"สุริยะ" เดินเครื่องดันไทยผงาดศูนย์กลางอาหารอนาคตแห่งอาเซียน

13 ก.ย. 2564 | 05:42 น.

กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตแห่งอาเซียนควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก คาดส่งออกอาหารแปรรูปปี 64 มูลค่ากว่า 1.05 ล้านล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบความคืบหน้าแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารระยะ ที่ 1 (พ.ศ. 2562-2570) กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะแกนหลักที่ได้รับมอบหมายให้บูรณาการ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งขับเคลื่อนการพัฒน อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารอย่างต่อเนื่องผ่านมาตรการ 4 สร้าง ได้แก่ 
1.สร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ (Food Warriors)โดยผ่าน 4 หน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และสถาบันอาหาร เร่งพัฒนายกระดับผู้ประกอบการ/สถานประกอบการ/วิสาหกิจชุมชน ให้เป็นนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ ผ่านการอบรมและให้คำปรึกษาเชิงลึกทั้งในด้านการเพิ่มผลิตภาพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน ถ่ายทอดความรู้เชิงธุรกิจและการนำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต เพื่อให้ผู้ประกอบการมีองค์ความรู้ เสริมสร้างทักษะ รวม 899 กิจการ/8,512 ราย/43 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน  
นอกจากนี้ มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูป/อาหารแปรรูปให้มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ อาหารอัตลักษณ์ท้องถิ่น รวมถึงการพัฒนาฉลากและบรรจุภัณฑ์อาหารให้มีมูลค่าเพิ่มสูงเชิงพาณิชย์ รวม 224 ผลิตภัณฑ์ ด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งพัฒนาอบรมเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) ในสาขาต่างๆ รวม 12,210 ราย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมสนับสนุนผู้ประกอบการอาหารให้มีการใช้เทคโนโลยีเชิงลึก พัฒนากระบวนการผลิตและปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์รวม 566 ราย 

2.สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต โดยมีความคืบหน้าในการสร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ภายใต้โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ได้มีการจัดทำ Future Food Lab เพื่อสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมอาหาร ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมอาหารมูลค่าสูง และผู้เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารโดยมีระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูล Food Innopolis Service Platform อย่างน้อย 8 แพลตฟอร์ม

รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการที่เป็นนวัตกรรมหรือมีการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกับภาคอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพหรือมีผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงออกสู่ตลาด จำนวน 15 โครงการ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการโดยการสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงภายใต้มาตรฐานการทดสอบในระดับสากลโดยการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารด้วยเทคโนโลยีในประเทศ จำนวน 148 รายการ

ทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการ สศอ.
3.สร้างโอกาสทางธุรกิจ  แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญสถานการณ์โควิด-19 (Covid-19) แต่การสร้างโอกาสก็ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ หอการค้าไทย และโคโลญ - เมสเซ่ ประเทศเยอรมนี ร่วมจัดงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้ชื่องาน THAIFEX – ANUGA ASIA 2020 “The Hybrid Edition” ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 22 – 26 กันยายน 2563 โดยมีการปรับรูปแบบการจัดงานใหม่ในลักษณะไฮบริด เพื่อรองรับชีวิตวิถี New Normal โดยจัดให้มีการเจรจาซื้อขายแบบออฟไลน์ควบคู่ออนไลน์ จำนวนทั้งสิ้น 708 บริษัท

และ 4.สร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้จัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอาหารทั้งในส่วนของมาตรฐานสินค้าและมาตรฐานวิธีทดสอบ รวม 22 เรื่อง สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจัดทำโครงการการจัดการผลิตอ้อยแปลงใหญ่เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพอ้อยโดยใช้เทคโนโลยี Smart farming ณ ต.นครชุม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร มีเกษตรกรเข้าร่วม ไม่น้อยกว่า 40 ราย บนพื้นที่ไม่น้อยกว่า 5,000 ไร่ สถาบันอาหารให้บริการยกระดับความปลอดภัยในการผลิตอาหารที่ฆ่าเชื้อด้วยความร้อนและอาหารแปรรูป จำนวน 91 ผลิตภัณฑ์ บริการตรวจสอบและรับรองระบบ จำนวน 377 กิจการ บริการทดสอบด้านต่างๆ เช่น ด้านเคมี จำนวน 52,363 รายการ จุลชีววิทยา จำนวน 16,000 รายการ บริการสอบเทียบความชำนาญ จำนวน 3,278 ห้องปฏิบัติการ และบริการยกระดับความปลอดภัยในการผลิตอาหารที่ฆ่าเชื้อด้วยความร้อนและอาหารแปรรูป จำนวน 631 ผลิตภัณฑ์
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลง แต่อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารไทยกลับมีโอกาสโดยมีทิศทางการผลิตที่ขยายตัวขึ้นสะท้อนจากตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและการส่งออก ซึ่งประเทศไทยนับว่ามีความได้เปรียบในด้านการผลิตอาหารแปรรูปเนื่องจากมีวัตถุดิบในประเทศ 
สำหรับการดำเนินการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการอาหารฯ ระยะต่อไป สศอ. จะใช้กลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ โดยผ่านคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ในการกำกับการดำเนินงานตามมาตรการต่างๆ โดยจะเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการด้าน Traceability และ Food safety and transparency กระบวนการผลิตอาหารจะต้องมีความปลอดภัยใน ทุกขั้นตอน ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง การพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงาน (Upskill & Reskill) ให้มีทักษะและมาตรฐานตรงกับความต้องการของตลาด รองรับความท้าทายจาก Technology Disruption และสถานการณ์ปัจจุบัน การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารอนาคต (Future Food) รวมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี AI/Automation ในอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มมากขึ้น เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาหารอนาคตแห่งอาเซียนต่อไป