร้างระบบนิเวศดันสตาร์ทอัพไทยสู่ตลาดโลก พร้อมลุยปั้นดีพเทคแบบเต็มสูบ สร้างการเติบโตที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายเร่งผลักดันในการส่งเสริมสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการใหม่อย่างครบวงจร ตั้งแต่การเสริมสร้างความรู้และทักษะในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนเพิ่มช่องทางการค้า และสรรหาโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อให้สามารถพัฒนาธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินงานภายใต้ 2 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ หรือ Angel Fund และโครงการเชื่อมโยงตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ Startup Connect โดยผลจากการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2559 – 2564 มีสตาร์ทอัพได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ Angel Fund จำนวนกว่า 200 ทีม สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้กว่า 550 ล้านบาท 
ส่วนโครงการ Startup Connect ที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 สามารถลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้มากกว่า 25 ล้านบาท และช่วยเชื่อมโยงให้สตาร์ทอัพเข้าถึงตลาดและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 75 ล้านบาท นอกจากนี้ ความร่วมมือกับพันธมิตรเอกชนทั้ง 2 บริษัท ยังถือเป็นการร่วมดำเนินงานที่ช่วยยกระดับให้สตาร์ทอัพไทยมีช่องทางในการก้าวไปสู่การเติบโตที่ดียิ่งขึ้น และยังทำให้เกิดมิติใหม่ของการดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัพในหลากหลายสาขา โดยเฉพาะเทคโนโลยีเชิงลึก หรือดีพเทค ( Deep Technology) ซึ่งเป็นกลุ่มที่กำลังเติบโตได้ทั้งในเชิงมูลค่าและตอบโจทย์เศรษฐกิจ-สังคมได้อย่างแท้จริง

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) กล่าวว่า ในระยะถัดไป สิ่งที่ดีพร้อมจะช่วยส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้น คือการสร้างระบบนิเวศผ่านแซนด์บ็อกซ์ (SandBOX) หรือพื้นที่บ่มเพาะธุรกิจโดยใช้ทั้งหน่วยงานภายในกระทรวอุตสาหกรรม ภาคอุตสาหกรรม และธุรกิจเครือข่ายเปิดพื้นที่ให้กับสตาร์ทอัพได้มีโอกาสทดลองใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ทั้งระบบออนไลน์ ออฟไลน์ พร้อมสำรวจปัญหาของภาคอุตสาหกรรม เพื่อเฟ้นหาโซลูชันจากสตาร์ทอัพเข้าไปช่วยยกระดับการดำเนินงานให้ดีขึ้น รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาดีพเทคในหลากหลายด้าน อาทิ  การแพทย์ครบวงจร การผลิตแห่งอนาคต การเกษตร อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ ฯลฯ ซึ่งดีพเทคเหล่านี้มีความสำคัญต่อการสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจและสังคม ตรงกับความต้องการในตลาดโลก อีกทั้งยังลอกเลียนแบบได้ยากและคู่แข่งน้อย เนื่องจากขั้นตอนค้นคว้าวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ซับซ้อน และส่วนใหญ่มีสิทธิบัตรคุ้มครอง

พร้อมลุยปั้น “ดีพเทค”  
นอกจากนี้ ยังจะปลดล็อกข้อจำกัดการดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัพ ไม่ว่าจะเป็น การให้ความรู้ด้านแผนธุรกิจเพื่อให้สามารถระดมทุนจากภาคเอกชนได้ง่ายขึ้น การส่งเสริมเข้าระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐซึ่งเป็นอีกหนึ่งตลาดสำคัญที่จะทำให้สตาร์ทอัพมีรายได้ ต่อเนื่องไปสู่การร่วมพัฒนาระบบบริการของภาครัฐให้มีความทันสมัยตามแนวคิดรัฐบาลดิจิทัลได้มากขึ้น เป็นต้น

สำหรับในปีนี้โครงการ Angel Fund มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ มากกว่า 370 ทีม ผ่านการประชันแนวคิดทางธุรกิจด้านเทคโนโลยีเชิงลึก โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 50 ทีม ซึ่งได้รับการพิจารณาจากบริษัท เดลต้าอีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้การสนับสนุนเงินทุน จำนวน 3 ล้านบาท และบริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 580,000 บาท ส่วนโครงการ Startup Connect มีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพผ่านการคัดเลือกจำนวน 25 กิจการ จากที่สมัครเข้ามาทั้งหมด 50 กิจการ โดย Startup Connect มุ่งเน้นการเชื่อมโยงให้เข้าถึงเครือข่ายต่าง ๆ ที่สนับสนุนให้เกิดการเติบโตของสตาร์ทอัพ อาทิ เครือข่ายผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษาแนะนำ โดยหม่อมหลวงลือศักดิ์ จักรพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด และ ศ.ดร. เอกชัย สุมาลี สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น เครือข่ายตลาดภาคอุตสาหกรรม เครือข่ายนักลงทุน และเครือข่ายนานาชาติ เพื่อต่อยอดไปยังตลาดที่มีมูลค่าสูงขึ้น และเกิดการร่วมลงทุนซึ่งคาดว่าจะมีสตาร์ทอัพได้รับการลงทุนไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท
นายจาง ช่าย ซิง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เดลต้าได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรม จึงได้สนับสนุนกิจกรรมของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมากว่า 6 ปี เพื่อให้สตาร์ทอัพที่เป็นคนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสในการเอาแนวคิดหรือสิ่งประดิษฐ์ไปต่อยอดให้เป็นผลงานที่สำคัญและสร้างธุรกิจในอนาคต โดยปีนี้มีสตาร์ทอัพที่น่าสนใจหลายบริษัท เช่น บริษัท โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในเทคโนโลยีหุ่นยนต์รักษาความปลอดภัยสำหรับใช้ในนิคมอุตสาหกรรม หรือ บริษัท MUI Robotics จำกัด ในในเทคโนโลยีสัมผัสประดิษฐ์สำหรับหุ่นยนต์ในการทดสอบกลิ่นและรสชาติของอาหาร หรือ บริษัทซีดีเทค จำกัด ในเทคโนโลยีการบำบัดน้ำและแยกตะกอนด้วยไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งบริษัทเดลต้ามีความยินดีที่จะมีส่วนช่วยสนับสนุนกระทรวงอุตสาหกรรม ในการพัฒนาสตาร์ทอัพต่อไป


นายเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มบริษัทสามารถ ได้ไห้การสนับสนุนนักพัฒนาเทคโนโลยี และซอฟต์แวร์ของคนไทยมาโดยตลอด 17 ปี ผ่านโครงการ SAMART Innovation Awards ซึ่งเป็นโครงการที่สร้างโอกาสให้แก่นักพัฒนาด้านเทคโนโลยีของภาคเอกชนที่ยาวนานที่สุด  ในปีนี้ Deep technology หรือเทคโนโลยีเชิงลึกกำลังมีความสำคัญอย่างมากเพราะโลกทุกวันนี้ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ซึ่งโครงการ Angel Fund 2021 สอดคล้องกับนโยบายของกลุ่มสามารถ ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมนโยบายรัฐบาล ให้ประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีดิจิทัลและแพลตฟอร์ม  ในปีนี้มีสตาร์ทอัพที่น่าสนใจ เช่น บริษัท MUTHA จำกัด ในผลิตภัณฑ์เท้าเทียมนวัตกรรมจากคาร์บอนไฟเบอร์ ที่จะช่วยให้ผู้พิการสามารถเดินได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น บริษัท NEF จำกัดสำหรับเทคโนโลยีระบบเฝ้าระวังผู้ป่วยและผู้สูงอายุบนเตียง และ บริษัท IQMED Innovation สำหรับเทคโนโลยีกล่องเลื่อนย้ายไต เป็นต้น จะเป็นได้ว่าเทคโนโลยีเชิงลึกในปีนี้ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมการแพทย์